บริบทลงทุนใหม่ ‘นายเลิศกรุ๊ป’ โรงเรียน-โรงแรมหรู รุกไฮเอนด์

28 เม.ย. 2564 | 00:07 น.

อาณาจักรนายเลิศปาร์ค บนพื้นที่ยังเหลือถึง 20 ไร่ ใจกลางเมืองวันนี้ เกิดบริบทการลงทุนโครงการใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นทั้งโรงแรม-เรสซิเดนเซส ไปจนถึงโรงเรียนสอนทำอาหารระดับโลก ที่จัดว่าเป็นแม็กเน็ตสำคัญในการดึงดูดลูกค้าและนักท่องเที่ยวกลุ่มไฮเอนด์  เข้าในพื้นที่นี้

ภายใต้การกุมบังเหียนโดย “ณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นายเลิศ ปาร์ค ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ทายาทรุ่นที่ ของนายเลิศกรุ๊ป

หลังจากเมื่อปี2559 ทางตระกูลได้ตัดขายพื้นที่ในส่วนของโรงแรมสวิส โฮเต็ล ปาร์ค นายเลิศ ริมถนนวิทยุออกไป15 ไร่ให้กับบริษัท บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก จำกัด ของเครือ โรงพยาบาลกรุงเทพ มูลค่ากว่า 1.08 หมื่นล้านบาท

ทำให้นับจากปี2561 เป็นต้นมา พื้นที่ในส่วนที่ยังเหลืออยู่ 20 ไร่นี้ ก็มีการพัฒนาโครงการต่างๆเกิดขึ้นด้วยการดึงเอาอัตลักษณ์ ที่ต้นตระกูลได้สร้างชื่อเสียงมาสานต่อเข้ากับโลกยุคปัจจุบัน

พร้อมงัดแลนด์แบงก์ของตระกูลมาพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่ม จากการสร้างร้านอาหารที่มีเอกลักษณ์ไม่ว่าจะเป็น “ร้านอาหารมาเมซอง” ซึ่งเป็นร้านอาหารไทยสูตรประจำครัวบ้านปาร์คนายเลิศและร้านอาหารระดับท็อปของโรงแรมปาร์คนายเลิศในอดีต

บริบทลงทุนใหม่  ‘นายเลิศกรุ๊ป’  โรงเรียน-โรงแรมหรู รุกไฮเอนด์

“ร้านอาหาร Lady L” บริการอาหาร ฝรั่งแบบ Art Decoration สไตล์ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ,การบริหาร “ไวท์บัส แคทเทอริ่ง” (บริการจัดเลี้ยง) ซึ่งเป็นการระลึกถึงธุรกิจรถเมล์ขาวครั้งแรกในไทยของต้นตระกูลคือคุณทวดพระยาภักดีนรเศรษฐ หรือ เลิศ เศรษฐบุตร มาใช้ตั้งชื่อ รวมถึงการเปิดบ้านปาร์ค นายเลิศ (เรือนไม้สักอายุกว่า100ปี)ให้เป็นพิพิธภัณฑ์

ไม่เพียงแต่ธุรกิจอาหารที่เป็นจุดเริ่มแรกของการพัฒนาในพื้นที่นี้ ธุรกิจการศึกษาก็เป็นอีกธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้น เช่นกัน ซึ่งหลังจากการเปิด “นายเลิศ บัตเลอร์” โรงเรียนสอนบัตเลอร์แห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนจากบริติช บัตเลอร์ จากประเทศอังกฤษ

ดึงสถาบันอาหารโลกเข้าไทย

ทั้งล่าสุดนายเลิศ กรุ๊ป ยังร่วมเป็นพันธมิตรกับโรงเรียนสอนทำอาหาร เอกอล ดูคาส (ecole Ducasse) ภายใต้การบริหารของบริษัท ซอมเมต์ เอดูเคชั่น (Sommet Education) กลุ่มบริหารสถาบันการศึกษาด้านการบริหารการจัดการอุตสาหกรรมการโรงแรมและการบริการชั้นนำระดับโลก เปิดตัว “โรงเรียนสอนศิลปะการทำอาหาร เอกอล ดูคาส-นายเลิศ กรุงเทพ สตูดิโอ” สถาบันที่ฝึกอบรมด้านศิลปะการทำอาหารและขนมอบในไทย

ณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร

โรงเรียน เอกอล ดูคาส ได้ถ่ายทอดเทคนิคการทำอาหารของเชฟอลัง ดูคาส (Alain Ducasse) ผู้ได้รับการ ยอมรับให้เป็นหนึ่งในเชฟที่โด่งดังที่สุด โดยเชฟอลัง ดูคาส เป็นเชฟเพียงผู้เดียวที่ได้ดาวมิชลินกว่า 20 ดวง ตลอดระยะเวลาการเดินทางในสายอาชีพนี้

ทั้งนี้การเปิดตัวโรงเรียน เอกอล ดูคาส ในไทยนั้น ในช่วงเริ่มต้นจะเปิดภายใต้แบรนด์ เอกอล ดูคาส “สตูดิโอ” ที่มีต้นแบบมาจาก เอกอล ดูคาส สตูดิโอ ปารีส ซึ่งตั้งอยู่ ณ ใจกลางของเขต 16 ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งโรงเรียนสอนศิลปะการทำอาหารเอกอล ดูคาส-นายเลิศ กรุงเทพฯ จะตั้งอยู่ภายในอาณาบริเวณของปาร์คนายเลิศ สวนที่มีอายุกว่าร้อยปี ครอบคลุมเนื้อที่กว่า 1,000 ตารางเมตร โดยมีแผนจะเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรแรกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565

 

“การจัดตั้งโรงเรียนในครั้งนี้ นายเลิศ กรุ๊ป เป็นผู้จัดตั้งและดำเนินการในประทศไทยทั้งหมด โดย สถาบันเอกอล ดูคาส เป็นผู้แนะนำแนวทางหลักสูตรการเรียนการสอน พร้อมทั้งเทคนิคต่างๆ เรามุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายระดับมืออาชีพ

อาทิ เชฟที่ต้องการฝึกฝนความชำนาญ หรือหลักสูตรเฉพาะทาง มือสมัครเล่น อาทิ ผู้สนใจการทำอาหารทั่วไป กลุ่มเยาวชน ที่สนใจการทำอาหาร ทั้งเมื่อเปิดประเทศแล้ว เราจะเจาะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านด้วย เนื่องจาก โรงเรียน Ecole Ducasse Nai Lert Bangkok Studio เป็นแห่งแรก ในเอชีย และเป็นแห่งแรกนอกประเทศฝรั่งเศส” ณพาภรณ์ กล่าวย้ำ

ทุ่ม 6 พันล้าน ผุด “อมัน นายเลิศ”

นอกจากนี้อีกโครงการใหญ่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา คือ “โครงการอมัน นายเลิศ กรุงเทพฯ” ในอาณาจักรนี้พัฒนาเป็นอาคารสูง 36 ชั้น ที่ประกอบไปด้วย อมันนายเลิศ เรสซิเดนเซส กรุงเทพฯ 50 ยูนิตเริ่มตั้งแต่ชั้นที่ 11 จนถึงชั้นที่ 28 เป็นห้องแบบ 1 ห้องนอน, 2 ห้องนอน, 3 ห้องนอน และเพนต์เฮาส์ ราคาขายเฉลี่ย 4.5 แสนบาทต่อตร.ม เริ่ม 45 ล้านบาท จากขนาดเริ่มต้น 104 ตร.ม. คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2566

ทั้งยังมีส่วนที่เป็นโรงแรมอมัน นายเลิศ กรุงเทพฯ เป็นห้องสวีท 52 ห้อง ซึ่งบริหารโดยอมัน (Aman) แบรนด์โรงแรมและรีสอร์ต ระดับหรูที่มีชื่อเสียงระดับโลก

ดังนั้นเมื่อดูจากโครงการลงทุนที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มในแลนด์แบ็งก์แปลงงามแห่งนี้ ที่กำลังจะถูกยกระดับเพื่อรองรับลูกค้าและนักท่องเที่ยวกลุ่มไฮเอนด์อย่างแท้จริง

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,672 วันที่ 22 - 24 เมษายน พ.ศ. 2564

ข่าวเกี่ยวข้อง: