ท่องเที่ยวซบ ฉุด “เคทีซี” ยอดรูดไม่ปรื้ด

25 ม.ค. 2564 | 23:00 น.

เคทีซี เผยโควิด-19 ฉุดยอดการใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวผ่านบัตรเครดิตลดฮวบ ปิดปีที่แล้วลงไปกว่า 50% ส่วนปีนี้ยังประเมินไม่ได้ เดินหน้าปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน พัฒนาระบบหลังบ้านรองรับอนาคต เมื่อตลาดฟื้นกลับ

 

การหยุดชะงักและชลอตัวด้านการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นทั่วโลก จากโควิด-19 เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ยอดการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว ของบัตรเครดิตเคทีซี ที่จัดว่าอยู่ในอันดับ 2 ของยอดการใช้จ่ายโดยรวมของเคทีซี หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่มีลูกค้าบัตรเครดิต 2.3 ล้านใบ คิดเป็นจำนวนผู้ถือบัตรอยู่ที่ 1.9 ล้านคน (1 คนอาจมีบัตรเครดิตมากกว่า 1 ใบ) ได้รับผลกระทบจากยอดการรูดบัตรลดลง

 

ทำให้เคทีซี ต้องปรับกลยุทธให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

นางสาวเจนจิต ลัดพลี ผู้อำนวยการการตลาดเพื่อการท่องเที่ยวและสันทนาการ “เคทีซี” เผยว่า จากโควิด-19 ส่งผลให้ยอดการใช้จ่ายในหมวดท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นตั๋วเครื่องบิน รถเช่า สถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม บริษัททัวร์ลดลง

 

โดยในปี 2563 ลดลงราว50% เหลืออยู่ที่ราว 9 พันล้านบาท จากปี 2562 ที่ปิดยอดอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท

 

ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิดระลอก2 ที่เกิดขึ้น ยังตอบไม่ได้ว่าในปีนี้ยอดการใช้จ่ายจะอยู่ที่เท่าไหร่ ซึ่งในช่วงปลายที่แล้ว ยอดกลับมาดีขึ้น เราเห็นตัวเลขกราฟขึ้นมาเล็กน้อย แต่พอกลางเดือนธันวาคมก็ลดลงไปเหมือนเดิม

 

มาถึงเดือนมกราคมของปีนี้ ภาพรวมยังไม่ได้ดีขึ้น เพราะคนยังไม่มีความมั่นใจในการเดินท่องเที่ยวขนาดนั้น บวกกับแต่ละจังหวัดมันมีมาตรการต่างๆ ด้วย

เจนจิต ลัดพลี

 

อย่างไรก็ตามตอนนี้ธุรกิจที่พอไปได้ คือ ออนไลน์ ทราเวล เอเย่นต์ (OTA) ที่ปรับตัวมาเป็นธุรกิจตัวกลาง ขายห้องพัก ผ่านโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ส่วนธุรกิจสายการบิน จัดว่าเป็นเซ็กเตอร์ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมากที่สุด จากต้นทุนที่สูงกว่าธุรกิจอื่นๆ ซึ่งระยะทางบินก็เหลือแค่เส้นทางบินในประเทศ

 

ส่วนธุรกิจโรงแรม และสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งก็ปิดให้บริการชั่วคราวไป เราไม่ได้คิดว่าตลาดมันจะกลับมาเร็ว แต่เราตั้งหลักการทำงานของตัวเองก่อน

 

เพราะเรามี KTC World Travel Service เป็นศูนย์บริการด้านการเดินทางและท่องเที่ยวสำหรับสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซี โดยเราทำงานแบบสวนทางกับตลาด ไม่ได้ลดคน ตรงข้ามมีการขยายบริการขึ้นไปอีก

 

เนื่องจากเล็งเห็นความจำเป็นที่ลูกค้าต้องมีที่พิ่ง เพราะในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ มีความไม่ชัดเจนของข้อมูลข่าวสาร หรือว่าที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้ข้อมูลข่าวสารลูกค้าอาจจะได้รับไม่ทั่วถึง

 

เราในฐานะตัวกลาง ระหว่างลูกค้าสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซี และพันธมิตรในธุรกิจท่องเที่ยว ก็ติดต่อลูกค้าให้ด้วยว่าต้องการได้รับการชดเชยแบบไหน เช่น รีฟันด์ตั๋วเครื่องบิน เลื่อนเดินทางหรือการชดเชยเป็นบัตรกำนัล 

 

ขณะเดียวกันระบบหลังบ้านของ KTC World Travel Service เราก็ทำเผื่อไว้รองรับในอนาคต เมื่อตลาดกลับมา เช่นระบบ Call Center เคยเปิดแค่ 8:00 น.-20:00 น. ก็ขยายการให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และทำงานทุกวัน

 

รวมทั้งขยายการให้บริการ LINE official การสร้างระบบ CRM และพยายามทำให้แพลตฟอร์มการให้บริการของลูกค้าให้แข็งแรง

 

สำหรับพันธมิตรทางธุรกิจ เคทีซี ก็มองเห็นถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการท่องเที่ยว จากตลาดที่หดตัวลง เพราะที่ผ่านมาธุรกิจท่องเที่ยวไทย ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับตลาดต่างประเทศ 70-80%

 

เราก็คิดว่าฐานสมาชิกของเราแม้มีจำนวนที่ไม่สามารถเข้ามาเติมเต็มได้ขนาดนั้น แต่เขายังพอหยิบจับธุรกิจที่ใกล้มือได้บ้าง แล้วก็ยังสื่อสารให้ลูกค้ารู้ว่าธุรกิจยังมีตัวตนอยู่ในตลาด

 

เพียงแต่ไม่ได้ผลักดันเรื่องของโปรโมชั่น ออกมามาก เพราะวาระนี้อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่อยากเที่ยว อยากเก็บตัว อยู่บ้าน ลดการแพร่ระบาดของโควิด

 

โดยเราลง Soft Content เรื่องมาตรการการช่วยเหลือการเยียวยาของแต่ละเจ้า รวมถึงทำแคมเปญตามจังหวะที่เหมาะสม เพื่อประคับประคองตัว

 

อย่างในช่วงปลายไตรมาส2 ปลายปีที่แล้ว เราก็ทำแคมเปญเป็นบัตร KTC บัตรเดียวครบทุกเรื่องเที่ยว ให้คนเดินทางขับรถเที่ยว เข้าสถานที่ท่องเที่ยว หรือชมเมืองไทยให้ได้มากขึ้น ก็รวบรวมพาร์ทเนอร์เหล่านี้มาโปรโมต ก็จะมีประมาณ 60 ราย เป็นต้น

 

ส่วนในเรื่องของโรงแรม ก็จะแยกเป็นโรงแรมต่างจังหวัดและโรงแรมในกรุงเทพฯ ซึ่งถ้าเป็นโรงแรมในกรุงเทพฯ ก็จะแนะนำลูกค้าถึงการให้บริการแบบ Staycation หรือการแนะนำให้กลุ่มคอร์ปอเรททานอาหารที่เอ้าท์เล็ทของโรงแรม แล้วได้เวาเชอร์ห้องพักฟรี เพราะว่าอย่างน้อยก็ยังทำให้ธุรกิจมีการเคลื่อนไหวได้อยู่บ้าง

 

รวมถึงการทำแคมเปญร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้ลูกค้าสามารถซื้อคูปองรับประทานอาหารที่จังหวัดต่างๆผ่าน KTC World

 

ในอนาคตลูกค้าจะหันมาใส่ใจเรื่องของสุขภาพ ความปลอดภัยมากขึ้น การเดินทางเป็นกรุ๊ป แบบไปรวมกันกับคนที่ไม่รู้จักจะลดน้อยลง ลูกค้าเป็นกลุ่มลักชัวรี การเดินทางจะเป็นกลุ่มเล็กลง

 

เทรนด์การท่องเที่ยวต่อไปจะเป็นแบบนี้ เราก็ต้องเตรียมพร้อมไปถึงจุดนั้น รองรับความต้องการของลูกค้าในฐานะทีเคทีซี ก็เป็นตัวกลางในการช่วยดูแลและประสานการจัดทริปต่างๆ

 

เราเป็น One Stop Shop ขายผลิตภัณฑ์ทุกอย่างเกี่ยวกับเรื่องท่องเที่ยว แม้กระทั่งบริการรับจองทำวีซ่า คือถ้าคิดอะไรไม่ออก แต่อยากเที่ยวให้โทรมาหาเราก่อน นางสาวเจนจิต กล่าวทิ้งท้าย 

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,647 วันที่ 24 - 27 มกราคม พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เคทีซีขานรับธปท.ขยายมาตรการช่วยลูกหนี้ฝ่าวิกฤติโควิดรอบ2

เคทีซี ร่วมมือ ร้านกาแฟ"เมซโซ่"ปล่อยแฟรนไชส์สินเชื่อ 0%

บินหรู อยู่สบาย "เคทีซี เวิล์ด" ผนึกพันธมิตร ตั๋วบิน+ที่พัก เริ่มต้น 5.9 พันบาท

3แม่ทัพ‘เคทีซี’ฟันธง ปั๊มรูดปรื๊ดท่องเที่ยวปี63โต15%

‘เคทีซี’ กางแผนปั๊มยอดรูดปรื๊ด ท่องเที่ยวปีนี้ทะลุ 1.7 หมื่นล