เปิดแนวรุก ‘เกษมกิจ’  23 โรงแรมดิ้นฝ่าโควิด 

16 ส.ค. 2563 | 07:45 น.

การจะนำ 23 โรงแรมในเครือเกษมกิจ ฝ่าวิกฤติโควิด อย่างไรให้อยู่รอด "ธีรวัลคุ์ เตชะอุบล" เจ้าของโรงแรมในเครือ เคป  แอนด์ แคนทารี โฮเทลส์  มีคำตอบ

     ธุรกิจโรงแรม ท่ามกลางวิกฤติ โควิด-19  ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีน การดำเนินธุรกิจ ก็ยังคงอยู่ภายใต้ความเสี่ยง การจะนำ 23 โรงแรมในเครือเกษมกิจ ฝ่าวิกฤติในครั้งนี้ จึงต้องงัดหลายกลยุทธ ประคองตัว และอยู่รอดให้ได้ เพื่อรอให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง อ่านได้จากสัมภาษณ์ นาง ธีรวัลคุ์ เตชะอุบล ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาโครงการ กลุ่มโรงแรมในเครือ เคป  แอนด์ แคนทารี โฮเทลส์  

 

บริหารกระแสเงินสด

   ในปีที่ผ่านมา แม้จะอยู่ในช่วงเศรษฐกิจโลกชลอตัว เงินบาทแข็งค่า ธุรกิจโรงแรมอาจจะไม่ได้ดีมาก แต่ก็ไม่ได้แย่ เพราะก็ยังมีการเปิดตัวโปรดักต์ใหม่ๆด้านอุตสาหกรรมการผลิตหลายตัว เช่น รถยนต์ กล้องถ่ายรูป แอร์ จึงมีลูกค้ากลุ่มคอร์ปอเรต วิศวกร เดินทางเข้ามาในพื้นที่ ทำให้โรงแรมของเกษมกิจหลายแห่งที่อยู่ใกล้กับโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมต่างๆก็มียอดเข้าพักต่อเนื่อง

เปิดแนวรุก ‘เกษมกิจ’   23 โรงแรมดิ้นฝ่าโควิด 

    อีกทั้งก่อนเกิดโควิดนักท่องเที่ยวจีน กลุ่มเวดดิ้ง จากต่างชาติ เริ่มกลับมาเที่ยวไทย และปีนี้บุ๊กกิ้งที่เข้ามาก็ถือว่าดีมากด้วย แต่มาเจอโควิด-19 ทุกอย่างก็หยุดหมดตั้งแต่หลังเดือนมี.ค.2563 เป็นต้นมา และจนถึงวันนี้จากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสนี้ ส่งผลกระทบทั้งด้านภาคการท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งทั้ง 2 กลุ่ม ถือเป็นลูกค้าหลักของโรงแรม 

     ทำให้ตลอดทั้งปีนี้ธุรกิจโรงแรมจะได้รับผลกระทบมาก ซึ่งในช่วง 1 ปีนี้ หัวใจสำคัญ คือ “การบริหารกระแสเงินสด (Cash Flow)” เพราะในปีนี้ธุรกิจติดลบแน่นอน แต่จะทำอย่างไรให้ติดลบน้อยที่สุด ดังนั้นในช่วงก่อนหน้านี้ที่มีการล็อกดาวน์ประเทศ โรงแรมปิดให้บริการชั่วคราว

       สิ่งแรกที่เราทำ คือ “ไดเวอร์ซิฟาย ธุรกิจ” ให้พนักงานของโรงแรม  ไปช่วยงานบริษัทยา อาทิ บริษัท บี.เอ็ล.ฮั้ว จำกัด, บริษัท บี.เอ็ล.เอช. เทร็ดดิ้ง จำกัด,บริษัท เอ็ม แอนด์ เอ็ช แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว ไปขายแอลกอฮอลล์, ติดสลากยา เพื่อให้บริษัทยา มาช่วยจ่ายเงินเดือนพนักงานโรงแรมเครือเกษมกิจ 

      รวมถึงการขายอาหารแบบดีลิเวอรี่ ซึ่งเราไม่เคยทำมาก่อน การจัดเลี้ยงต่างๆ อะไรที่เป็นการสร้างรายได้เราทำทุกอย่าง เพราะในสถานการณ์เช่นนี้ต้องสู้อย่างเดียว ทำอะไรมากกว่านี้ไม่ได้ จากนั้นในช่วงเดือนที่ผ่านมา เราก็ต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ และต้องขอบคุณพนักงานในเครือกว่า 4 พันคนที่ให้ความร่วมมือ ในการลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร

      ทั้งการลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน ที่จะส่งผลให้พนักงานก็จะถูกลดเงินเดือนไปราว 30% การเปิดโครงการสมัครใจลาออกและจ่ายชดเชยตามกฏหมายแรงงาน ที่ก็มีพนักงานเข้าร่วมโครงการ 100 กว่าคน 

ทยอยเปิด 22 โรงแรม

      รวมถึงนับตั้งแต่เดือนก.ค.เป็นต้นมาเราก็ทยอยกลับมาเปิดให้บริการโรงแรมอีกครั้ง ซึ่งการที่ตัดสินใจกลับมาเปิดโรงแรม แม้จะยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา เพราะเห็นว่าค่าใช้จ่ายพนักงานที่ได้รับสิทธิชดเชย 62% ของค่าจ้างจากประกันสังคมสิ้นสุด ไปแล้วก็ไม่รู้จะปิดโรงแรมไปทำไม ประกอบกับรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ 

     แต่การกลับมาเปิดให้บริการในครั้งนี้ แม้จะทยอยเปิดให้บริการแล้ว 22 โรงแรม ยกเว้นโรงแรมแคนทารี กบินทร์บุรี ที่จะเปิดให้บริการในวันที่ 1 ก.ย.นี้ ด้วยอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 30% เพราะมีเพียงลูกค้าคนไทย  ทำให้โรงแรมอาจจะไม่ได้เปิดให้บริการได้ในทุกเอ้าท์เลท หรือจะเปิดให้เข้าพักเป็นอาคารๆไป 

เปิดแนวรุก ‘เกษมกิจ’   23 โรงแรมดิ้นฝ่าโควิด 

    รวมถึงยกระดับการให้บริการภายใต้มาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งโรงแรมในเครือได้รับตรามาตรฐานสัญลักษณ์ SHA จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) และใบประกาศผ่านมาตรฐานโรงแรม/ที่พักสะอาดปลอดภัย ป้องกันโรคโควิด-19 จากกรมอนามัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยว

     การกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ก็เริ่มมีการตอบรับเข้ามาบ้างแล้ว โดยโรงแรมภายใต้แบรนด์แคนทารี ใกล้โรงงานและนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ก็มียอดจองเข้ามาบ้างแล้ว เพราะคนเริ่มกลับมาทำงาน ส่วนโรงแรมของเราที่เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยว ก็เริ่มมีบุ๊กกิ้งเข้ามาบ้าง จาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่

     1.การจัดโปรโมชันลดราคาไปถึงสิ้นปี กระตุ้นเที่ยวในประเทศ  เพื่อความอยู่รอด ที่เฉลี่ยจะลดราคาอยู่ที่ราว 30-40%  บางโรงแรมก็ลด50% เช่น เคปฟาน เกาะสมุย ซื้อ 1 แถม 1 หรือวีคเอนด์ สเปเชียล ราคาเริ่มต้น 1,800 บาทในโรงแรมแคนทารี ที่ภูเก็ต,ระยอง,เขาหลัก, โคราช, อยุธยา เป็นต้น ซึ่งการลดราคาเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อนำมาใช้กระตุ้นการเดินทาง

      2.การเข้าร่วมโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ของรัฐบาล ซึ่งมีบุ๊กกิ้งเข้ามามากโดยเฉพาะโรงแรมในโลเคชั่นที่ขับรถไปเที่ยวได้ เช่น หัวหิน, ระยอง, ศรีราชา

ธีรวัลคุ์ เตชะอุบล

      นอกจากนี้เรายังต้องวางแผนเพื่อรองรับการเปิดการท่องเที่ยวแบบ ทราเวล บับเบิ้ล ของรัฐบาล ซึ่งก็มีการมองพื้นที่นำร่องไว้ที่ภูเก็ต, สมุย ซึ่งในขณะนี้ทางเกษมกิจ ได้มีการเจรจากับโรงพยาบาลทุกแห่ง ที่เรามีโรงแรมอยู่ในแต่ละพื้นที่ เพื่อเตรียมมาตราการในการดูแลนักท่องเที่ยว การตรวจหาเชื้อโควิดที่รู้ผลภายใน 5 ชั่วโมง การบริหารจัดการการให้บริการของพนักงานโรงแรมที่ต้องมีการจำกัดการดูแลผู้เข้าพัก เป็นต้น

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

ผ่ามุมคิดGEN2‘เกษมกิจ’ ขยายพอร์ตโรงแรมพลิกวิกฤติเป็นโอกาส

เกษมกิจกรุ๊ป ทุ่ม3พันล้าน  ผุด3โรงแรม

 

เปิดแนวรุก ‘เกษมกิจ’   23 โรงแรมดิ้นฝ่าโควิด 

เบรคลงทุน 3 รร.ใหม่

     ส่วนแผนการลงทุนโรงแรมของเกษมกิจ กรุ๊ป ในส่วนของโรงแรมที่เราลงทุนสร้างไปแล้ว ก็ยังคงเดินหน้าลงทุนต่อไป และเตรียมจะเปิดให้บริการตามแผนเดิม โดยโรงแรมแคนทารี บ้านฉาง จ.ระยอง 160 ห้อง จะเปิดให้บริการในวันที่ 1 เมษายนนี้ ภายใต้การลงทุนราว 400 ล้านบาท และโรงแรมแคนทารี บางปะกง (เฟส2) 90 ห้อง จะเปิดให้บริการในวันที่ 1 ธ.ค.63 ลงทุน 46 ล้าน

      ขณะที่โรงแรมเราเพิ่งตอกเสาเข็ม  ก็ต้องเบรกการก่อสร้างไว้ก่อน คือโรงแรม 2 แห่งในพัทยา ที่วางงบลงทุนไว้กว่า 2 พันล้านบาท และโรงแรมแคนทารี ขอนแก่น วางงบลงทุนไว้ราว 700-800 ล้านบาท เนื่องจากในสถานการณ์เช่นนี้การเก็บเงินไว้หมุน เป็นเรื่องสำคัญ 

  เปิดแนวรุก ‘เกษมกิจ’   23 โรงแรมดิ้นฝ่าโควิด      รวมถึงสิ่งที่ผู้ประกอบการอยากจะร้องขอจากรัฐบาล คือ ในช่วงนี้ให้ช่วยพิจารณาต่อใบอนุญาต การก่อสร้างโรงแรม สำนักงาน หรือโรงงานต่างๆ ออกไปอีก 1 ปี เพื่อให้เศรษฐกิจเดินต่อได้ และเกิดการลงทุนได้ เมื่อพร้อมกว่านี้

      เพราะหากได้อนุมัติก่อสร้างแล้วไม่สร้าง ใบอนุญาตก็จะหมดไป กว่าผู้ประกอบการจะกลับมาลงทุนใหม่ได้ก็ต้องใช้เวลา เฉพาะทำ EIA (ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม) ก็ใช้เวลากว่า 2 ปี จึงอยากให้ภาครัฐพิจารณาในมุมนี้ด้วยเช่นกัน  

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,600 วันที่ 13 - 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563