“การบินไทย” เข้าสู่แผนฟื้นฟู แล้วจะรอดหรือไม่ ?

10 มิ.ย. 2563 | 05:43 น.

นายกสมาคมไอทีเอ สะท้อนมุมมอง “การบินไทย” เข้าสู่แผนฟื้นฟูแล้วจะรอดหรือไม่? วิเคราะห์ 6 ประเด็นทั้ง เครดิต คู่ค้า การตลาด ลูกค้า สปิริตการทำงานของพนักงาน รวมถึงผู้บริหาร-กรรมการฟื้นฟู ควรปรับอย่างไรให้อยู่รอด

         นายชรินทร์ นุกรณ์นวรัตน์ นายกสมาคมผู้จำหน่ายตั๋วเครื่องบินระหว่างประเทศ (ไอทีเอ) และผู้คร่ำหวอดในธุรกิจขายตั๋วเครื่องบินทั่วโลก เผยว่า ถึงมุมมอง “การบินไทย” เข้าสู่แผนฟื้นฟู แล้วจะรอดหรือไม่? ผ่านการวิเคราะห์ใน 6 ประเด็น ได้แก่ 1.  เครดิตของบริษัทจะดีเหมือนเดิมหรือไม่ 2. คู่ค้าโดยเฉพาะ Suppliers จะยังเชื่อมั่นในการค้าขายกับการบินไทยหรือไม่ 3.  ตลาดและช่องทางการขายจะแก้ไขได้หรือไม่ ทั้ง online และ offline 4. ลูกค้าและผู้โดยสารจะยังเชื่อมั่นในบริการของการบินไทยอีกหรือไม่ 5. พนักงานการบินไทยจะมีสปิริตทำงานกันเต็มที่สุดความสามารถให้กับบริษัทหรือไม่ และ 6. ผู้บริหารและกรรมการฟื้นฟูกิจการมีความสามารถที่จะปรับปรุงการดำเนินงานของ การบินไทย ในด้านธุรกิจการบินนี้ได้หรือไม่

ชรินทร์ นุกรณ์นวรัตน์
       โดยมีคำตอบในแต่ละประเด็นดังนี้
1.  เครดิตของบริษัทจะดีเหมือนเดิมหรือไม่
         จากที่ การบินไทย ถูกรัฐบาลไทยในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท นำเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลาย และมีการออกข่าวในด้านลบว่ามีหนี้สินมากมาย และมีการดำเนินงานผิดพลาดขาดทุนในระยะ 10 ปีที่ผ่าน และมีการครหาจากนักการเมืองว่ามีการคอรัปชั่นมากมายตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เครดิตบริษัทการบินไทย มหาชน สูญสิ้นหมด
        ทั้งที่ก่อนหน้านี้ บริษัทการบินไทย ก็ยังดำเนินธุรกิจต่อเนื่องได้ดีถึงแม้จะขาดทุนหลายปีแต่ก็ยังสามารถประคองธุรกิจได้ตลอดมา ดูจากบัญชีงบดุลประจำปีมีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สินและจะยังสามารถดำเนินกิจการต่อได้ เพียงแต่ว่าในช่วงวิกฤติโควิด 19 ธุรกิจการบินหยุดชะงัดทั่วโลก รายได้เหลือศูนย์ เหมือนกับทุกสายการบินในโลก
         แต่แทนที่ การบินไทย จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ กลับถูกเลือกปฏิบัติไม่ให้ความช่วยเหลือดูดายปล่อยให้บริษัทเข้าที่ลำบากที่เรียกกันว่าแผนฟื้นฟู ซึ่งก็หมายความว่าการบินไทยไม่สามารถดำเนินงานต่อไปได้อย่างเสรีเต็มกำลังและต้องอยู่ภายใต้การคุ้มครองดูแลของศาลล้มละลายกลาง ซึ่งในรูปแบบนี้เท่ากับว่า เครดิตของบริษัทการบินไทยในปัจจุบันหมดสิ้น ไม่อยู่ในฐานะที่จะเดินต่อได้อย่างสง่างาม

2. คู่ค้าโดยเฉพาะ ซัพพลายเออร์ จะยังเชื่อมั่นในการค้าขายกับการบินไทยหรือไม่

      บริษัท การบินไทย ทำธุรกิจระหว่างประเทศ มีการทำสัญญาธุรกิจกับคู่ค้าในต่างประเทศหลายๆร้อยแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะคู่ค้าสายการบิน ท่าอากาศยาน ธนาคาร บริษัทน้ำมัน ตัวแทนการขาย รวมทั้งบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินโดยสารและบริษัทให้เช่าอื่นๆ ยังคงให้ความร่วมมือกับการบินไทยเหมือนเดิมอีกหรือไม่ อันนี้ยากมากนะครับ ไม่ดีเหมือนในอดีต

“การบินไทย” เข้าสู่แผนฟื้นฟู แล้วจะรอดหรือไม่ ?

3. ตลาดและช่องทางการขายจะแก้ไขได้หรือไม่ ทั้ง ออนไลน์ และออฟไลน์
        การขายหารายได้โดยเฉพาะการขายตั๋วเครื่องบิน ยังจะขายได้และมีรายได้เท่าเดิมหรือไม่ การขายต้องพึ่งช่องทางตลาดที่ดีและการที่ การบินไทย เข้าไปยึดพื้นที่ในตลาดได้มากเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งและใช้เวลาหลายปี
     3.1 ต้องมีสินค้าที่ดีหมายถึงการบริการการบินที่ดี การบินไทย มีชื่อเสียงที่ดีมากระดับต้นๆของโลก เป็นบริการที่ต้องการของตลาด การบินใช้เวลาสร้างมันมาหลายสิบปี ทั่วโลกไม่มีใครกล้าเถียงในเรื่องนี้ อาจจะมีแค่คนไทยบางท่านเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย
    3.2 ราคาก็ต้องดี ไม่แพงกว่าสายการบินของคู่แข่ง ปัจจุบันราคาขายสายการบินเขาใช้ระบบจัดการแบบทันสมัยเรียกว่า Revenue Management ใช้กันทุกสาย รวมทั้งการบินไทย ราคาที่นั่งแบบเดียวกันขายไม่เท่ากัน ซื้อก่อนจ่ายก่อนถูกกว่า เพราะสำหรับสายการบินจะต้องทำให้ทุกเที่ยวบินขายได้ให้เต็มทุกที่นั่งหรือมากที่สุด
     3.3 ช่องทางการขาย ต้องมีครบทั้งขายตรงและขายผ่านตัวแทนบริษัทขายตั๋วเครื่องบินและบริษัททัวร์ และต้องทันสมัยต้องมีระบบขายทั้ง ออนไลน์ และออฟไลน์  โดยสายการบินเองต้องสร้างระบบขายออนไลน์ของตนเอง และบริษัทตัวแทนหรือเอเย่นต์เองก็ต้องสร้างระบบขายออนไลน์ เองเช่นกันเพื่อให้เข้าถึงตลาดคนใช้บริการยุคใหม่
        ปัจุบันสายการบินต้องขายเอง 50% โดยขายออนไลน์ 40% ขายเองจากสำนักงานเอง และคอลเซ็นเตอร์ และอื่นๆอีก 10% ส่วนขายผ่านบริษัทตัวแทนหรือเอเย่นต์อีกประมาณ 50% เป็นออนไลน์ และออฟไลน์ เอเย่นต์ ครึ่งๆ การขายของสายการบินทุกสายต้องผ่านทุกช่องทางเพื่อให้ครอบคลุมตลาดได้ทั่วโลก
      ถ้าการฟื้นฟูครั้งนี้ทำให้การบริการลดลง เที่ยวบินลดลง ขาดการบริการด้านการตลาดที่ดี จะเป็นผลลบการบินไทย ในอนาคตอย่างแน่นอน โดยเฉพาะขายผ่านทางเอเย่นต์ซึ่งต้องเสริมร่วมกับบริการอื่นๆเช่นทัวร์ โรงแรม รถเช่า วีซ่า เป็นต้น ถ้าเอเย่นต์ขายการบินไทยไม่ได้ ก็ยังมีสายการบินคู่แข่งอื่นๆมากกว่าร้อยสายให้ขายได้อีกมากและให้ผลตอบแทนกับเอเย่นต์ได้มากกว่า

4. ลูกค้าและผู้โดยสารจะยังเชื่อมั่นในบริการของการบินไทยอีกหรือไม่

          ลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด จากการเข้าแผนฟื้นฟูศาลล้มละลายนี้ ลูกค้าที่ซื่อสัตย์กับ การบินไทย จะยังเหมือนเดิมหรือไม่ การเดินทางระหว่างประเทศต้องเป็นบริการที่เชื่อถือได้ 100% ถ้าคนเดินทางไม่มั่นใจว่าเดินทางกับการบินไทยไปถึงกรุงลอนดอนแล้วกลับไม่ได้ เพราะการบินไทยไม่มีเงินเติมน้ำมันเครื่องบินขากลับ บริษัทน้ำมันไม่ยอมบริการให้ เมื่อลูกค้าไม่มั่นใจแล้วลูกค้าจะซื้อตั๋วการบินไทยอีกหรือไม่ มันเป็นปัญหาใหญ่มากครับ

5. พนักงานการบินไทยจะมีสปิริตทำงานกันเต็มที่สุดความสามารถให้กับบริษัทหรือไม่

         บริษัทจะเดินต่อได้ต้องมีพนักงานเจ้าหน้าที่บริษัทที่มีความสามารถรู้งานทำหน้าที่ดำเนินงานของบริษัทให้สำเร็จลุล่วงเป็นที่พอใจกับลูกค้าที่ใช้บริการได้  จริงอยู่สวัสดิการของพนักงานการบินไทยดีล้นเหลือเป็นที่รู้กันมานานเหมือนรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลทุกแห่งที่ทำกำไรมหาศาล แต่ค่าใช้จ่ายมากของสวัสดิการพนักงานการบินไทยก็ได้ค่อยๆถูกตัดทอนไปเรื่อยในระยะหลังตั้งแต่ 10 ปีที่ผ่านมา
        การจ้างพนักงานประจำก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาหลายปีแล้ว ค่าใช้จ่ายพนักงานมากก็เป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายบริษัทและเป็นเพียงส่วนน้อยกว่าส่วนอื่น และสามารถพูดจาตกลงเปลี่ยนแปลงกันได้ในเมื่อบริษัทอยู่ในภาวะขาดทุน สปิริต พนักงาน การบินไทย ให้กับบริษัทอาจหมดสิ้นในขณะนี้ที่บริษัทต้องการความร่วมมือร่วมใจจากพนักงานมากที่สุด

6. ผู้บริหารและกรรมการฟื้นฟูกิจการมีความสามารถ ที่จะปรับปรุงการดำเนินงานของการบินไทย ในด้านธุรกิจการบินนี้ได้หรือไม่

     สุดท้าย ปัญหาจริงๆของการบินไทยในอดีตอยู่ที่ บอร์ดบริหาร ที่ขาดความรู้เรื่องธุรกิจการบินและการค้าระหว่างประเทศ ถูกแต่งตั้งจากรัฐบาลต่างๆและเปลี่ยนแปลงกันบ่อย ทำให้การบริหารไม่ต่อเนื่อง ตัดสินใจผิดพลาดเสียหาย ทำงานไม่ได้เต็มที่ กว่าจะเรียนรู้งานก็ถูกเปลี่ยนใหม่อีกแล้ว
         ผมยังไม่กล้าวิจารณ์บอร์ดใหม่ที่ถูกแต่งตั้งที่จะมา ฟื้นฟูการบินไทย แต่น่าจะเพิ่มได้นำคนที่รู้เรื่องธุรกิจการบินที่เคยบริหารประจำบริษัทสายการบินมาก่อน รวมทั้งการบินไทยด้วยมาเสริมมาช่วยสิครับ ไม่ต้องจ้างบริษัทฝรั่งหรอก หาคนเก่งๆไม่ยากหรอกในเมืองไทย
       การนำเอาบริษัทอื่นๆในต่างประเทศ มาเปรียบเทียบเป็นแบบอย่างในการฟื้นฟู แต่บางอย่างก็เอามาอ้างไม่ได้เพราะแต่ละสายการบิน แต่ละประเทศปัจจัยและปัญหาไม่เหมือนกัน Japan Airlines ใช่ มีปัญหาคล้ายการบินไทยเรื่องที่เป็นบริษัทใหญ่พนักงานระดับสูงไม่ร่วมมือกันแบ่งเป็นก๊กเป็นฝ่าย พิพาทกัน สวัสดิการสูงเหมือนสายการบินเก่าและใหญ่ๆทุกประเทศ
        แต่ญี่ปุ่น มีนโยบายการบินที่ดีที่ป้องกันสิทธิการบินของประเทศได้ดี และสายการบินญี่ปุ่นเท่านั้นเพียงสองสาย Japan Airlines group กับ ANA ที่ได้บินเส้นทางภายในประเทศ Japan Airlines ปรับปรุงเส้นทางบริการและโดยเฉพาะบริการเส้นทางในประเทศที่มีมากขึ้นทำให้ฟื้นฟูกิจการขึ้นมามีกำไรได้
         การบินไทยไม่มีเส้นทางในประเทศหรือในภูมิภาคที่ถูกปกป้องสิทธิและบินบริการให้มีกำไรได้ เปรียบเทียบกับ Japan Airlines ถ้ามีการปกป้องสิทธิเส้นทางการบินให้กับการบินไทยในฐานะสายการบินของคนไทยแค่นี้การบินก็รอดแล้วก็รอดแล้ว
      อีกอย่างขอพูดซ้ำ ในช่วงเวลาวิกฤติ Covid 19 เป็นที่เข้าใจกันดีทั่วโลก สายการบินทุกสายมีปัญหาขาดเงินสดสภาพคล่องเพราะไม่ได้บินบริการหารายได้ ทุกสายการบินสามารถขอพักชำระหนี้กันทุกสายและเรียกร้องรัฐบาลของแต่ละประเทศให้สายการบินประจำชาติได้รับการช่วยเหลือทุกที่
        อนึ่ง ส่วนที่มีนักการเมืองกล่าวหาการคอรัปชั่นในการบินไทยโดยเฉพาะการขายผ่านเอเย่นต์ และได้ออกข่าวว่ารายได้ตั๋วการบินไทยต่อผู้โดยหนึ่งคนเพียง 6000++ นั้น มันน้อยเกินความจริงมาก ผมขอยืนยันว่าน่าจะมีการเข้าใจผิด ผู้ตรวจสอบอาจไม่เข้าใจในรายงาน โปรดตรวจสอบให้แน่ใจอีกครั้ง ผมขอร้องให้คนรู้จริงไปตรวจสอบใหม่เถิดครับ คนการบินไทยที่ดีที่รู้น่าจะให้ข้อมูลที่ถูกต้องได้

“การบินไทย” เข้าสู่แผนฟื้นฟู แล้วจะรอดหรือไม่ ?
#คนรู้ไม่ได้พูด คนไม่รู้ดันไปตรวจ