"ภูเก็ตโมเดล"ต้นแบบ"เปิดท่องเที่ยว"หลังโควิด 

07 มิ.ย. 2563 | 03:31 น.

    เปิดรายละเอียดหนังสือ 11 องค์กรภาคเอกชนภูเก็ตร้องนายกฯ 5 มาตรการฟื้นท่องเที่ยว  3 มาตรการเยียวยาต่อถึงสิ้นปี พร้อมชง"ภูเก็ตโมเดล"ต้นแบบบริหารการท่องเที่ยวหลังโควิด เชิญ"บิ๊กตู่"ประเดิมเที่ยวบินแรกเข้าภูเก็ต 16 มิ.ย.นี้ 

 

11 องค์กรภาคเอกชนจังหวัดภูเก็ต นำโดยนายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดภูเก็ต ร่วมลงนามส่งหนังสือตรงนายกรัฐมนตรี พร้อมรัฐมนตรี 6 กระทรวง บวกผู้ว่าการ ธปท.-ททท.เมื่อ 4 มิ.ย.2563  เสนอมาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต แหล่งท่องเที่ยวไทยในแผนที่ท่องเที่ยวโลก ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ไปแล้วถึง 1.2 แสนล้าน จึงเรียกร้องภาครัฐปรับนโยบายเริ่มกลับมาเปิดการท่องเที่ยวโดยบริหารให้สมดุลกับการดูแลด้านสาธารณสุข พร้อมเสนอ"ภูเก็ตโมเดล"เพื่อเป็นต้นแบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยวหลังโควิด เพื่อพลิกประเทศไทยสู่แถวหน้าในเวทีโลก 
  มีรายละเอียด ดังนี้ 

                                                    4 มิถุนายน 2563

เรื่อง     เสนอมาตราการช่วยเหลืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต 
เรียน     ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ  จันทร์โอชา)
           รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
           รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
           รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
           รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
           รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
           รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
           ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
           ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

จากสถานการณ์การระบาดของโรคปอดอักเสบโควิด-19 ในจังหวัดภูเก็ตที่มีแนวโน้มที่ดี และสามารถควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น องค์กรเอกชนในจังหวัดภูเก็ต 11 องค์กร ใคร่ขอแสดงความขอบคุณอย่างจริงใจมายัง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการทุกหน่วย ทุกระดับ ที่ได้ร่วมกันประสานแรงกายแรงใจช่วยให้จังหวัดภูเก็ต ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด19  ดำเนินการและจัดการควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

"ภูเก็ตโมเดล"ต้นแบบ"เปิดท่องเที่ยว"หลังโควิด 

องค์กรเอกชนในจังหวัดภูเก็ต ใคร่ขอแสดงความขอบคุณมายังรัฐบาลอีกครั้งถึงมาตรการเยียวยาที่ได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรีมาในหลายวาระ โดยเฉพาะมาตรการบางอย่างที่เน้นการช่วยเหลืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเดี่ยวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ของจังหวัดภูเก็ต ทั้งนี้จังหวัดภูเก็ตมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ประมาณ 14.4 ล้านคนในปี  2562 โดยแบ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยประมาณ 4 ล้านคน นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ประมาณ 10 ล้านคน สร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้ประเทศ 4 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์การระบาดของโรคปอดอักเสบโควิด 19 ในประเทศจะดีขึ้นอย่างมาก แต่อนาคตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตถือว่ายังอยู่ในช่วงวิกฤต ด้วยเหตุผลที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต พึ่งพาจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และหากสถานการณ์การระบาดของประเทศที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักของประเทศไทยยังไม่สามารถควบคุมได้  ย่อมส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต 

จากการระบาดของโรคปอดอักเสบโควิด 19 ได้สร้างความเสียหายเชิงเศรษฐกิจให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม2563     ประมาณ 120,000 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าในระยะเวลาที่เหลือในปี  2563 จะเกิดความสูญเสียเชิงเศรษฐกิจให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตไม่น้อยกว่ า 160,000 ล้านบาท  บนสมมติฐานเชิงปริมาณว่าจะมีนักท องเที่ยวเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตทั้งปีที่  5 ล้านคน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยไม่เกิน 1.5 ล้านคน และนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศประมาณ 3.5 ล้านคน

 

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของสำนักวิจัย และหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวในต่างประเทศระบุว่า สัญญาณในการทดสอบการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศน่าจะเป็นช่วงเดือนตุลาคม 2563 โดยใช้เทศกาลวันหยุดในช่วงวันชาติจีน (1-10 ตุลาคม 2563) เป็นดัชนีวัดจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ

 

อาจจะกล่าวได้ว่าช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการอยู่รอดของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตคือ ถึงเดือนธันวาคม 2563 โดยมีความจำเป็นที่รัฐบาล และภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ ชิดในการกำหนดมาตรการทุกมิติในการสนับสนุนซึ่งกันและกันให้ก้าวผ่านความยากลำบากและวิกฤตการณ์นี้ให้ได้ด้วยดีร่วมกัน ทั้งนี้ ทางองค์กรเอกชนใคร่ขอเสนอมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมจากมาตรการเยียวยาที่ได้ผ่านมติคณะรัฐมนตรีในหลายวาระดังนี้

มาตรการสนับสนุนให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ

    

1.ให้ทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 พิจารณาเห็นชอบให้เปิดการให้บริการท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดภูเก็ต สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป

             

2.หน่วยงานราชการสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมประชุมและสัมมนา บนพื้นฐานการจัดการประชุมและสั มมนาตามมาตรฐานใหม่ที่จังหวัดภูเก็ต โดยกำหนดให้กระทรวงแต่ละกระทรวงจัดงานดังกล่าวกระทรวงละ 1 เดือนที่จังหวัดภูเก็ตในรอบ 12 เดือน นับแต่เดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้ทางสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต พร้อมจะรับเป็นผู้ประสานงานหลักในพื้นที่ให้

    

3.ค่าใช้จ่ายในการประชุมและสัมมนา รวมถึงค่าเดินทาง ค่าที่พักของหน่วยงานธุรกิจเอกชนในการกิจกรรมในจังหวัดภูเก็ต สามารถนำไปเป็นค่าใช้จ่ายได้  2 เท่าของค่าใช้จ่ายและสามารถนำไปเป็นค่าใช้จ่ายได้  2.5 เท่าของค่าใช้จ่าย หากเลือกใช้บริษัทที่จัดกิจกรรม หรือชำระเงินตรงให้กับบริษัทนำเที่ยว หรือโรงแรม หรือกิจการอื่นใดที่เกี่ยวข้องที่มีที่การจดทะเบียนในจังหวัดภูเก็ต โดยกำหนดให้มีผลจากเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม 2563

    

4.ค่าใช้จ่ายในด้านที่พัก ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่บุคคลธรรมดาชำระตรงกับกิจการที่มีการจดทะเบียนที่จังหวัดภูเก็ตนั้นทางนักท่องเที่ยวสามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้  ณ วันเดินทางกลับโดยเป็นระบบเครดิตคืนเข้าบัญชีธนาคาร และให้มีผลจากเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม 2563

    

5.เสนอให้มีแคมเปญทางการท่องเที่ยวด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล โดยประสานงานกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน ) ในการสนับสนุนคูปองน้ำมันให้กับผู้ที่เดินทางมาด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลที่ได้ชำระเงินค่าห้องพักที่จังหวัดภูเก็ต โดยเป็นคูปองน้ำมันมูลค่า 1,000 บาทต่อคัน เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางรถยนต์ที่จะก่อให้เกิดการกระจายรายได้ระหว่างการเดินทาง และสามารถให้ชุมชนได้ประโยชน์จากการเดินทาง

ยื่นสำเนาหนังสือให้ตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต

มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ

    

1. เสนอให้รัฐบาลจัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเป็นการเฉพาะให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตเป็นวงเงิน 15,000 ล้านบาท มีเงื่อนไขระยะเวลาในการกู้  24 เดือน โดยใช้วิธีการค้ำประกันจากบรรษัทประกันสินเชื่อขนาดย่อม และมีอัตราดอกเบี้ยที่ 2% นี้ตลอดระยะเวลาสัญญา 
    

วงเงินเสริมสภาพคล่องดังกล่าวจะสามารถทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตมีความสามารถในการชำระหนี้การค้า มีความสามารถในการจ้างงาน และมีความสามารถในการทำกิจกรรมการตลาด เพื่อให้กลไกของการประกอบธุรกิจสามารถดำเนินได้อีกครั้ง และลดปัญหาทางสังคมจากการว่างงานของแรงงาน
    

2.จากมติคณะรัฐมนตรีที่ผ่อนผันการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคลออกไปจนถึงเดือนสิงหาคม ทางองค์กรเอกชนในจังหวัดภูเก็ตใคร่ขอเสนอให้มีการขยายการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ไปจนถึงเดือนธันวาคม 2563 และเสนอให้ทางรัฐบาลพิจารณาปรับลดอัตราภาษีให้คงเหลือที่ 10%
    

3.ขอเสนอให้การมีพิจารณางดเว้นการเก็บภาษีที่ดิน และสิ่งก่อสร้างออกไปเป็นเวลา 2 ปี  คือในปี 2563 และ 2564 ในระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม 2563 หากรัฐบาลและศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 จะได้พิจารณาความสมดุลระหว่างการควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรค และการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้ทั้งสองมิติมีการขับเคลื่อนตามเป้าหมายสูงสุดและประโยชน์ต่อประเทศ ลดแรงกดดันทางด้านเศรษฐกิจ ลดปัญหาเชิงสังคมจากผู้ว่างงาน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดภูเก็ตเป็นหลัก ทางองค์กรเอกชนใคร่ขอเสนอมาตรการการคัดกรองที่น่าจะสามารถเป็นแบบอย่างให้กับเมืองท่องเที่ยวอื่นได้  เรียกว่า ภูเก็ตโมเดล

 

ภูเก็ตโมเดล เป็นรูปแบบการบริหารและจัดการการรับนักท่องเที่ยวเข้าจังหวัดภูเก็ตทั้งสามทางคือ ทางอากาศ ทางบก ทางน้ำ โดยใช้ระบบการจัดการที่ผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและกำลังคนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการให้เกิดเอกภาพในการบริหารงาน โดยมีจุดประสงค์สำคัญ 3 ข้อคือ


1.    ควบคุมการระบาดของโรคปอดอักเสบโควิด 19 ให้อยู่ในระดับที่สามารถจัดการทางการแพทย์ตามศักยภาพของโรงพยาบาลและแพทย์ในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.    สนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เป็นอุตสาหกรรมเดี่ยวในจังหวัดภูเก็ตให้ดำเนินต่อไปได้ 
3.    สามารถประคับประคองเศรษฐกิจของประเทศในวิกฤตการณ์ให้ดำเนินต่อไปได้ 

การเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต สามารถเดินทางได้  3 ทางกล่าวคือ

1.    การเดินทางทางบก ผ่านด่านท่าฉัตรไชย ภายใต้การอำนวยการของกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต
2.    การเดินทางทางอากาศ ผ่านท่าอากาศยานจังหวัดภูเก็ต ภายใต้การอำนวยการของท่าอากาศยานจังหวัดภูเก็ต
3.    การเดินทางทางน้ำ ผ่านท่าเรือต่าง ๆ ภายใต้การอำนวยการของกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม

 

การบูรณาการของการคัดกรอง ณ ด่านประจำการร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต โดยใช้รูปแบบการคัดกรองแบบ Multi Screening Process ที่ใช้เครื่องมือสำคัญ 3 อย่างคือ

 

1.การคัดกรองด้วยแบบสอบถาม โดยสามารถระบุพื้นที่ต้นทาง หากพื้นที่ต้นทางมีการระบาดจะมีกระบวนการเข้าสู่การตรวจหาเชื้อต่อไป

2.การคัดกรองด้วยเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิด้วยระบบอินฟาเรด ที่ให้ผู้เดินทางทุกคนจำเป็นต้องผ่านการคัดกรองนี้ทั้งขาเข้าและขาออก

3.การคัดกรองด้วยการตรวจหาเชื้อ ซึ่งจะใช้สำหรับผู้เดินทางที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง หรือผู้เดินทางตรงมาจากต่างประเทศ (ในอนาคต) หรือผู้ที่ทางเจ้าหน้าที่ประจำด่านเห็นควรให้ผ่านการตรวจจากข้อบ่งชี้
    

โดยเป็นการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-LAMP ซึ่งเป็นวิธีการตรวจหาสารพันธุกรรมแบบเร็ว ใช้เครื่องมือไม่ซับซ้อนและเวลาที่สั้นกว่า RT-PCR ใช้เวลาในการตรวจ 1 ชั่วโมง ไม่รวมการเก็บและสกัดตัวอย่าง ทั้งนี้รูปแบบการตรวจหา RT-LAMP จะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการตรวจแบบกลุ่ม (Pool Testing) ประมาณคนละ 350-400 บาท เป็นชุดทดสอบที่พัฒนาโดยคณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล และรอการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข และงบประมาณการตรวจสามารถจัดสรรมาจากเงินสะสมขององค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ตามคำสั่งของรัฐบาล

มาตรการสำหรับผู้เดินทางเข้าออกจังหวัดภูเก็ตภายในประเทศและต่างประเทศ


1.    ลงทะเบียนทั้งการเข้าและการออกจังหวัดภูเก็ตผ่านระบบแอพพลิเคชั่น โดยเชื่อมกับระบบติดตามตัวที่สามารใช้ร่วมกันได้ระหว่างไทยชนะ หมอชนะ และของ AOT (การท่าอากาศยาน) เพื่อความสะดวกในการใช้  และเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลของผู้ เดินทางเข้าด้วยกัน สภาพปัญหาปัจจุบันคือ การแยกกันทำงานของแต่ละแอพพลิเคชั่น ซึ่งทำให้เกิดความสับสน และใช้งานได้ยาก หากสามารถร่วมกันพัฒนา และใช้ระบบการบริหารร่วมกัน โดยพัฒนาให้เป็น Super App ที่สามารถใช้ ได้มากกว่าแค่การ Scan QR Code เข้าออกสถานที่ได้ จะช่วยให้ประชาชนเห็นความสำคัญและใช้แอพพลิเคชั่นเพิ่มขึ้น

2.    เข้าสู่กระบวนการตรวจหาเชื้อ ณ ด่านขาเข้า หากเจ้าหน้าที่ประจำด่านมีความเห็นว่า มีข้อบ่งชี้ให้ตรวจ  การตรวจไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจ หากผู้เดินทางเข้ารับการตรวจแล้วพบว่าไม่มีเชื้อ ผู้เดินทางขาเข้าสามารถเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตได้โดยไม่ต้องเข้ารับการกักตัว แต่หากผู้เดินทางเข้าตรวจพบเชื้อจะต้องเข้าสู่ระบบการรักษาที่ออกแบบโดยกระทรวงสาธารณสุขโดยทันทีอย่างไม่มีข้อยกเว้น

 

มาตรการการสนับสนุนการบริหารควบคุมการระบาด

การจัดตั้ง Phuket Covid Command Center ที่เป็นศูนย์กลางในการบริหารและการจัดการภาพรวมของจังหวัดภูเก็ต โดยจัดให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับการเดินทางเข้าออกของผู้เดินทาง และข้อมูลด้านการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการระบาด และความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนในจังหวัดภูเก็ต ทั้งข้อมูลในเชิงมิติการระบาด จำนวนผู้เดินทางเข้าออก และเชิงเศรษฐกิจเพื่อเฝ้ามองสัญญาณของสังคม เพื่อการปรับเปลี่ยนนโยลายให้ทันต่อความต้องการ โดยมีคณะกรรมการบริหารศูนย์ประจำการตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเจ้าหน้าที่ประจำโดยรับการสนับสนุนงบประมาณจากเงินสะสมขององค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต

ปัญหาในปัจจุบันคือ การแยกส่วนของข้อมูลของหน่วยงานราชการ และไม่สามารถนำข้อมูลมาเชื่อมโยง วิเคราะห์ภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากมีมาตรการให้สามารถนำข้อมูลจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงแรงงาน มาเชื่อมโยงและวิเคราะห์ให้เห็นภาพ มิติต่าง ๆ ได้  จะก่อให้เกิดประสิทธิภาพต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะที่มีผลประโยชน์โดยตรงต่อพี่น้องประชาชนภูเก็ตอย่างมาก


มาตรการการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต

 คิดคำนวณจำนวนนักท่องเที่ยวที่สามารถเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตตามความสามารถทางการรองรับของระบบสาธารณสุขในจังหวัดภูเก็ต โดยใช้ศักยภาพจากจำนวนเตียงผู้ป่วยภาวะวิกฤต (ICU Capacity) ของทั้งจังหวัดเป็นตัวตั้ง และใช้วิธีคำนวณย้อนกลับเพื่อหาดุลยภาพของจำนวนนักท่องเที่ยวและความสามารถในการรองรับผู้ป่วย 
    

จำนวนเตียงผู้ป่วยภาวะวิกฤตของโรงพยาบาลในสังกัดรัฐบาลและโรงพยาบาลเอกชนในจังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันมีประมาณ100 เตียง และสำรองให้ผู้ป่วยภาวะวิกฤตจากโรคปอดอักเสบโควิด 19 ในสัดส่วน 15 % ของผู้ป่วยภาวะวิกฤตทั้งหมดแล้ว และหากอ้างอิงตัวเลขตามหลักสถิติสากลของผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลที่ 17 % และมีภาวะวิกฤตที่ 5% ของจำนวนผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และมีระยะเวลาครองเตียงที่ 14 วัน 
    

บนสมมติฐานการคัดกรองอย่างมีประสิทธิภาพ และการตรวจหาเชื้อตามเกณฑ์มาตรฐานที่ตั้งขึ้นไว้  จะพบผู้ติดเชื้อในปริมาณ 0.5% ของจำนวนประชากรทั้งหมด หากใช้วิธีคำนวณย้อนกลับจะสามารถกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวต่อวันที่จะเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตได้ เพื่อให้ระบบสาธารณสุขของจังหวัดภูเก็ตสามารถรองรับการระบาด และเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ที่จำนวน 350,000 คนต่อ 14 วัน คิดเฉลี่เป็น 25,000 คนต่อวัน
    

ตัวเลขผู้เดินทางเข้าภูเก็ตเฉลี่ยวันละ 25,000 คนต่อวันจึงเป็นตัวเลขที่มีความเป็นไปได้ ทั้งในเชิงการควบคุมการระบาด และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่จะสามารถสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจได้

ภาพรวมทางเศรษฐกิจจากตัวเลขนักท่องเที่ยวเข้าจังหวัดภูเก็ตวันละ 25,000 คน  

จากการวิเคราะห์ขององค์กรเอกชนในจังหวัดภูเก็ต ประมาณการว่าจากจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตวันละ 25,000 คนนั้น สามารถแบ่งเป็นสัดส่วนระหว่างนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศได้เป็น 35:65  จะทำให็เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจรวมกันประมาณนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงเดือนธันวาคม 2563 ประมาณ 180,000 ล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 5 ล้านคน


แนวทางการรับนักท่องเที่ยวโดยตรงจากต่างประเทศ
    

จังหวัดภูเก็ตมีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคที่จะรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางตรงมาจากต่างประเทศ รวมถึงการมีธุรกิจที่ได้มาตรฐานระดับสากล ทั้งที่พัก การบริการทางการแพทย์  และปัจจัยอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทั้งนี้องค์กรเอกชนในจังหวัดภูเก็ตขอเสนอให้ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้พิจารณาอนุมัติการทำข้อตกลงระหว่างประเทศที่เรียกว่า Travel Bubble กับบางเมืองในต่างประเทศที่มีกระบวนการในการควบคุมการระบาดได้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ทางองค์กรเอกชนได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ ทั้งในมิติของการระบาดในพื้นที่ การเดินทางทางอากาศ และสภาพเศรษฐกิจของประเทศต้นทาง โดยมีเมือง ณ ประเทศต้นทาง ดังนี้

1.    ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แก  มหานครปักกิ่ง, มหานครเซี่ยงไฮ้, นครเฉินตู มหานครกวางโจว  และเขตเศรษฐกิจพิเศษเซี๊ยเหมิน
2.    ประเทศเวียดนาม : เมืองโฮจิมินห์ 
3.    ประเทศไต้หวัน : เมืองไทเป
4.    ประเทศเกาหลีใต้ :เมืองปูซาน
5.    ประเทศมาเลเซีย : เมืองปีนัง

 

ปัจจุบันได้มีบางประเทศได้ร่วมกันตกลงให้เกิดการเดินทางระหว่างกันภายใต้เงื่อนไขการคัดกรองและการตรวจนักท่องเที่ยว โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน เช่น Trans-Tasman Travel Bubble ระหว่างประเทศออสเตรเลีย และประเทศนิวซีแลนด์ , Baltic Travel Bubble ระหว่างประเทศเอสโตเนีย ประเทศลัทเวีย และประเทศลิธัวเนีย หรือกลุ มประเทศในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน เช่น กรีซ ไซปรัส และอิสราเอล
    

หากรัฐบาลได้เริ่มพิจารณาเจรจากับประเทศคู่ค้าที่มีความสามารถในการควบคุมการระบาด นอกจากเป็นทางออกให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นการช่วงชิงความเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคในการสร้างภาคี ด้านการท่องเที่ยวอย่างเด่นชัด เป็นโอกาสให้ประเทศไทยในการพัฒนาสู่มิติระดับโลกต่อไป
    

ทางองค์กรเอกชนในจังหวัดภูเก็ต จึงใคร่ขอเสนอมาตรการและแนวปฏิบัติสำหรับภูเก็ต เพื่อให้ เกิดความสมดุลของมิติการบริหารจัดการการระบาด ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ต ที่มีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมเดี่ยวในการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย และองค์กรเอกชนทั้ง 12 องค์กรพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในทุกยุทธศาสตร์และมาตรการที่ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความพร้อมในแผนที่การท่องเที่ยวโลกอีกครั้ง

 

เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการเดินทางภายในประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีส่วนในการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทางองค์กรเอกชน 12 องค์กรในจังหวัดภูเ ขอเรียนเชิญ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้ให้เกียรติเดินทางตรวจราชการและร่วมรับฟังแนวคิดในการพัฒนาจังหวัด ภาคเอกชนและภาคประชาชนในหัวข้อ“เปลี่ยนภูเก็ตเพื่ออนาคตประเทศไทย” โดยเรียนเชิญ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เดินทางมาด้วยเที่ยวบินจากสายการบินพาณิชย์เที่ยวบินแรกที่จะเริ่มทำการบินในวันที่ 16 มิถุนายน 2563 นี้

    จึงเรียนมาเพื่อได้โปรดพิจารณามา ณ โอกาสนี้

    
นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช                      ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต     
คุณเชิญพร กาญจนสายะ              ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต              
นายสรายุทธ มัลลัม                      ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต
นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม                  นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต
นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร                  นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้
นายพัทธนันท์ วิสุทธิ์วิมล             นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต
สุพัตรา   จารุอริยานนท์                 นายกสมาคมโรงแรมป่าตอง
อังคณา ธเนศวิเศษกุล                    นายกสมาคมโรงแรมหาดกะตะกะรน
นิพนธ์ เอกวานิช                          ประธานกรรมการบริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด
รัตนดา ชูบาล                               นายกสมาคมสปาเพื่อสุขภาพภูเก็ต
นายกฤช เทพบำรุง                       สมาคมมัคคุเทศก์ อันดามัน

"ภูเก็ตโมเดล"ต้นแบบ"เปิดท่องเที่ยว"หลังโควิด