ระทึก "การบินไทย" ลุ้นคลังเพิ่มทุน เจ้าหนี้9รายหนุน

08 มิ.ย. 2563 | 04:15 น.

คณะผู้ทำแผนฟื้นฟูการบินไทยระทึก เหตุกระทรวงการคลังที่ถือหุ้นใหญ่4 7.86% ไม่หือไม่อือในการลดทุนแล้วต้องหาเงินมาเพิ่มทุน หวั่นเจ้าหนี้ไม่รับแผน หลังทะยอยแจ้งเจ้าหนี้ต่างประเทศรายใหญ่ 9 ประเทศด้าน “พีระพันธุ์”แจงดึง“ชาญศิลป์” เสียบแทนไพรินทร์ ร่วมทีมฟื้นฟูการบินไทย 

คณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ปรึกษาด้านกฎหมายเร่งเดินหน้าในการทำร่างแผนฟื้นฟูประกอบการไต่สวนคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง ให้แล้วเสร็จก่อน 17 ส.ค.นี้ โดยวาง 3 วิธีพิจารณาถึงความจำเป็นที่จะไปยื่นศาลต่างประเทศ กันถูกเจ้าหนี้ยึดเครื่องบิน ส่วนการลดเงินเดือนพนักงาน 3 เดือน เปิดให้พนักงานแจ้งความจำนงค์โดยสมัครใจก่อนวันที่ 15 มิ.ย.นี้

คณะผู้ทำแผนระบุว่า ปัญหาใหญ่ที่ต้องจัดการก่อนการนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลางคือคำยืนยันของบรรดาผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทการบินไทยว่าจะต้องเห็นชอบและมีคำยืนยันว่าจะดำเนินการลดทุนเพื่อรับผิดชอบต่อการดำเนินงานของการบินไทย และต้องใส่เงินเพิ่มทุนเข้ามาตามสัดส่วนเพื่อให้กิจการเดินหน้าไปได้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีคำยืนยันหรือฉันทานุมัติจากกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และกองทุนวายุภักษ์ 1 ธนาคารออมสินว่าจะใส่เงินเพิ่มทุนหลังการลดทุนหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่มีคำยืนยันจะทำให้บรรดาเจ้าหนี้สามารถยื่นคัดค้านคณะผู้ทำแผนได้ภายใน 3 วัน ก่อนการไต่สวนคดีจะเริ่มต้น

“กระทรวงการคลังต้องยืนยันในหลักการมาก่อนว่าจะใส่เงินเพิ่มทุนหลังการลดทุนหรือไม่ก่อนที่จะเดินหน้าทำแผนฟื้นฟู ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากการตัดสินใจรอบนี้กระทรวงการคลังจะมีความเสียหาย 3 ครั้ง ครั้งแรกคือการลดทุนที่จะเหลือสัดส่วนการถือหุ้นลงมา ครั้งที่สองจะต้องหาเงิมาเพิ่มทุนก้อนโต ชุดที่สามจะต้องยอมรับเงื่อนไขในการลดหนี้เงินกู้ 1.3 หมื่นล้านบาทลงมาตามสัดส่วน ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้การฟื้นฟูการบินไทยเดินหน้าต่อไปได้ แต่ถ้าไม่ได้รับฉันทานุมัติจะทำให้แผนฟื้นฟูเดินหน้ายากมาก” คณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกล่าว

สำหรับการประชุมคณะกรรมการบริษัทการบินไทยครั้งล่าสุดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมาได้มีการพิจารณาเรื่องการลดเส้นทางการบินที่ไม่สร้างรายได้ของบริษัทการบินไทยลงมา และปรับลดจำนวนเครื่องบินของการบินไทยลงมา โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการบินของโลกมาให้คำปรึกษา แต่ยังไม่สามารถสรุปจำนวนเที่ยวบิน ฝูงบินของการบินไทยลงมาว่าจะเหลือ 70-80 ลำหรือไม่

ก่อนหน้านี้คณะกรรมการ บริษัท การบินไทย มีมติแต่งตั้งให้นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร อดีตซีอีโอ บมจ.ปตท. มานั่งเป็นกรรมการและกรรมการอิสระ เพื่อเป็น 1 ในผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทย เพราะมีประสบการณ์ในการฟื้นฟูกิจการบริษัทไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) ในปี 2552 

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นายชาญศิลป์จะเข้าร่วมเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูการบินไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งจัดทำร่างแผนฟื้นฟูกิจการให้เสร็จก่อน 17 ส.ค. 2563 เพื่อใช้ประกอบการไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลาง 

“หากศาลล้มฯ รับคำร้อง บอร์ดการบินไทยชุดปัจจุบันจะสิ้นสภาพไป เหลือผู้ทำแผน 5-6 คน ทำหน้าที่บอร์ด และบริหารแผนฟื้นฟูกิจการ คาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1-2 ปี ในการฟื้นฟูการบินไทยได้สำเร็จ ซึ่งการจ้างบริษัทอีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส มาร่วมทำแผนฟื้นฟู ณ วันนี้จ้างเพียงบริษัทเดียวก็เพียงพอแล้ว”

ทั้งนี้ปัจจุบันเริ่มทยอยคุยกับเจ้าหนี้แล้ว ซึ่งนอกจากการบินไทยจะยื่นฟื้นฟูกิจการที่ศาลล้มละลายกลางของไทยแล้ว ยังกำลังศึกษาถึงความจำเป็นว่า จะต้องไปยื่นศาลในต่างประเทศด้วยหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหนี้เช่าซื้อไปฟ้องบังคับคดี เพื่อยึดเครื่องบิน แต่ยังบอกไม่ได้ว่า จะไปยื่นศาลที่ประเทศไหนบ้าง เพราะมอบหมายให้ฝ่ายปฏิบัติการของการบินไทยไปจัดทำแผนธุรกิจว่า หลังการเกิดโควิด-19 หากการบินไทยจะกลับมาเปิดบินใหม่ จะทำการบินในจุดบินใดบ้าง

“เราจะเจรจากับเจ้าหนี้ก่อน ถ้าเจรจาไม่ได้ การบินไทยจึงจะไปยื่นฟ้องศาลที่ประเทศนั้น เพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ไปฟ้องบังคับคดี ไม่ใช่เราจะไปยื่นให้เสียค่าใช้จ่ายไปเล่นๆซึ่งเจ้าหนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าหนี้เครื่องบินที่การบินไทย เช่าและเช่าซื้อ จำนวน 60-70 ลำ ที่ในขณะนี้เรากำลังรวบรวมข้อมูลอยู่ ส่วนรายละเอียดของแผนฟื้นฟู ยังไม่สามารถเปิดเผยได้”

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท การบินไทยกล่าวว่า การบินไทยอยู่ระหว่างเปิดให้พนักงานแสดงเจตจำนงก่อนวันที่ 15 มิ.ย.นี้ว่า จะสมัครใจร่วมลดเงินเดือนพนักงาน 10-50% ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย.-31 ส.ค.นี้

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,581 วันที่ 7 - 10  มิถุนายน พ.ศ. 2563

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แอร์ไลน์โลกหนี้ท่วมฟ้าการบินไทยสายแรกเอเชียเข้าศาลล้มละลาย