“การบินไทย” แจงกรณีเช่าเครื่องบินกับนิติบุคคลชื่อไทย

31 พ.ค. 2563 | 07:48 น.

“การบินไทย” แจงกรณีเช่าเครื่องบินกับนิติบุคคลชื่อไทย เผยเป็นธุรกรรมทางการเงินที่สถาบันการเงินชั้นนำระดับโลก ตั้งนิติบุคคล ในกรณีผู้ให้เช่าต้องกู้เงินมาซื้อเครื่องบิน เพื่อถือกรรมสิทธิ์เครื่องบิน ยันการบินไทย ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในบริษัทนิติบุคคลเหล่านี้

     ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อบางสำนัก และสื่อสังคมออนไลน์ว่า การบินไทย ทำสัญญาเช่าเครื่องบินกับนิติบุคคลผู้ให้เช่าเครื่องบินที่ตั้งชื่อภาษาไทย นั้น

“การบินไทย” แจงกรณีเช่าเครื่องบินกับนิติบุคคลชื่อไทย

         ฝ่ายภาพลักษณ์และสื่อสารองค์กร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ขอเรียนชี้แจงว่า ในการนำเครื่องบินเข้ามาสู่ฝูงบินของการบินไทยนั้น บริษัทฯ จะกระทำได้ผ่านสัญญา 2 ประเภท กล่าวคือสัญญาเช่าดำเนินการ (Operating Lease) กับสัญญาเช่าทางการเงิน (Financing Lease) ซึ่งทั้งสองประเภทเป็นธุรกรรมการเงินในการให้สินเชื่อที่เป็นมาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับในวงการอุตสาหกรรมการบิน

       ในส่วนของ สัญญาเช่าดำเนินการ (Operating Lease) นั้น เปรียบเทียบได้กับสัญญาเช่าที่มีกำหนดระยะเวลาเช่า โดยการบินไทยจะต้องจ่ายค่าเช่าให้แก่ผู้ให้เช่า และเมื่อสัญญาครบกำหนดระยะเวลาการเช่า การบินไทยต้องคืนเครื่องบินให้แก่ผู้ให้เช่าในสภาพที่ตกลงกันไว้ (Redelivery Condition)
        สัญญาประเภทเช่าดำเนินการนั้น มักจะทำกับบริษัทผู้ให้เช่าเครื่องบิน แต่ในกรณีที่ผู้ให้เช่าต้องกู้เงินมาซื้อเครื่องบินเพื่อเอามาให้สายการบินเช่านั้น ทางผู้สนับสนุนทางการเงินของผู้ให้เช่าอาจตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle หรือ SPV) ขึ้นมา เพื่อถือกรรมสิทธิ์ในเครื่องบินดังกล่าว
 

       ในกรณีของ สัญญาเช่าทางการเงิน (Financing Lease) นั้น สายการบินจะทำสัญญาซื้อ-ขายกับผู้ผลิตเครื่องบิน เช่น Boeing หรือ Airbus และเมื่อถึงวันรับมอบเครื่องบิน สายการบินอาจใช้เงินสดหรือจัดหาเงินกู้มาชำระค่าเครื่องบิน ซึ่งมาจากสถาบันการเงินที่ส่วนใหญ่จะเป็นสถาบันการเงินระหว่างประเทศ โดยอาจให้องค์การเครดิตเพื่อการส่งออก (Export Credit Agency หรือ ECA) มาเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้
       ทั้งนี้ สถาบันการเงินนั้นจะเป็นผู้รับโอนสัญญาซื้อขายเครื่องบินระหว่างสายการบินกับบริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน ซึ่งสถาบันการเงินที่นำเงินมาจ่ายค่าเครื่องบินนั้น อาจมีมากกว่าหนึ่งรายและอาจมาจากหลายประเทศ กลุ่มสถาบันการเงินดังกล่าวจึงตั้ง SPV ขึ้น เพื่อร่วมกันถือกรรมสิทธิ์ในเครื่องบินดังกล่าว และสายการบินก็จะทำสัญญาเช่าทางการเงินกับ SPV นั้น เมื่อสายการบินชำระเงินกู้ครบถ้วนแล้ว เครื่องบินจะถูกโอนเป็นกรรมสิทธิ์ของสายการบินต่อไป

      ดังนั้น การที่มี SPV มาเกี่ยวข้องในทั้งสองโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นสัญญาเช่าดำเนินการ (Operating Lease) หรือสัญญาเช่าทางการเงิน (Financing Lease) เป็นธุรกรรมทางการเงินที่สถาบันการเงินชั้นนำระดับโลกทั่วไปใช้ดำเนินการ เพื่อให้สถาบันการเงินหลายๆ สถาบันที่เป็นผู้ให้กู้ร่วม สามารถถือกรรมสิทธิ์ในเครื่องบินผ่าน SPV ดังกล่าวได้ ซึ่งบริษัทฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใน SPV ดังกล่าวแต่อย่างใด
         ส่วนการตั้งชื่อ SPV เป็นสิทธิของสถาบันการเงิน แต่บางรายขอให้สายการบินเป็นผู้ตั้งให้ ชื่อ SPV ที่ปรากฏจึงมีทั้งชื่อภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : อึ้ง "การบินไทย" เจ้าหนี้ฝูงบิน ฟันหัวคิวอื้อ

        ทั้งนี้ การเช่าเครื่องบินที่ปรากฏเป็นข่าวเป็นเครื่องบินภายใต้สัญญาเช่าทางการเงิน (Financing Lease) ทั้งสิ้น และปัจจุบันบริษัทฯ มีเครื่องบินภายใต้สัญญาเช่าทางการเงิน (Financing Lease) จำนวน 31 ลำ และเครื่องบินภายใต้สัญญาเช่าดำเนินงาน (Operating Lease) จำนวน 39 ลำ