"การบินไทย" ดึง 4 แบงก์ปล่อยกู้ ตั้ง 4 ขุนพลคุมแผนฟื้นฟู

22 พ.ค. 2563 | 00:40 น.

ดึง 4 แบงก์ปล่อยกู้ "การบินไทย" 5 หมื่นล้าน เสริมสภาพคล่อง ชำระหนี้หลังแอร์บัสยื่นโนติซ โละโบอิ้ง 787 จำนวน 8 ลำ พร้อมเปิด 37 จุดบิน ยื่นศาลล้มละลายไทย ควบคู่ Chapter 11 สหรัฐฯ กันถูกยึดเครื่อง

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ต้องเตรียมยื่นเสนอขอฟื้นฟูกิจการในศาลล้มละลายกลาง หลังครม. เมื่อ 19 พ.ค.มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) ให้คลังลดการถือหุ้นตํ่ากว่า 50% พร้อมกับยื่นฟื้นฟูภายใต้ Chapter 11 ของศาลล้มละลายสหรัฐอเมริกา เพื่อป้องกันการถูกยึดเครื่องบินหรือทรัพย์สินระหว่างที่ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ควบคู่การประกอบธุรกิจปกติ ตลอดช่วงการฟื้นฟูกิจการที่คาดว่า จะใช้เวลา 2-3 ปีจากนี้

นายกฯตัดสินใจเอง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากว่า จะช่วยรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติได้อย่างไร ซึ่งการบินไทย มีหนี้สินจำนวนมาก และมี 3 ทางเลือกในการแก้ปัญหา คือ 1.หาเงินให้การบินไทยดำเนินการแก้ปัญหา 2.ปล่อยให้เข้าสู่สถานะล้มละลาย และ 3.เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของศาล ซึ่งที่ผ่านมาการฟื้นฟูเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เพราะติดกฎหมายหลายฉบับ

“ครม.ได้พิจารณาร่วมกับคนร. เห็นว่า การฟื้นฟูกิจการเป็นทางปฏิบัติที่ดีที่สุด โดยไม่ปล่อยให้การบินไทยเข้าสู่สถานะล้มละลาย ซึ่งอาจทำให้พนักงานมากกว่า 2 หมื่นคนต้องถูกลอยแพ มีมืออาชีพเข้ามาบริหาร เพื่อทำให้การบินไทยกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ฟื้นฟู "การบินไทย" ล้มเพิ่มทุน 8 หมื่นล้าน เข้าแผนฟื้นกิจการตามกฎหมายล้มละลาย

                         “การบินไทย” เพิ่มทุน 8 หมื่นล้าน ผ่าตัดใหญ่เป็นโฮลดิ้ง ปั้นไทยสมายล์สู้ศึก

หาแบงก์ปล่อยกู้ "การบินไทย" 5 หมื่นล้าน

แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ขั้นตอนจากนี้ คลังจะขายหุ้นการบินไทย 3% ให้กองทุนวายุภักษ์ ลดการถือหุ้นจาก 51.03% เหลือ 48% เพื่อให้หลุดพ้นสถานะรัฐวิสาหกิจตามคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 และพ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ให้เกิดความสะดวกในการบริหารของผู้บริหารแผนฟื้นฟู

จากนั้นจะปรับโครงสร้างผู้บริหาร โดยจะลดกรรมการให้เหลือ 3 คนและแต่งตั้งผู้ทำแผนฟื้นฟู 15 คนโดยได้ทาบทามไว้ 4 คนที่จะมานั่งเป็นบอร์ดใหม่และร่วมในทีมผู้บริหารแผนฟื้นฟูคือ นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน นายเทวินทร์ วงศ์วานิช และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.และนายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ และอดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่(ดีดี) การบินไทย

“เมื่อศาลรับแผนหนี้หุ้นกู้ที่มี 7.4 หมื่นล้านบาท จะ Default อัตโนมัติ แต่เพื่อไม่ให้กระทบต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ที่เป็นเจ้าหนี้ จะเสนอ 2 แนวทางคือ ยืดระยะเวลาชำระหนี้ หรือเพิ่มดอกเบี้ย เพื่อไม่ให้ผู้ถือหุ้นกู้เดือดร้อน”

นำรายได้ค่าตั;ตั๋วคํ้าหนี้ "การบินไทย"

สำหรับแนวทางฟื้นฟูกิจการ ผู้บริหารแผนต้องไปเจรจากับเจ้าหนี้ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจและต้องได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหนี้ในประเทศ โดยจะขอกู้เงินอย่างน้อย 4-5 หมื่นล้านจากธนาคารรัฐและเอกชนคือ ออมสิน,กรุงไทย หรือ ไทยพาณิชย์ และกรุงเทพ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและชำระหนี้ โดยเฉพาะค่าเช่าเครื่องบินที่ต้องจ่ายให้เจ้าหนี้ เพื่อให้รับแผนฟื้นฟู ขณะที่เจ้าหนี้ที่ปล่อยกู้จะได้รับความเป็นบุริมสิทธิ์ ซึ่งจะได้สิทธิชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น โดยที่การบินไทยจะนำรายได้จากการขายตั๋ว ซึ่งแต่ละปีมี 1.3 แสนล้านบาท มาคํ้าประกันเงินกู้กับธนาคารเจ้าหนี้ได้

“การฟื้นฟูจะดำเนินการภายใต้บมจ.การบินไทย ซึ่งธุรกิจหลักจะประกอบธุรกิจการบิน ล้มแนวคิดเดิมที่จะผ่าตัดโครงสร้างองค์กร ที่จะให้การบินไทยเป็นโฮลดิ้ง และแยกหน่วยธุรกิจออกไป ตัดขายหรือเปิดให้เกิดการร่วมทุนหรือให้บริษัทไทยสมายล์มาปฏิบัติการบินแทนการบินไทย”

ดังนั้น คาร์โกและปฏิบัติการบินคงแยกจากกันไม่ได้ เพราะเป็นธุรกิจหลักแต่บางหน่วยธุรกิจ เช่น ครัวการบิน อาจแยกขายออกไป เพื่อหาเงินเข้าบริษัท  และต้องขายคืนเครื่องบินโบอิ้ง 787 ออกไป 8 ลำ ลำละ 1.4 หมื่นล้านบาท โดยจะขายในราคาลด 50% ต่อลำ และตั้งเป้าใน 3 ปีนี้ จะลดพนักงานลง 5,867 คน ใช้เงินกว่า 8,850 ล้านบาท เพื่อให้เหลือพนักงาน 15,000 คน

“ระยะเวลาฟื้นฟูตามแผนดังกล่าว คาดว่าจะเห็นหน้าเห็นหลังในช่วง 2 ปี และภายใน 3 ปี จะหลุดพ้นการฟื้นฟูกิจการ”


"การบินไทย" ดึง 4 แบงก์ปล่อยกู้ ตั้ง 4 ขุนพลคุมแผนฟื้นฟู

"การบินไทย" เตรียมเปิด 37 จุดบิน

ขณะเดียวกันการบินไทย ยังเตรียมกลับมาหารายได้จากการขายตั๋ว โดยจะกลับมาทำการบินในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ โดยมีทั้งหมด 37 จุดบินรวม 173 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เช่น ปักกิ่ง สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน บริสเบน ประเทศออสเตรเลีย สัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน บรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม สัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก วันละ 1 เที่ยวบิน นิวเดลี วันละ 1 เที่ยวบิน แฟรงก์เฟิร์ต วันละ 1 เที่ยวบิน กวางโจว สัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “การบินไทย” ยันทำธุรกิจปกติแม้เข้าฟื้นฟูตามก.ม.ล้มละลาย

                          การบินไทยจอดเครื่อง69ลำหลังหยุดบิน

"แอร์บัส" ยื่นโนติซ

แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงคมนาคมเผยว่า นอกจากยื่นฟื้นฟููกิจการต่อศาลล้มละลายกลางของไทยแล้ว การบินไทยจะยื่นฟื้นฟูภายใต้ Chapter 11 ของสหรัฐอเมริกาด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหนี้ยึดเครื่องบิน หรือ ทรัพย์สิน ระหว่างการบินไทยดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งทางแอร์บัสได้ยื่นโนติซมายังการบินไทยแล้ว 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “แอร์บัส” ยื่นโนติส “การบินไทย”ทวงหนี้ค่าเช่าเครื่องบิน
                        “แอร์บัส” สวนหมัด คมนาคม ลั่นไม่ได้ปล่อยเช่าให้ “การบินไทย” 

ด้านนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่าการฟื้นฟูกิจการเป็นหนึ่งแนวทางที่จะดูแลลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหมดซึ่งส่วนตัวมองว่า ควรเจรจากับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด โดยเฉพาะลูกหนี้และเจ้าหนี้ เพื่อวางแนวทางเดินไปด้วยกัน 

“ส่วนตัวเห็นว่า รัฐบาลพยายามอย่างมาก เพื่อหาแนวทางฟื้นฟูกิจการการบินไทย เพื่อประสิทธิภาพในแง่ของการให้บริการซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า การบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติ ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ของประเทศหากได้รับการแก้ไขก็จะส่งผลบวกต่ออันดับเครดิตและต้นทุนในการดำเนินธุรกิจด้วย และระหว่างนี้ คงจะต้องพิจารณาเรื่องกระแสเงินสดที่จะต้องจ่ายเจ้าหนี้หรือจ่ายพนักงานว่า มีจำนวนเพียงพอภาระค่าใช้จ่ายได้กี่เดือน”

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,576 วันที่ 21 - 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2563