‘ชฎาทิพ จูตระกูล’  วันนี้แลนด์สเคปค้าปลีก เปลี่ยนไป

16 พ.ค. 2563 | 23:52 น.

อุตสาหกรรมค้าปลีกค้าส่งของประเทศ ไทยที่มีมูลค่ารวมกว่า 3.5 ล้านล้านบาท ถือเป็นหนึ่งในแกนหลักที่สร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ แน่นอนว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ส่งผลให้เกิดมาตรการต่างๆ รวมถึงการล็อกดาวน์ห้าง/ศูนย์การค้า และร้านค้าปลีกต่างๆ ย่อมส่งผลกระทบ วันนี้เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย พร้อมกับการผ่อนปรนของภาครัฐ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้คืออะไร ผู้ประกอบการค้าปลีกควรเตรียมพร้อมรับวิถีใหม่ หรือ New Normal ที่จะเกิดอย่างไร

 

ฐานเศรษฐกิจได้มีโอกาสร่วมสัมภาษณ์ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด หญิงเหล็กแห่งวงการรีเทลไทย ผู้คลุกคลีคร่ำหวอดในอุตสาหกรรมนี้มากว่า 30 ปี ที่จะมาบอกเล่าถึงแลนด์สเคปของค้าปลีกไทย หลังวิกฤติโควิด-19

 

ชฎาทิพ จูตระกูล

 

ทำไมแลนด์สเคปค้าปลีกจึงเปลี่ยนไป

ชฎาทิพบอกว่า วันนี้ยังประเมินได้ยากว่าชีวิตหลังโควิด-19 จะมีระยะเวลาเท่าใด อาจจะนาน 1 ปี และจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง ทุกคนใช้คำว่า New Normal แต่ก็ยังตอบไม่ได้ 100% ว่าคืออะไร แต่การเข้ามาของโควิด-19 ถือเป็นการรีเซต ค้าปลีก เป็นการปฏิวัติโลกของค้าปลีก ให้ก้าวสู่รีเทลโมเดลใหม่ที่จะตอบสนองวิถีการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ของผู้บริโภค

 

วันนี้แลนด์สเคปของค้าปลีกเปลี่ยนไป เพราะ 1. พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ผู้ประกอบการต้องเปิด ปรับ เปลี่ยนเปิดใจรับฟังความคิดเห็น นำมาปรับใช้ เปลี่ยนกระบวนการสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ไม่ใช่ตอบสนองตัวเอง 2. การใช้จ่ายที่ลดลง และ 3. การบริหารจัดการต้นทุนและสภาพคล่อง ขณะที่แฟกเตอร์ที่ได้รับอานิสงส์ในเชิงบวกคือ กลุ่มอาหาร เทเลคอม ยา ที่จัดอยู่ในปัจจัย 4 อย่างไรก็ดี เชื่อว่ารีเทลไม่มีวันล่ม ยังเดินหน้าได้อย่างแข็งแกร่ง

 

‘ชฎาทิพ จูตระกูล’  วันนี้แลนด์สเคปค้าปลีก เปลี่ยนไป

คนเปลี่ยนพฤติกรรมไปช็อปปิ้งออนไลน์ เพราะสะดวก และมาตรการ Social Distancing วันนี้ยอดขายออนไลน์มีสัดส่วนไม่ถึง 5% ยังเทียบไม่ได้กับยอดขายจากหน้าร้าน

‘ชฎาทิพ จูตระกูล’  วันนี้แลนด์สเคปค้าปลีก เปลี่ยนไป

ขณะที่สยามพิวรรธน์เอง มีความพร้อมในการนำเสนอการช็อปปิ้งในแบบ Omni Channel Shopping ที่ผสมผสานการช็อปปิ้งระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ เข้าด้วยกัน เห็นได้จากในช่วงที่ล็อกดาวน์ ลักชัวรีแบรนด์ต่างเปิดโอกาสให้บริษัทบริการ Luxury Chat & Shop ทาง S-commerce โดยเปิดให้ช็อปปิ้งออนไลน์ พร้อมจัดส่งสินค่าไปให้เลือกถึงบ้านจากแบรนด์ชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็น Balenciaga, Bally, Michael Kors , alvatore Ferragamo, Tiffany & Co., Versace เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี OneSiam & ICONSIAM Chat & Shop , OneSiam Application และ Line@OneSiam , Siam Center Virtual Mall ที่ผนึกกับลาซาด้า เปิดให้บริการช็อป 24 ชม. ด้วย

 

ยุทธศาสตร์ของการตลาดค้าปลีกรูปแบบใหม่ คือ การสร้างอีโมชั่นนอล เอ็นเกจเม้นท์ ต้องนำเรื่องราวที่คนอยากฟัง นำเสนอแนวทางการทำธุรกิจรีเทลที่ตอบสนองวิถีการดำรงชีวิตเพื่อความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอระบบนิเวศน์ของธุรกิจค้าปลีก หรือ Retail Ecosystem ที่เกิดจากการคอลลาบอเรชัน การร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เช่น การนำเสนอผ่านอีโค่ คอมมิวนิตี ภายใต้ชื่อEcotopia” ที่จะรวบรวมสินค้า ที่จะตอบโจทย์ตามเทรนด์ของผู้บริโภคในโลกใหม่ มุ่งเน้นใน 2 ด้านคือ สุขภาพ และนวัตกรรม

 

‘ชฎาทิพ จูตระกูล’  วันนี้แลนด์สเคปค้าปลีก เปลี่ยนไป

 

การทำธุรกิจในวันนี้ ไม่ใช่เป็นแบบสามเหลี่ยมอีกต่อไป ต้องเป็นแบบสี่เหลี่ยม คือ ต้องมองใน 4 แกนหลัก คือ 1. Creator & Platform 2. Supporter 3. Partnership และ 4. Customer เพื่อสร้างการเติบโตแบบยั่งยืน

มองวิกฤติโควิดครั้งนี้อย่างไร

หากประเมินความสูญเสียที่เกิดขึ้น คงตอบได้ยาก แต่มูลค่าค้าปลีกค้าส่งเมืองไทยรวมกว่า 3.5 ล้านล้านบาท โดยธุรกิจศูนย์การค้า มีมูลค่าราว 1.75 แสนล้านบาทได้รับผลกระทบจากโควิดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงปัจจุบัน หากกลับมาเปิดบริการได้เชื่อว่ารายได้จะกลับฟื้นมาราว 30-40% ผู้ประกอบการต้องค่อยไต่ระดับขึ้นมา และต้องบริหารต้นทุนให้ดี เพราะคาดว่านักท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาได้ในเดือนตุลาคม เป็นต้นไป แต่ประเมินโดยภาพรวมคาดว่ารายได้จะหายไปราว 50%

 

ถ้าต้องทำนาย ในช่วงสั้นๆ มิถุนายน กรกฎาคมและสิงหาคมยังเหนื่อย เพราะอย่างไรวัคซีนก็ไม่เกิดแน่นอน มาตรการด้าน Social Distancing ยังมีอยู่ ทำให้ลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการในศูนย์หายไป 1 ใน 3 คนไทยยังต้องปรับตัว การจะออกจากบ้านจะต้องทำอย่างไร ใน 3 เดือนนี้ จะเป็นช่วงของการพิสูจน์ ว่าคนทำธุรกิจจะสามารถจัดการสภาพคล่องของตัวเองได้อย่างไร เราต้องยอมรับว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะรอด วันนี้ก็มีหลายคนที่ทำธุรกิจ ขนาดย่อย ขนาดกลางที่ไม่รอด เพราะไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่าย ต้องหยุด ต้องปิดกิจการ ถอยกลับไปตั้งหลัก แต่อยากให้คิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ จะทำให้เราทุกคนแข็งแรงขึ้น ทุกครั้งที่ล้มและลุกขึ้นมาได้ นั่นคือ รางวัลชีวิต จะล้มอีกกี่ครั้ง ก็ต้องลุกขึ้นมาให้ได้ เพราะจะเป็นบทเรียนที่ดี

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,575 วันที่ 17-20 พฤษภาคม 2563