อุตสาหกรรมอาหารไทยปี 64 โต 12% สวนกระแสโควิด-19 ระบาด

25 พ.ค. 2564 | 07:55 น.

ดีพร้อมเผยอุตสาหกรรมอาหารไทยปี 64 โต 12% สวนกระแสโควิด-19 ระบาด เหตุผู้บริโภคมีความต้องการเลือกสินค้าอาหาร เพื่อประกอบอาหารเองมากขึ้น

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดี กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปี 2564 นี้ มีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมอาหารจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น 12% และจะมีมูลค่าราว 1.08 -1.10 ล้านล้านบาท เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความต้องการเลือกสินค้าอาหาร หรือวัตถุดิบ เพื่อมาประกอบอาหารเองเพิ่มมากขึ้น
    ทั้งนี้  ดีพร้อม เล็งเห็นถึงโอกาสและความสำคัญของการขับเคลื่อนของภาคอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มให้สามารถเดินหน้าต่อได้ภายใต้สถานการณ์ของการแพร่ระบาดโควิด-19 (Covid-19) จึงเร่งออกมาตรการและแนวทางการสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยให้กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเร็วในหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือการขยายช่องทาง และเพิ่มโอกาสทางการตลาด เพื่อเพิ่มช่องทางการขายให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารอย่างต่อเนื่อง ผ่านเวทีการแสดงสินค้านานาชาติในรูปแบบออนไลน์เสมือนจริงในงานแสดงสินค้าอาหาร 2564 หรือ THAIFEX-ANUGA ASIA 2021 “The Hybrid Edition” ซึ่งการจัดงานเกิดจากการบูรณาการร่วมกันระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศร่วมกับหอการค้าไทย โดยดีพร้อมได้ร่วมสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ ภายใต้แนวคิด Driving the next normal ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่วิถีใหม่ เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอาหารเติบโตได้อย่างต่อเนื่องภายในปี 2564 
    สำหรับการจัดงานแสดงสินค้าอาหาร 2564 หรือ THAIFEX-ANUGA ASIA 2021 “The Hybrid Edition” ในปีนี้นอกจากจะเป็นการจัดงานในรูปแบบในลักษณะไฮบริด เพื่อรองรับชีวิตวิถีใหม่ ที่สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภค และสอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในปัจจุบัน ซึ่งการจัดแสดงคูหาเสมือนจริงในรูปแบบ 3 มิตินั้น สามารถให้ผู้ชมงานจากต่างประเทศสามารถเข้าไปเลือกสินค้าในชั้นวางสินค้า ชมคลิปวิดีโอ เปิดแคตตาล๊อกสินค้า ฝากข้อความนัดเวลาเจรจาการค้าล่วงหน้า หรือเจรจาการค้าได้ทันที โดยจะเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วมแสดงสินค้างาน ได้โอกาสใหม่ ๆ ในการเข้าถึงตลาดในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลกอีกด้วย 

ณัฐพล รังสิตพล
    "ดีพร้อม ได้สนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารที่มีศักยภาพและความพร้อมเข้าร่วมงานในครั้งนี้ จำนวน 20 ราย อาทิ บริษัท อุตสาหกรรมเครื่องหอมไทย-จีน บริษัท ทิกเกิ้ล ไทม์ จำกัด บริษัท โคโคเน่ น้ำมันมะพร้าว จำกัด บริษัท ใบชาโชคจำเริญ จำกัด บริษัท แคปหมึก ฟู้ดแอนด์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด บริษัท ด.เด็กกินผัก จำกัด บริษัท พีอันต้า จำกัด บริษัท ชาโลม เฮลท์ จำกัด บริษัท จตุพล ชาไทย (ดอยแม่สลอง) ฯลฯ โดยนำผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องหอมไทย ผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรแปรรูป อาหารแปรรูป เข้าร่วมในงานครั้งนี้"
     อย่างไรก็ดี การนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงอุตสาหกรรมอาหารในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ดีพร้อมได้เพิ่มโอกาสขยายธุรกิจและการค้าในอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง และเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะได้สัมผัสรูปแบบใหม่ของการจัดงานในครั้งนี้ และจะเป็นเวทีสำคัญที่ไม่เพียงแต่จะเป็นเวทีเจรจาธุรกิจในช่องทางการตลาดใหม่ ๆ ที่จะช่วยสร้างยอดขาย และพบกับผู้ซื้อชาวต่างชาติที่เข้ามาร่วมงาน แต่ยังช่วยกระตุ้นและยกระดับภาคอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทยให้ฝ่าวิกฤตการณ์โควิดนี้ไปได้ ซึ่งคาดว่าการสนับสนุนในครั้งนี้จะช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้พบปะผู้ซื้อชาวต่างชาติที่เข้ามาร่วมงานกว่า 1,230 ราย
    นายณัฐพล กล่าวต่อไปอีกว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหลายสาขา แต่อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอาหารยังได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว โดยจะเห็นได้จากรายงานของสถาบันอาหาร ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมได้รายงานว่าในปี 2563 อุตสาหกรรมอาหารของไทยในช่วง 11 เดือน อยู่ที่ 981,430 ล้านบาท หดตัวลดลง จากปี 2562 ประมาณ 7.39%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :