สภาผู้บริโภคบี้  ‘บิ๊กตู่’ ตั๋วสายสีเขียว 25 บาท

13 เม.ย. 2564 | 03:45 น.

สภาองค์กรของผู้บริโภค ซุ่มทำข้อมูล ชงครม.เคาะตั๋วสายสีเขียว 25 บาท พร้อมเปิดตัวเลขจ่ายหนี้-เดินรถ ยันกทม.มีเงินส่งรัฐ 2.3 หมื่นล้าน ลั่นไม่ควรต่อสัญญาสัมปทานหลังมีเวลาตัดสินใจอีก 8 ปี ซัดค่าโดยสาร 65 บาทแพง

 

 

กรณีพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 23 มีนาคม2564 ถึงความคืบหน้าแก้ปัญหาค่าโดยสาร และภาระหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ไม่ให้กระทบต่อการเดินรถ และยึดประโยชน์สูงสุดของประชาชน เป็นสำคัญ นั้น

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สภาฯ ได้นำข้อมูลค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่12 เมษายน 2564 มี 2 เรื่องคือ 1. การศึกษาอัตราค่าโดยสารรถไฟทุกเส้นทางในปัจจุบัน 2.การกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว อยู่ที่ 25 บาท

ทั้งนี้ หากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องการต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ควรเปิดเผยข้อมูลให้ชัดเจน เนื่องจากปัจจุบันข้อมูลมีความขัดแย้งกัน โดยข้อมูลกระทรวงคมนาคมแจ้งว่า หากคิดอัตรา ที่ 49.83 บาท จะนำเงินส่งรัฐ 380,200 ล้านบาท แต่ที่ผ่านมากทม.แจ้งว่าหากคิดที่ 65 บาท สามารถนำเงินส่งรัฐในปี 2602 ที่ 240,000 ล้านบาท

“อยากเห็นกทม. และภาครัฐคิดค่าตั๋วรถไฟฟ้าเป็นบริการสาธารณะให้ทุกคนได้ใช้บริการ ขณะข้อศึกษาราคา 25 บาทต่อเที่ยว ทำให้กทม.มีเงินนำส่งให้รัฐ 23,000 ล้านบาท มองว่าน่าจะเพียงพอ ไม่ควรต่อสัญญาสัมปทาน เนื่องจากยังมีเวลาตัดสินใจถึงปี 2572 (8 ปี) และในกรณีกทม. ไม่มีเงินส่งรัฐ ภาครัฐควรช่วยจ่ายหนี้ให้กทม”

ทั้งนี้ไม่เห็นด้วย ค่าโดยสารสายสีเขียวอัตรา 65 บาท เพื่อแลกกับการต่อสัญญาสัมปทานล่วงหน้า พบว่ามูลค่าหนี้ที่แท้จริงไม่ชัดเจน เป็นตัวเลขหนี้ที่เกินจริงอีกทั้ง 8 ปีข้างหน้ายังไม่เกิดขึ้น แต่กลับรวมเป็นหนี้สินในปัจจุบัน เพื่อเป็นข้ออ้างต่ออายุสัมปทานอีก 30 ปี รวม 38 ปีอย่างไม่โปร่งใส ไม่มีข้อมูลที่มาที่ไปของค่าโดยสารรถไฟฟ้า จากตัวเลขหนี้จำนวน 144,000 ล้านบาท ที่ กทม. อ้างขึ้นมาเพื่อแลกกับการต่ออายุสัมปทานแล้วคิดค่าโดยสารตลอดสาย 15-65 บาท หรือ 130 บาทในการเดินทางไปกลับ เป็นการสร้างภาระให้กับผู้บริโภคล่วงหน้า 

โดยตัวเลขกทม. ค้างจ่ายจริงปัจจุบันมีเพียง 39,800 ล้านบาทเท่านั้น แบ่งเป็น หนี้การลงทุนโครงสร้าง 18,145 ล้านบาท เงินชดเชยส่วนต่อขยาย 7,090.00 ล้านบาท หนี้ค้างชำระเดินรถ 3 ปี 9 เดือน 9,602 ล้านบาท มูลค่าหนี้ที่แตกต่างกันถึง 113,879.2 ล้านบาท โดยคิดรวมค่าใช้คืนดอกเบี้ยและค่างานระบบในอนาคตจนถึงปี 2572 ถึงหมดอายุสัมปทาน เป็นเงิน 88,904 ล้านบาท และหนี้ค้างเดินรถส่วนต่อขยาย ปี 2562-2572 อีก 21,132 ล้านบาท ฯลฯ ทั้งหมดนี้ได้ถูกนำมาเป็นยอดหนี้รวมปัจจุบันของกทม. เพื่อแลกกับการต่ออายุสัมปทานไปอีก 30 ปี

ขณะเดียวยังพบว่า ข้อมูลที่ถูกนำเสนอในการประชุมกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร กทม.สามารถคืนหนี้ได้ทั้งหมด อีกทั้งยังมีเงินเหลือนำส่งรัฐมากถึง 380,200 ล้านบาท ในปี 2602 โดยใช้การคำนวณค่าโดยสาร
ที่ 49.83 บาท เบื้องต้นสภาฯ จึงเสนอให้กทม.และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยตัวเลขที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในการพิจารณาต่อสัญญาสัมปทาน เพื่อไม่สร้างภาระให้กับผู้บริโภคล่วงหน้า 38 ปี ซึ่งอาจเกิดความเสียหายมากถึง 380,200 ล้านบาท

ทั้งนี้ สภาฯ ขอให้กทม. ยุติการดำเนินการต่อสัญญาสัมปทาน และรอการตัดสินใจจากผู้ว่ากรุงเทพมหานครที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง พร้อมเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ เช่น การคิดค่าจ้างเดินรถใช้อะไรเป็นฐานคิดคำนวณการดำเนินงานต่อสัญญาล่วงหน้าในครั้งนี้ หากไม่มีการดำเนินการใดๆ อาจจะถือได้ว่าเข้าข่ายการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนและพวกพ้อง ซึ่งหากยืนยันเก็บค่าโดยสาร 15- 65 บาท ไปกลับ 130 บาทต่อวัน เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงถึง 39.27% จากค่าแรงขั้นต่ำ 331 บาทในกทม.

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,670 วันที่ 15 - 17 เมษายน พ.ศ. 2564