เอฟทีเอไทย ดัน 2 เดือนส่งออก สินค้าเกษตร-แปรรูปโต20%

11 เม.ย. 2564 | 09:01 น.

“พาณิชย์”ชี้ FTA ช่วยดันส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป 2 เดือนแรกปีนี้ ไทยส่งออกไปตลาด FTA ทะลุกว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โต 10%  เครื่องเทศและสมุนไพร ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวดี

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกและภาคการผลิตที่กลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหลังการผ่อนคลายมาตรการปิดประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกของไทยขยายตัว นอกจากนี้ ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับสินค้าของไทย และช่วยให้การส่งออกขยายตัว ซึ่งสอดคล้องกับสถิติการส่งออกของไทยไปประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอ 18 ประเทศ โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 ยังสามารถขยายตัวได้ 10% ในขณะที่การส่งออกไปตลาดโลกโดยรวมลดลง 

 เอฟทีเอไทย ดัน 2 เดือนส่งออก  สินค้าเกษตร-แปรรูปโต20%

สำหรับสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและเป็นที่ต้องการของตลาด โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 ไทยส่งออกไปยัง 18 ประเทศเอฟทีเอ มูลค่า 4,361 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วน 68% ของการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปทั้งหมดของไทย)หรือขยายตัวถึง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยตลาดที่ขยายตัว ได้แก่ มาเลเซีย (+26%) เวียดนาม (+27%) สิงคโปร์ (+13%) สปป.ลาว (+9%) เมียนมา (+8%) จีน (+43%) ฮ่องกง (+0.4%) ออสเตรเลีย (+8%) และชิลี (+27%) สำหรับสินค้าที่มีการส่งออกไปตลาดโลกเพิ่มขึ้น อาทิ ยางพารา (+12%) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (+48%) ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง (+94.5%) ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง (+2.9%) ผักสดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง (+22%) เครื่องเทศและสมุนไพร (+99%) สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง (+17%) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป (+5%) และอาหารสัตว์เลี้ยง (+20%)

เช่นเดียวกับ สินค้าอุตสาหกรรมของไทยที่ส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอยังสามารถขยายตัวได้ 0.21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 มีมูลค่าส่งออก 18,886 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดที่มีการส่งออกขยายตัว ได้แก่ เวียดนาม (+10%) มาเลเซีย (+37%) สปป.ลาว (+10%) จีน (+5%) ญี่ปุ่น (+7%) เกาหลีใต้ (+20%) ออสเตรเลีย (+26%) นิวซีแลนด์ (+36%) และเปรู (+18%) โดยสินค้าที่มีการขยายตัวส่วนใหญ่เป็นสินค้ากลุ่มวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปที่ใช้ในภาคการผลิต แสดงถึงศักยภาพของการส่งออกไทยที่เติบโตตามการฟื้นตัวของโลก อาทิ รถยนต์และส่วนประกอบ (+14%) คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (+11%) ผลิตภัณฑ์ยาง (+23%) เม็ดพลาสติก (+21%) วงจรไฟฟ้า (+11%) และเคมีภัณฑ์ (+12%)

“ผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ การผ่อนคลายมาตรการปิดประเทศ และการเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ทำให้แนวโน้มความต้องการของสินค้าในตลาดโลกเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสของสินค้าไทยที่จะส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตร สินค้าอาหาร สินค้ากลุ่มวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นผู้ประกอบการไทยควรใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอย่างเต็มที่ ควบคู่กับการปรับตัวและปรับเปลี่ยนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ควบคุมคุณภาพมาตรฐานสินค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค” นางอรมน เสริม

ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2564 การค้ารวมของไทยกับ 18 ประเทศคู่เอฟทีเอ มีมูลค่า 51,028 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (+8%) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 คิดเป็นสัดส่วน 63.75% ของการค้าของไทยทั้งหมด เป็นการส่งออกมูลค่า 24,441 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการนำเข้า มูลค่า 26,587 ล้านดอลลาร์สหรัฐ