กรอ.ผนึก กฟผ. เล็งตั้งโรงงานรีไซเคิลซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่

11 เม.ย. 2564 | 04:55 น.

กรอ. ร่วมมือกับ กฟผ. เล็งตั้งโรงงานรีไซเคิลซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบในพื้นที่ศักยภาพ ขานรับเศรษฐกิจหมุนเวียน

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กรอ. ได้ดำเนินการร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการการศึกษาแนวทางการจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ และพัฒนาโรงงานรีไซเคิลซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศไทย โดยเป็นความต่อเนื่องในการศึกษาแนวทางบริหารจัดการซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ที่ครบกำหนดอายุของบันทึกความร่วมมือเดิมในระยะเวลา 1 ปี เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2564 

ทั้งนี้ ผลการศึกษาที่ผ่านมา พบว่า การรีไซเคิลแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ในประเทศไทยยังคงมีความท้าทายหลายด้าน ทั้งในด้านการเก็บรวบรวม ปริมาณ และความแตกต่างชนิดของซาก ที่จะส่งผลต่อเทคนิคในการรีไซเคิลและความคุ้มค่าการลงทุน ตลอดจนเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ ทำให้การพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปในประเด็นต่างๆ ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ และต้องติดตามเทคโนโลยีในการรีไซเคิลที่ทันสมัยอยู่เสมอ

“ปัจจุบันเทคโนโลยีการรีไซเคิลและแนวทางการจัดการกับแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น โดยมีการดำเนินงานเชิงพาณิชย์แล้วในต่างประเทศ ดังนั้น โดยความร่วมมือครั้งดังกล่าวนี้  จะเพิ่มเติมในรายละเอียดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี พื้นที่ศักยภาพ ตลอดจนแนวทางการบริหารจัดการที่เหมาะสมกับประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การสร้างโรงงานรีไซเคิลซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบของประเทศต่อไป”

แผงเซลล์แสงอาทิตย์

              สำหรับพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการตั้งโรงงานรีไซเคิลซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต้นแบบจะพิจารณาตามภูมิภาคและเลือกจังหวัดที่มีการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์มากที่สุดก่อน โดยพื้นที่ที่จะส่งเสริมให้เกิดการจัดตั้งโรงงานรีไซเคิลฯนั้น จะครอบคลุมบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงในวงรัศมี 200-300 กิโลเมตร จากที่ตั้งพื้นที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

และพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมที่มีการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งจากสำรวจพบว่า ในภาคกลางเป็นพื้นที่มีการตั้งโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์มากที่สุด คือ  1,318.16 เมกะวัตต์ รองลงมาเป็นภาคตะวันตก 469 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 423.6 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออก 422 เมกะวัตต์ ภาคเหนือ 177 เมกะวัตต์ และภาคใต้ 41.01 เมกะวัตต์ รวม 2,850.77 เมกะวัตต์

ส่วนการบริหารจัดการแบตเตอรี่ที่หมดอายุการใช้งานสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 แนวทางตามประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ คือ 1.แบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพความจุมากกว่า 80% สามารถนำกลับไปประกอบแพ็กใหม่ (Repack) เพื่อเชื่อมกับแบตเตอรี่โมดูล หรือ เซลล์อื่นๆ 2. แบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพความจุอยู่ระหว่าง 60-80% สามารถนำกลับไปใช้ซ้ า (Reuse) และ 3.แบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพความจุต่ำกว่า 60% หรือไม่สามารถใช้งานต่อได้แล้ว ก็จะนำไปไปรีไซเคิล (recycle) ในโรงงานที่จัดสร้างขึ้นเพื่อนำวัตถุดิบ กลับมาใช้ผลิตแบตเตอรี่ใหม่ได้อีกครั้ง

“ปัจจุบันการบริหารจัดการขยะจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทย ยังใช้วิธีการคัดแยกขยะแล้วนําไปย่อยสลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยก่อนเข้าตามกระบวนการและนำทิ้งในหลุมฝังกลบตามกฎหมาย ดังนั้น การส่งเสริมให้มีการจัดตั้งโรงงานรีไซเคิลแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ ให้เพียงพอและเหมาะสมกับปริมาณที่จะเกิดขึ้น นอกจากจะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นประโยชน์สูงสุดต่อการบริหารทรัพยากรในประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยจะมีส่วนเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของประเทศ และส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนอีกด้วย” 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :