ปักหมุดปีนี้ รฟท.จ่อลงนามสัญญารถไฟไทย-จีนเพิ่ม 4 สัญญา

29 มี.ค. 2564 | 06:43 น.

รฟท.เดินหน้าลงนามรถไฟไทย-จีน 3 สัญญา เร่งเอกชนเข้าพื้นที่ก่อสร้าง 2ปี กว่า เล็งเปิดให้บริการปี 2569 ลั่นในอนาคตผุดไฮสปีดตอนใต้เชื่อมมาเลเวีย-สิงคโปร์

นายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับพิธีลงนามสัญญาการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) หรือรถไฟไทย-จีน จำนวน 3 สัญญา  ประกอบด้วย สัญญาที่ 4-3 งานโยธา  ช่วงนวนคร-บ้านโพ วงเงินก่อสร้าง 11,525,350,500 บาท ผู้แทนจากบริษัท เอ.เอสแอสโซศซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด สัญญาที่ 4-4 งานโยธาสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย วงเงินก่อสร้าง 6,573,000,000 บาท ผู้แทนจาก บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) สัญญาที่ 4-6 งานโยธาสำหรับช่วงพระแก้ว-สระบุรี วงเงินก่อสร้าง 9,428,999,969.37 บาท ผู้แทนจาก บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เบื้องต้นหลังจากลงนามสัญญาทั้ง 3 สัญญาแล้วเสร็จ หลังจากนั้นเอกชนจะเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งมีระยะเวลาก่อสร้างแต่ละสัญญา 1,080 วัน ( 2 ปี 9เดือน) รวมวงเงินก่อสร้างทั้ง 3 สัญญา 27,527,350,469.37 ล้านบาท คาดเปิดให้บริการภายในปี 2569 ทั้งนี้ในอนาคตมีแผนจะดำเนินการโครงการดังกล่าวฯ เชื่อมระบบขนส่งทางรางตอนใต้ของไทยเพื่อเชื่อมกับประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ระบบขนส่งทางราง ทางบก และทางน้ำ ขณะเดียวกันคาดว่าจะเร่งลงนามสัญญาให้ครบอีก 4 สัญญาภายในปีนี้ ประกอบด้วย สัญญา4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง วงเงิน 18,000 ล้านบาท สัญญา4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร วงเงิน 8,626.8 ล้านบาท สัญญา4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว วงเงิน 9,913 ล้านบาท และสัญญา3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง ปางอโศก-บันไดม้า วงเงิน 9,930 ล้านบาท

 

ทั้งนี้รัฐบาลได้ให้ความสนใจและเร่งรัด ติดตามความก้าวหน้าของโครงการมาโดยตลอด และในขณะเดียวกัน เส้นทางนี้ก็จะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ในการเชื่อมไทยไปสู่ สปป.ลาว และจีน โดยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เรียกว่า Belt and Road Initiative หรือ BRI ที่จะเชื่อมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปถึงยุโรปได้ด้วยทางรถไฟ โดยกระทรวงคมนาคมพยายามเร่งรัดโครงการให้เดินหน้าโดยเร็ว  ล่าสุดได้มีการลงนามในสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ของโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) ไปเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา

 

สำหรับสัญญาที่ 4-3 งานโยธาสำหรับช่วงนวนคร-บ้านโพ ประกอบด้วย งานโครงสร้างทางรถไฟเป็นทางยกระดับ 23 กม. งานก่อสร้างทางวิ่งเข้าศูนย์ซ่อมบำรุง งานอาคารและสิ่งปลูกสร้างรองรับงานระบบรถไฟฟ้า งานระบบระบายน้ำ งานรื้อย้ายรางและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ สัญญาที่ 4-4 งานโยธาสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย ประกอบด้วย ทางรถไฟระดับพื้นในศูนย์ซ่อมบำรุง งานอาคารภายในศูนย์ซ่อมบำรุงรวมถนนต่อเชื่อม ได้แก่ อาคารระบบซ่อมบำรุงขบวนรถไฟ 19 อาคาร อาคารควบคุมระบบการจัดการเดินรถและฝึกอบรม 4 อาคาร  อาคารสำหรับระบบซ่อมบำรุงทาง 8 อาคาร งานก่อสร้างถนนงานระบบระบายน้ำและงานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคต่างๆ สัญญาที่ 4-6 งานโยธาสำหรับช่วงพระแก้ว-สระบุรี ประกอบด้วย งานโครงสร้างทางรถไฟ ระยะทางรวม 31.60 กม. แบ่งเป็น คันทางระดับดิน 7.02 กม. และทางยกระดับ 24.58 กม. งานอาคารและสิ่งปลูกสร้างรองรับงานระบบรถไฟฟ้า 7 แห่ง รวมทั้งงานรื้อย้ายสถานีเดิม งานปรับปรุงย้ายถนนเดิม งานก่อสร้าง สะพานข้ามทางรถไฟ งานระบบระบายน้ำ และงานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคต่างๆ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง