สะพัด "เชฟรอน" บีบขายสัมปทานก๊าซ หลังขวางลำ "ปตท.สผ." ไม่ให้เข้าพื้นที่

17 มี.ค. 2564 | 12:00 น.

ปตท.สผ.จ่อส่งแผนผลิตก๊าซฯในแหล่งเอราวัณ ให้ภาครัฐพิจารณาใหม่ หลังเชฟรอนฯ ไม่ยอมให้เข้าพื้นที่ติดตั้งแท่นผลิต สะพัดเชฟรอนฯ ตัดใจขายแหล่งสัมปทาน แต่ยังต่อรองไม่ได้

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า การผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณ ต้องสะดุดลงหลังสิ้นสุดสัมปทานของ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในวันที่ 23 เมษายน 2565 เพราะ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เข้าพื้นที่ไม่ได้

เนื่องจากปัจจุบันทางบริษัทแม่ของเชฟรอนฯ ยังไม่อนุญาตหรือยินยอมให้บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือปตท.สผ. เข้าพื้นที่ แม้จะชนะการประมูลไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ผลกระทบที่เกิดขึ้น จะทำให้ประเทศไม่สามารถ ผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณ ตามสัญญาพีเอสซีที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ ซึ่งจะกระทบความมั่นคงพลังงานของประเทศ ขณะที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หาทางออกที่จะไปนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี ซึ่งมีราคาแพงกว่ามาเสริมแทน และมีผลต่อราคาค่าไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น

ขณะที่ปตท.สผ.ในฐานผู้รับสัมปทานรายใหม่ และต้องส่งก๊าซฯตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2565 เป็นต้นไป หากส่งก๊าซฯไม่ได้ตามสัญญาต้องโดนถูกปรับ ทางออกในเรื่องดังกล่าวนี้ทางปตท.สผ.อยู่ระหว่างการหารือกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในความจำเป็นที่ต้องเลื่อนการผลิตก๊าซตามสัญญาดังกล่าวออกไป

ส่วนเชฟรอนฯไม่ยอมให้เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ ในวงการลือสะพัดว่า เป็นการใช้ด้านความมั่นคงพลังงานของประเทศ มาใช้ต่อรองขายแหล่งสัมปทานที่เหลืออยู่ให้ได้ราคาตามที่ตัวเองต้องการ และต้องรับพนักงานทั้งหมด แต่การเจรจาไม่เป็นผลสำเร็จจากราคาที่สูงเกินจริง

จ่อยื่นแผนผลิตใหม่

แหล่งข่าวจาก บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า การไม่สามารถเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ เพื่อไปดำเนินการติดตั้งแท่นหลุมผลิต วางท่อ การเจาะหลุมผลิตบนแท่นที่ติดตั้งใหม่ และการเชื่อมต่อระบบได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จะส่งผลให้การผลิตก๊าซช่วงรอยต่อไม่สามารถผลิตก๊าซได้ตามสัญญา ซึ่งการแก้ปัญหาในฐานะผู้ผลิต อยู่ระหว่างการจัดทำแผนการผลิตใหม่ เสนอต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ว่าจะสามารถผลิตก๊าซได้ตามสัญญาที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ภายในปีไหน

ส่วนสาเหตุที่ทำให้การเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณยืดเยื้อมานั้น ได้มีการหารือกับทางเชฟรอนฯมาอย่างต่อเนื่อง และทางปตท.สผ.ยอมรับเงื่อนไขทั้งหมดในการเข้าพื้นที่ เช่น การรับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานหรือการทำประกันภัยอุบัติเหตุ เป็นต้น ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ปตท.สผ.ได้หยิบยกมาเป็นข้อถกเถียงกับทางเชฟรอนฯด้วย กรณีที่ทางเชฟรอนฯ ต้องเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณหลังสิ้นสุดสัมปทานในวันที่ 23 เมษายน 2565 เพื่อทำการรื้อแท่นผลิตปิโตรเลียมราว 42 แท่น ปตท.สผ.ในฐานะผู้รับสัมปทานรายใหม่ ได้ขอให้ทางเชฟรอนฯ ทำการประกันอุบัติเหตุหรือการรับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการรื้อถอนแท่นด้วย แต่ทางบริษัทแม่ของเชฟรอนฯ ไม่ยอม และทางปตท.สผ.ก็รับไม่ได้ หากเกิดความเสียหายเกิดขึ้นระหว่างรื้อถอนแท่น จะส่งผลต่อการปฏิบัติงาน เมื่อเรื่องนี้ตกลงกันไม่ได้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณได้ในเวลานี้


แหล่งสัมปทานเชฟรอน

รัฐหาช่องกฎหมายบีบ

แหล่งข่าวจากระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นผลิตปิโตรเลียมของปตท.สผ.ไม่ได้ในเวลานี้ ได้มอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติไปพิจารณาข้อกฎหมายหรือสัญญา ว่าจะมีช่องสามารถต่อรองหรือเอาผิดกับทางผู้รับสัมปทานได้หรือไม่ ซึ่งภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ พยายามที่จะให้ปตท.สผ.เข้าพื้นที่ได้เร็วที่สุด หากดำเนินการได้คิดว่าทางปตท.สผ.จะเร่งทำงานติดตั้งแท่นและผลิตก๊าซได้ตามสัญญา

ทั้งนี้ การเจรจาของทั้ง 3 ฝ่ายนั้นได้ชะงักมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทางกระทรวงพลังงานจะส่งหนังสือไปยังเชฟรอนฯ เพื่อเปิดการเจรจากันอีกครั้ง พร้อมกับข้อเสนอต่างๆ จากที่ก่อนหน้านี้ทางปตท.สผ.ยอมรับข้อเสนอทุกเงื่อนไข โดยเฉพาะการรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเข้าพื้นที่ เพราะถือเป็นเรื่องปกติที่จะต้องทำในเชิงธุรกิจอยู่แล้ว

ลือสะพัดเชฟรอนทิ้งไทย

แหล่งข่าวจากวงการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม เปิดเผยว่าในวงการมีการลือสะพัดอย่างหนาหูว่า การที่เชฟรอนฯไม่ยอมให้ปตท.สผ.เข้าพื้นที่ เพื่อให้เกิดการเจรจาที่ยืดเยื้อ บีบให้ฝ่ายไทยหรือปตท.สผ.ซื้อแหล่งสัมปทานในอ่าวไทยที่มีอยู่ทั้งหมดในราคาที่สูง โดยใช้เรื่องความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศมาเป็นเครื่องต่อรอง

การที่เชฟรอนฯต้องการขายแหล่งสัมปทานในอ่าวไทยทั้งหมด เนื่องจากแพ้ประมูลในแหล่งเอราวัณซึ่งเป็นแหล่งใหญ่ให้กับปตท.สผ. ส่งผลต่อการดำเนินงานในแหล่งต่างๆ ที่เหลืออยู่ เช่น แหล่งไพลิน ยุงทอง ทานตะวัน เบญจมาศ ลันตา สุรินทร์ ไม่สามารถแบกรับต้นทุนการผลิตก๊าซและน้ำมันดิบได้ไหว จึงอยากจะขายแหล่งสัมปทานที่เหลืออยู่ออกไป แต่ราคาที่เชฟรอนฯเสนอมานั้น เป็นราคาที่สูงเกินกว่าผู้ซื้อจะรับได้ จึงทำให้เชฟรอนฯ ดึงเรื่องการเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณของปตท.สผ.ออกไป เพื่อไม่ให้การผลิตก๊าซฯในช่วงรอยต่อเป็นไปตามสัญญาหรือเกิดการสะดุด มาเป็นเครื่องต่อรองในการซื้อแหล่งสัมปทานกับปตท.สผ.

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,662 วันที่ 18 - 20 มีนาคม พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จี้เชฟรอน-ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ เร่งแก้ปัญหาเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ

“ปตท.สผ.”เชื่อผลิตก๊าซแหล่ง “เอราวัณ” หลัง “เชฟรอน” หมดสัมปทานได้ตามเป้า

เชฟรอนสุดทน ลุยฟ้องอนุญาโตฯ ไม่จ่าย 4 หมื่นล้าน รื้อแท่นปิโตรเลียมรัฐ

เชฟรอนฯ เดินหน้า จัดวาง ปะการังเทียมจากขาแท่น อีกบทพิสูจน์รื้อถอนปิโตรเลียม

เชฟรอน-ปตท.สผ.  ร่วมส่งต่อเอราวัณ  ยันผลิตก๊าซไม่สะดุด