อัพเดทล่าสุด “รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้” ถึงไหนแล้ว

24 ก.พ. 2564 | 08:44 น.

รฟม.เร่งเดินหน้าลงพื้นที่สำรวจอสังหาริมทรัพย์เวนคืนที่ดิน ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ วงเงินกว่า 1 แสนล้าน เล็งเปิดประมูลปลายปี 64

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งความคืบหน้าการดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 อนุมัติให้ รฟม. ดำเนินงานก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ในกรอบวงเงินรวม 101,112 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 15,913 ล้านบาท ค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 32 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธา 77,385 ล้านบาท ค่าสิ่งก่อสร้างทดแทนหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ 1,335 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง 2,865 ล้านบาท และยอดเงินรายการสำรอง (Provisional Sum) ของงานโยธา 3,582 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินงานโครงการมีความก้าวหน้าตามแผนงานเป็นลำดับ

ขณะเดียวกันในปัจจุบันการดำเนินงานโครงการอยู่ในขั้นตอนการลงพื้นที่สำรวจอสังหาริมทรัพย์ตามแนวสายทางโครงการ   ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่เขตบางซื่อ  เขตดุสิต เขตพระนคร  เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย  เขตสัมพันธวงศ์ เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตจอมทอง เขตราษฎร์บูรณะ  เขตทุ่งครุ  กรุงเทพมหานคร และอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. 2563 เพื่อดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดสร้างโครงการขนส่งด้วยระบบรถไฟฟ้า สถานที่จอดรถสำหรับผู้โดยสาร และกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการรถไฟฟ้าตามโครงการรถไฟฟ้าสาย  สีม่วง ช่วงเตาปูน ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ทั้งนี้รฟม.อยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาก่อสร้างงานโยธา เพื่อให้สามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ภายในเดือนธันวาคม 2564 โดยมีแผนจะเปิดให้บริการแก่ประชาชนภายในเดือนมีนาคม 2570

อัพเดทล่าสุด “รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้” ถึงไหนแล้ว

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีระยะทาง 23.6 กิโลเมตร แบ่งเป็นโครงสร้างใต้ดิน 12.6 กิโลเมตร และโครงสร้างยกระดับ 11 กิโลเมตร แนวเส้นทางของโครงการเริ่มต้นจากสถานีเตาปูน (สถานียกระดับ) ซึ่งเป็นสถานีร่วมของรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม และรถไฟฟ้ามหานคร     สายเฉลิมรัชมงคล วิ่งไปตามถนนสาย ง 8 เป็นโครงสร้างยกระดับข้ามคลองบางซื่อ จากนั้นค่อยๆ ลดระดับลงเป็นโครงสร้างใต้ดินลอดใต้กรมสรรพาวุธทหารบก เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนทหาร ผ่านแยกเกียกกาย เข้าสู่ถนนสามเสน ผ่านรัฐสภาแห่งใหม่ โรงเรียนราชินีบน กรมชลประทาน โรงพยาบาลวชิรพยาบาล หอสมุดแห่งชาติ คลองบางลำพู เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพระสุเมรุ ผ่านวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ถนนราชดำเนินกลาง เข้าสู่ถนนมหาไชย ผ่านวัดราชนัดดารามวรวิหาร สวนรมณีนาถ เข้าสู่ถนนจักรเพชร ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปกเกล้า เข้าสู่ถนนประชาธิปก ผ่านสี่แยกบ้านแขก ลอดใต้วงเวียนใหญ่ เข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ผ่านโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ลอดใต้แยก  มไหสวรรย์ จากนั้นเปลี่ยนเป็นโครงสร้างยกระดับวิ่งไปตามถนนสุขสวัสดิ์ ผ่านแยกดาวคะนอง แยกบางปะแก้ว   แยกประชาอุทิศ ข้ามทางพิเศษเฉลิมมหานคร สะพานภูมิพล 1 ผ่านสามแยกพระประแดง และสิ้นสุดที่บริเวณครุใน  มีสถานีรวมทั้งสิ้น 17 สถานี  แบ่งเป็น สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี มีอาคารจอดแล้วจร 2 แห่ง และอาคารจอดรถไฟฟ้า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งานเข้ารฟม.!! ประชาชนค้าน "รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้"

ทะลวงเพิ่ม เส้นทางรถไฟฟ้า

รฟม.เข็น "สายสีส้มตะวันตก-ม่วงใต้" จ่อประมูลปีนี้

รฟม.ลุยเวนคืน"ม่วงใต้" ประมูลปลายปี 1.24 แสนล้าน

สายสีม่วงเฮ ลดค่าโดยสาร อีก 3 เดือน ถึง 30 ก.ย.63