รฟท.เคาะขยายสัญญารถไฟ‘ไทยจีน-สายสีแดง’

14 ก.พ. 2564 | 05:05 น.

บอร์ดรฟท.เคาะขยายสัญญารถไฟไทย-จีน ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ออกไป 217 วัน เหตุติดปัญหารื้อย้ายเสาโทรเลข เตรียมเดินหน้า 4 สัญญา จ่อลงนามสัญญาจ้างภายใน 2 เดือน สัญญา 3-1 รอศาล ชี้ขาด ขณะที่โครงการรถไฟสายสีแดง สัญญาที่ 3 ขยายเวลาอีก 223 วัน หลังติดปัญหาการจ่ายไฟ ด้านรฟท.ยืนยันไม่กระทบการเดินรถ-เปิดให้บริการโครงการฯ 

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  ขยายโครงข่ายระบบราง ในหลายเส้นทาง แต่บางโครงการอาจล่าช้า จำเป็นต้องขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไป

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) หรือรถไฟไทย-จีน จำนวน 14 สัญญา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ระยะทาง 235 กิโลเมตร(กม.) เบื้องต้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบสัญญา 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. ให้ขยายเวลาออกไป 217 วัน ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2563 - 26 พฤษภาคม 2564 เนื่องจากติดปัญหาภายหลังการลงพื้นที่สำรวจพบว่าต้องรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคและเดินสายเสาโทรเลขใหม่เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเดินรถของโครงการฯ 

ที่ผ่านมารฟท.ได้ลงนามสัญญาร่วมกับเอกชนแล้ว จำนวน 5 สัญญา ประกอบด้วย สัญญา 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 21.6 กม. มี บริษัท กรุงธนเอนจิเนียร์ก่อสร้าง จำกัด 9,838 ล้านบาท สัญญา 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. มี บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด (BINA จากมาเลเซีย-นภาก่อสร้าง) ก่อสร้าง 9,848 ล้านบาท สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. มีกลุ่มกิจการร่วมค้า SPTK ก่อสร้าง 7,750 ล้านบาท และสัญญา 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม. มี บริษัท ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ก่อสร้าง 8,560 ล้านบาท ได้ดำเนินการทำหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญา 36 เดือน ขณะที่สัญญา 3-2 อุโมงค์มวกเหล็ก-ลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กิโลเมตร (กม.) จะเริ่มทำหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) ภายในวันที่ 19 เมษายน 2564 เนื่องจากอยู่ระหว่างการขออนุญาตจากกรมป่าไม้เพื่อเข้าพื้นที่อุโมงค์ทางลอด

ทั้งนี้ยังคงเหลืออีก 4 สัญญา อยู่ระหว่างการรอลงนามสัญญาจ้าง ประกอบด้วย สัญญา 4-2 ช่วงช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กม. สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. สัญญา 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย และสัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.60 กม. ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมเอกสารสัญญา คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 2 เดือน (กุมภาพันธ์-มีนาคม 2564) ส่วนสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม. ทางรฟท.ขอดูรายละเอียดเพิ่มเติมก่อนว่าเป็นอย่างไร 

ขณะที่สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม. วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีโครงสร้างร่วมที่ทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) นั้น ล่าสุดนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งการว่าต้องเจรจาให้ได้ข้อสรุปภายในเดือนเมษายนนี้ ด้านสัญญาที่ 1-1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. ดำเนินการโดยกรมทางหลวง (ทล.) ก่อสร้างแล้วเสร็จ 100%

รายงานข่าวจาก รฟท. กล่าวต่อว่า ด้านสัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดงและช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. ขณะนี้รฟท.อยู่ระหว่างรอศาลปกครองตัดสินผลอุทธรณ์การประกวดราคาประมูลกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และการวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เห็นว่าทางบริษัทบีพีเอ็นพี จำกัด ได้ทำการยื่นอุทธรณ์ต่อรฟท. ว่าบริษัทฯมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ รฟท.ได้พิจารณาแล้วและเห็นควรยึดตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศเชิญชวนฯ จึงได้ส่งรายงานความเห็นพร้อมเหตุผลต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เพื่อพิจารณาตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 118 ส่งผลให้บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับพันธมิตร ซีอาร์อีซี (CREC: China railway Engineering corporation) เป็นผู้ชนะการประกวดราคา โดยเป็นผู้เสนอราคา 9,349 ล้านบาท ตํ่ากว่าราคาซึ่งอยู่ที่ 11,386 ล้านบาท หรือตํ่ากว่า 2,037 ล้านบาท ฟ้องร้องถึงการประมูลสัญญาดังกล่าว โดยคาดว่าศาลปกครองใช้เวลาตัดสินภายใน 1-2 เดือน  รฟท.เคาะขยายสัญญารถไฟ‘ไทยจีน-สายสีแดง’

“หากศาลปกครองตัดสินผลอุทธรณ์แล้ว เราจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมรฟท.รับทราบ เบื้องต้นเราต้องดูว่าผลการอุทธรณ์เป็นอย่างไร ขณะเดียวกันเราต้องดำเนินการตามคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ตัดสินให้บริษัท บีพีเอ็นพี จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นผู้มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขการประกวดราคา” 

นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันที่ประชุมฯ มีมติเห็นชอบขยายสัญญาที่ 3 งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกลรวมจัดหาตู้รถไฟฟ้า สำหรับช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ออกไปอีก 223 วัน ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์-24 กันยายน 2564 เนื่องจากสัญญามีความล่าช้าจากสัญญาที่ 1-2 แล้ว โดยการขยายเวลามีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่กระทบกับการเดินรถเสมือนจริง หรือการเดินรถในส่วนอื่นๆ 

“รฟท. ยืนยันว่าจะไม่เกิดผลกระทบต่อการเดินรถและเปิดให้บริการโครงการฯ แน่นอน ที่ผ่านมาในส่วนของสัญญาที่ 1 งานโยธาสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง พบว่ามีความล่าช้า เนื่องจากมีปัญหาด้านการจ่ายไฟของการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับสัญญาที่ 2 งานโยธาสำหรับทางรถไฟบางซื่อ-รังสิต ด้วยเช่นกัน โดยปัจจุบันความคืบหน้าสัญญาที่ 1และสัญญาที่ 2 มีความก้าวหน้าแล้ว 100% ขณะที่ความคืบหน้าสัญญาที่ 3 มีความก้าวหน้ากว่า 90%”

ที่มา : หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,650 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564