TPIPP ชนะการประมูลโรงไฟฟ้าขยะ อบจ.สงขลา

29 ม.ค. 2564 | 06:27 น.

TPIPP ชนะการประมูลโรงไฟฟ้าขยะ อบจ.สงขลา เผยยังจัดทัพยื่นประมูลโรงไฟฟ้าและพัฒนา Southern Seaboard ต่อเนื่อง ล่าสุดเข้าร่วมประมูลโคราชและโรงไฟฟ้าขยะอื่น ๆ อีก 11 โครงการ รวม 135 เมกกะวัตต์

นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ หรือ TPIPP รับผิดชอบสายบัญชีและการเงิน เปิดเผยว่า อบจ.สงขลา ได้ประกาศให้บริษัทฯ เป็นผู้ชนะการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะสงขลาฯ พร้อมกับโรงกำจัดขยะที่ ตำบลเกาะแต้ว อำเภอเมือง จังหวัดสงขลาโดยทาง อบจ. ได้ระบุเหตุผลว่าให้คะแนนกับ ประสบการณ์ เทคโนโลยี ฐานะการเงิน และชื่อเสียงสูงรวมไปถึงการประกวดราคาค่ากำจัด 

 

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าขยะสงขลานี้จะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 20 ปี หลังจากเริ่มผลิต ราคาขายไฟฟ้าอยู่ที่ 5.78 บาทสำหรับ 8 ปีแรก และ 5.08 บาทสำหรับ 12 ปีหลัง ตามประกาศของกระทรวงพลังงานเนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้า VSPP (Very small power plant) 

 

นอกจากนั้น ทางบริษัทฯ ยังได้รับค่ากำจัดขยะอีก 400 บาทต่อตัน ซึ่งทางเทศบาลได้ระบุว่าต้องส่งมอบขยะ 400-700 ตันต่อวัน โดยการประมูลเป็นแบบ BOO (build-operate-own) หลังจากครบสัญญา 20 ปี ทางคู่สัญญาสามารถต่อสัญญาได้อีก5 ปีไปเรื่อยๆ ซึ่งราคาขายไฟฟ้าและค่ากำจัดต้องไปเจรจากันใหม่ในตอนนั้น โดยทางบริษัทฯประเมินว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาทสำหรับโครงการนี้

ขั้นตอนต่อจากนี้คือการ ทำผลกระทบสิ่งแวดล้อม Code of Practice หรือ COP ควบคู่ไปกับการเจรจาสัญญาสัมปทานบ่อขยะ หลังจากทั้งสองเรื่องเรียบร้อย ก็จะเป็นการเจราจาขอเซ็นสัญญา Power Purchase Agreement หรือ PPA กับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. ต่อไป 

 

นอกจากโรงไฟฟ้าขยะที่สงขลาแล้ว บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างเตรียมตัวเข้าร่วมประมูลอีก 11 โครงการรวม 135 เมกกะวัตต์ ซึ่ง TOR ของแต่ละโครงการจะทยอยออกมาในปีนี้และปีหน้า ปัจจุบันทางบริษัทฯ ได้ยื่นเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าขยะชุมชนใน จังหวัดนครราชสีมาแล้ว คาดว่าจะประกาศผลภายในเดือนกุมภาพันธ์

ส่วนความคืบหน้าของโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ Strategic Environmental Assessment (SEA) ตามหลักการของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อันเป็นกระบวนการที่เป็นระบบเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายแผนหรือแผนงาน โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและการบูรณาการด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ซึ่งนำไปใช้ในการวางแผนเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) อันมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้รับมอบอำนาจ ทำการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานเจ้าของแผนงานทำ SEA มีมติเห็นชอบกับโครงการของ TPIPP และครม.มีมติรับทราบ ซึ่งถือว่าเป็นมติครม.เห็นชอบกับโครงการตามแผน/แผนงาน/นโยบายสามเหลี่ยมมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืนของกพต. 

 

นอกจากนี้ กพต. ได้มีมติให้เร่งรัดให้กรมโยธาธิการให้ทำการเปลี่ยนพื้นที่สีเขียวเป็นสีม่วงกระทรวงพลังงาน กกพ. และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจให้จัดการทำ PPA ให้เสร็จ ภายในเดือนมีนาคม2564 และครม.มีมติรับทราบ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของบริษัทฯ ที่ต้องทำEIA/EHIA

 

บริษัทฯ ยืนยันว่าจะจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่มีการลัดขั้นตอนใด ๆ ทั้งสิ้น