โยกงบ-กู้เพิ่มเยียวยาโควิดรอบ 2 เอกชนจี้สำรองเงิน เหลือไม่พอฟื้นเศรษฐกิจ

15 ม.ค. 2564 | 08:00 น.

เยียวยาโควิดรอบ 2 คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ จ่อโยก 2 แสนล้าน จากวงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจมาใช้เยียวยา พร้อมตัดงบที่ไม่เบิกจ่าย หวั่นกระทบงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ เหลือน้อย ด้านกระทรวงการคลังยัน ยังเหลือกรอบเงินกู้ขาดดุลงบปี 64 อีก 1.27 แสนล้านบาท

 

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยและทุกประเทศทั่วโลก ทำให้รัฐบาลต่างๆต้องออกมาตรการเยียวยาเป็นเม็ดเงินมหาศาล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลายประเทศต้องกู้เงินเพิ่มเติม ส่งผลให้ระดับหนี้ของโลก(Global Debt)ปี 2563 อยู่ที่ระดับ 277 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15 ล้านล้านเหรียญสหรัฐจากปีก่อน

 

รวมถึงประเทศไทยที่ต้องออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 หรือพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งล่าสุดอนุมัติวงเงินไปแล้ว 501,845.06 ล้านบาท จึงยังคงเหลือวงเงิน 498,154.94 ล้านบาท ขณะที่มีการเบิกจ่ายใช้เงินเพียง 361,435.17 ล้านบาทเท่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม หลังการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ รัฐบาลต้องออกมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม ล่าสุดคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติเงินเยียวยารอบ 2 มาตรการเราชนะ รายละ 3,500 บาท เป็นระยะเวลา 2 เดือน ให้กับประชาชนเป้าหมายประมาณ 35 ล้านคน คาดว่าจะเป็นเม็ดเงินประมาณ 2.5 แสนล้านบาท

 

โดยที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ตามพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ได้พิจารณาที่จะโยกวงเงินกู้จากวงเงินตามแผนงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่มีกรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท มาใช้เพื่อการเยียวยาเพิ่มเติมอีก 2 แสนล้านบาท โดยจะเป็นการทยอยโยกงบ ล็อตแรกประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ทำให้เกรงว่า เงินกู้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจจะเหลือน้อย ไม่เพียงพอที่จะดูแลเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19 ได้

 

คณะกรรมการกลั่นกรองฯ จึงมีแนวทางที่จะตัดงบโครงการที่อนุมัติไป แต่ไม่มีการเบิกจ่ายเงินกู้ไปใช้ อย่างโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งมหาวิทยาลัย วงเงิน 13,000 ล้านบาท ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีก 1 โครงการ

วงเงินกู้รัฐบาล

 

กู้ขาดดุลได้1.27แสนล้าน

 

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ภายใต้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาทนั้น อนุมัติไปประมาณ 1.39 แสนล้านบาท มีการการเบิกจ่ายไป 3-4 หมื่นล้านบาท ดังนั้นจึงยังเหลือเงินที่จะใช้ได้อีก 2 แสนกว่าล้านบาท

แพตริเซีย มงคลวนิช

ขณะที่เงินกู้เพื่อการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 นั้น ยังเหลือวงเงินที่ยังไม่ได้ใช้อีก 2 แสนล้านบาท หากจะมีการโยกเงินจากวงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจไปใช้ เชื่อว่า รัฐบาลจะทยอย เพราะหากโยกไปทั้งจำนวนแล้วใช้ไม่หมด สามารถโยกกลับมาได้อีก

 

“กรอบเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนั้น ออกแบบมาเพื่อเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นหลักหรือ stop และอีกก้อนจะใช้การฟื้นฟูหลังเหตุการณ์คลี่คลายแล้ว เพื่อจะได้เดินหน้าต่อหรือ go ดังนั้นคอนเซ็ปต์จึงเป็น stop&go แต่การจะใช้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ต้องดูจังหวะและเวลาด้วย”

 

ทั้งนี้ภายใต้พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ประมาณการเงินที่จะกู้ในปี 2563  จำนวน 4.5 แสนล้านบาทและปี 2564 อีก 5.5 แสนล้านบาท แต่ปี 2563 กู้ไม่เต็มจำนวน เพราะล่าสุดมีการกู้เงินไปแล้ว 3.7 แสนล้านบาท จึงปรับเงินกู้ส่วนที่เหลือ 76,000 ล้านบาทมาอยู่ในแผนการก่อหนี้ปี 2564 และหากต้องการใช้เงินกู้เพิ่มเติม เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจน้อย ภายใต้พรบ.งบประมาณปี 2564 ยังเหลือเพดานการขาดดุลได้อีก 1.27 แสนล้านบาท

 

 

เอกชนจี้กู้เงินสำรองเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจ

 

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า รัฐบาลควรกู้เงินสำรองไว้ เพื่อใช้จ่ายในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ จากก่อนหน้าที่ได้ออกพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทแล้ว เพราะสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่น่าไว้ใจ มีการระบาดของโควิดรอบใหม่ ซึ่งนอกจากจำเป็นต้องนำเงินไปใช้เยียวยาประชาชนและภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบแล้ว ยังต้องนำไปใช้อีกหลายด้าน เช่น การสาธารณสุขในการจัดหาวัคซีน และอื่นๆ ซึ่งรัฐต้องมีเงินให้เพียงพอสำหรับการช่วยเหลือ

สุพันธุ์ มลคลสุธี

“ผมเคยเสนอแล้วว่า รัฐบาลควรกู้เงินสำรองไว้ เพราะมีเหตุจำเป็น ดูอย่างบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ วันนี้บริษัทใหญ่ๆ ออกหุ้นกู้กันเกือบหมด เพื่อป้องกันการขาดสภาพคล่อง แม้ว่าจะมีสภาพคล่องของแบงก์รัฐ แต่เวลาจะเรียกใช้ต้องใช้ได้เร็ว เพราะขั้นตอนการกู้ต้องใช้เวลาและมองว่า การกู้ไม่ได้ทำให้เสียวินัยการคลัง เพราะแม้จะทำให้ไทยมีหนี้สาธารณะเพิ่ม แต่เมื่อแลกกับการทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นก็ต้องทำ”

 

เชื่อรัฐกู้เงินเพิ่ม

 

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า มีโอกาสสูงที่รัฐจะออกพ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มและอย่าเพิ่งไปปิดทางเรื่องนี้ เพราะถือเป็นทางออกที่ต้องเตรียมการเพื่อรองรับกับกรณีเลวร้ายที่สุด (worst case) หากโควิด-19 ไม่จบในรอบสอง และมีการระบาดในรอบที่ 3 ซึ่งเวลานี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ผู้ประกอบการที่ถูกล็อกดาวน์ในรอบแรก และเพิ่งกลับมาเริ่มฟื้นกิจการได้ไม่กี่เดือนก็มาเจอโควิดรอบสอง ซึ่งรัฐต้องช่วยดูแลเป็นพิเศษ จากมีผลกระทบต่อคนงานและพนักงานในวงกว้าง เฉพาะอย่างยิ่งในภาคท่องเที่ยว และบริการ

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา

ที่มา: หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,645 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สรุปอย่างละเอียดจากมติครม.แบงก์ไหนออกมาตรการการเงินเยียวยาโควิดรอบ2

ต่อลมหายใจศก. กำ 6 แสนล้านสู้ เพิ่มเงินคนละครึ่ง-จ่าย 3,500 “เราชนะ”

สรุป"เยียวยารอบ 2" คลังจัดหนัก "พักชำระหนี้-เสริมสภาพคล่อง"

เปิดรายละเอียด 5 มาตรการ "ธนาคารออมสิน" เยียวยาโควิดรอบ2

สรุป เราชนะลงทะเบียน 3500 ความคืบหน้า เงื่อนไข กลุ่มไหนได้-ไม่ได้รับสิทธิ ล่าสุดครบจบที่นี่