เร่งกู้ชีพ “สมุทรสาคร” สะเทือนหนักจีพีพี 4 แสนล้าน

27 ธ.ค. 2563 | 01:37 น.

นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.สมุทรสาคร ให้สัมภาษณ์ถึงข้อมูลด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด หลังเป็นต้นทางของการแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่

จากมีผู้ติดเชื้อโควิดที่มีความเกี่ยวเนื่องกับตลาดกุ้งในตลาดทะเลไทย นำสู่การแสดงความรับผิดชอบปิดตลาดทะเลไทย 14 วันตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2564 หลังจากนั้นพบมีผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ลามถึงการปิดทำการซื้อขายสินค้าสัตว์น้ำในตลาดปลาสหกรณ์ประมงแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงครามตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2563 ถึง 4 มกราคม 2564

 

ขณะที่นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. แถลงรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2563 พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เกี่ยวเนื่องสมุทรสาครยอดสะสม 185 คน รวม 33 จังหวัด ทั้งนี้นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ระบุว่า หากรัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดระลอกใหม่ให้คลี่คลายภายใน 7-14 วัน ถือว่าไม่น่าห่วง แต่หากจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นและกระจายออกไปยังจังหวัดอื่น ๆ วงกว้าง เบื้องต้นคาดจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย 1,500-2,000 ล้านบาทต่อวัน หรือ 50,000-60,000 ล้านบาทต่อเดือน

 

วันนี้ “ฐานเศรษฐกิจ”จะพามารู้จักกับจังหวัดสมุทรสาคร ต้นทางการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ในมุมมองด้านเศรษฐกิจผ่านนายอภิสิทธิ์  เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และยังดำรงตำแหน่งนายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทยด้วย

 

นายอภิสิทธิ์ เผยว่า จังหวัดสมุทรสาครมีมูลค่าทางเศรษฐกิจหมุนเวียนเฉลี่ยวันละ 1,000 ล้านบาท เป็นภาคอุตสาหกรรมสัดส่วน 70% ขณะนี้โรงงานในพื้นที่ยังคงเปิดดำเนินการตามปกติ และยังผลิตผลิตสินค้าได้ตามออร์เดอร์ อย่างไรก็ดีผลกระทบจากโควิดที่ระบาดรอบใหม่นี้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของสมุทรสาครประมาณวันละ 1,000 ล้านบาท ประเมินจากที่ได้คุยกับประธานบริหารสหกรณ์พัฒนาการประมงมหาชัย จำกัด หรือตลาดทะเลไทย ระบุว่า ช่วงสถานการณ์ปกติจะมีมูลค่าการซื้อขายกว่า 100 ล้านบาทต่อวัน

 

เร่งกู้ชีพ “สมุทรสาคร” สะเทือนหนักจีพีพี 4 แสนล้าน

                                           อภิสิทธิ์  เตชะนิธิสวัสดิ์

ผลกระทบต่อมาคือซัพพลายอาหารที่มาจาก 22 จังหวัดชายทะเล รวมถึงเกษตรกรที่เพาะเลี้ยง สินค้าประมงทุกชนิดที่ต้องส่งของเข้ามาขายที่ตลาดทะเลไทยก็ได้รับผลกระทบทั้งหมด เรือประมงที่เข้ามาตอนนี้ขึ้นของไม่ได้ ก็กำลังมีปัญหา เพราะตลาดทะเลไทยถูกปิด วัตถุดิบเสียหาย อุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบอย่างตลาดกุ้งที่โดนปิดไปก็เสียหายจากคนลดการบริโภคในประเทศและผลิตเพื่อส่งออก อันนี้ก็เสียหายเหมือนกัน

 

นอกจากนี้เศรษฐกิจในตัวจังหวัดตอนนี้ก็ไม่มีใครกล้ามาสมุทรสาคร พอไม่กล้ามีเศรษฐกิจจังหวัดก็มีปัญหา คนไม่มาก็ขายของไม่ได้ และยังมีล็อกดาวน์อีกคราวนี้พวกร้านอาหารก็เปิดไม่ได้ คนที่มาเที่ยวก็ไม่มีใครอยากมา ระบบโลจิสติกส์ของที่ต้องซัพพลายมาที่ตลาดที่จะเอาไปขายต่อหรือไปผลิตต่อก็หยุดเหมือนกัน ดังนั้นตัวเลขเศรษฐกิจเสียหายก็เหยียบพันล้านต่อวัน ขณะคาดจะกระทบต่อการจัดเก็บภาษีรายได้ของจังหวัดที่ปกติจะจัดเก็บได้กว่า 180,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งก็หวังว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะสามารถควบคุมให้อยู่ในวงจำกัด และดีขึ้นเพื่อตัวเลขความเสียหายต่าง ๆ ของจังหวัดจะได้ลดลง

 

สำหรับจังหวัดสมุทรสาครเป็นเมืองเศรษฐกิจที่มีศักยภาพทั้งด้านอุตสาหกรรม การประมง และเกษตรกรรม จากข้อมูลสถิติผลิตภัณฑ์ภาคและจังหวัด(GPP) ประจำปี 2561ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่าสมุทรสาครเป็นจังหวัด 1 ใน 10 ของประเทศที่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมสูงตลอดมา โดยในปี 2561 สมุทรสาคร มี GPP มูลค่า 406,245 ล้านบาท  มีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับ 8 ของประเทศที่ 389,818 บาทต่อคนต่อปี  โดยโครงสร้างการกระจายรายได้ขึ้นอยู่กับนอกภาคเกษตรเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 98 หรือมีมูลค่า 398,527 ล้านบาท โดยสาขาการผลิตหลักของนอกภาคเกษตรคือ สาขาอุตสาหกรรม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 72 รองลงมาคือภาคบริการ การค้าส่งค้าปลีก เป็นต้น

 

ข้อมูล ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2563 สมุทรสาคร มีโรงงานอุตสาหกรรมรวม 6,082 โรงงาน โดย 5 อันดับแรกอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก 1,188 โรงงาน, อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ 1,046 โรงงาน,อุตสาหกรรมอาหาร 731 โรงงาน,สิ่งทอ 422 โรงงาน และอุตสาหกรรมผลิตโลหะขั้นมูลฐาน 326 โรงงาน  ที่เหลือเป็นอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยทุกอุตสาหกรรมมีคนงานรวมกัน 345,284 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตถูกกฎหมาย 233,071 คน(ข้อมูล ณ วันที่ 25 ต.ค.2563)

 

เร่งกู้ชีพ “สมุทรสาคร” สะเทือนหนักจีพีพี 4 แสนล้าน

 

“โรงงานอุตสาหกรรมในสมุทรสาครมีทั้งหมด 6,082 โรงงาน ใน 8 สาขา เช่น อุตสาหกรรมพลาสติก โลหะ แต่ในอุตสาหกรรมอาหารเฉพาะกุ้งกับทูน่า และอาหารสัตว์เลี้ยง ก็ส่งออกรวมกันกว่า 2 แสนล้าน ซึ่งขณะนี้แม้มีล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวก็ไม่มีปัญหากับภาคอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งหากโรงงานถ้าไม่ได้เกี่ยวข้องกับตลาดกุ้งก็ไม่มีปัญหาอะไร ยังดำเนินการผลิตปกติ ส่วนพวกห้องเย็น(โรงงานแปรรูปกุ้ง)ไม่ปิดอยู่แล้วเพราะไม่ได้มีปัญหา วัตถุดิบกุ้งส่วนใหญ่ก็จับจากฟาร์มเลี้ยงที่เขามีคอนแทร็กส่งตรงมายังโรงงาน ส่วนตลาดทะเลไทยก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เขาไปประมูลมา”

 

อย่างไรก็ดีสมุทรสาครถือเป็นเมืองหลวงของอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ มีโรงงานด้านอาหารถึง 731 โรง มูลค่าการส่งออกอาหารส่วนใหญ่ของประเทศก็ส่งออกจากที่นี่ ส่วนตลาดทะเลไทยก็เป็นตลาดค้าอาหารทะเลใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นเราหวังสถานการณ์โควิดจะคลี่คลายลงโดยเร็ว เพื่อให้เศรษฐกิจของจังหวัดกลับมาฟื้นตัว

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สมุทรสาครปรับใช้"สนามกีฬาจังหวัด" เป็นศูนย์พักฟื้นกักตัว

สว.แนะกำแพงชั้น4คุม"โควิดสมุทรสาคร"

นพ.ยง เตือนโควิดระบาดระลอกนี้ อยู่ในช่วงขาขึ้น

รวมข่าว "โควิด-19" วันที่ 27 ธ.ค. 63 แบบอัพเดทล่าสุด