“กพช.” อนุมัติเพิ่มราคาซื้อไฟเป็น 2.20 บาทโซลาร์ภาคประชาชน

25 ธ.ค. 2563 | 08:13 น.

นายสุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาเปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบตามมติการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ครั้งที่ 8/2563 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชน โดยแบ่งเป็นการดำเนินการ 2 ส่วน ดังนี้

1.ปรับเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินจากกลุ่มบ้านผู้อยู่อาศัย (โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ภาคประชาชน) ที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเป็น 2.20 บาท/กิโลวัตต์ (kWh) จากเดิมรับซื้อในราคาไม่เกิน 1.68 บาท/kWh เป้าหมายการรับซื้อ 50 เมกะวัตต์ (MWp) ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 โดยให้ครอบคลุมทั้งประชาชนที่เข้าร่วมโครงการใหม่และที่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว ซึ่งการปรับเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้าให้ผลตอบแทนดีขึ้น สามารถคืนทุนภายใน 8 - 9 ปี เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุนและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนประเภทบ้านอยู่อาศัย

2.ขยายผลการดำเนินโครงการฯ ไปยังกลุ่มโรงเรียนสถานศึกษา โรงพยาบาล และสูบน้ำเพื่อการเกษตร (โครงการนำร่อง) โดยกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินที่จำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ในอัตรา 1.00 บาท/kWh แบ่งเป็นกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา 20 MWp กลุ่มโรงพยาบาล 20 MWp และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 10 MWp หน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้จะต้องมีกำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 10 kWp แต่น้อยกว่า 200 kWp ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี เพื่อให้เหมาะสมกับปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าและศักยภาพพื้นที่ สำหรับติดตั้งระบบโดยเฉลี่ย และส่งเสริมระบบผลิตไฟฟ้าแบบกระจาย

“กพช.” อนุมัติเพิ่มราคาซื้อไฟเป็น 2.20 บาทโซลาร์ภาคประชาชน

ทั้งนี้  ในกรณีการลงทุนโดยภาครัฐในส่วนของกลุ่มโรงเรียนและโรงพยาบาล มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน  โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานรับไปหารือกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม

“คาดว่าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์ภาคประชาชนและโครงการนำร่องในกลุ่มโรงเรียนและโรงพยาบาล จำนวน 100 MWp จะสามารถสร้างการลงทุนได้กว่า 3,000 ล้านบาท โดย kWh หมายถึง หน่วยที่ใช้บอกขนาด หรือปริมาณของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้งาน พลังงานไฟฟ้า 1 ยูนิต หรือ 1 หน่วย เท่ากับ 1กิโลวัตต์-ชั่วโมง (kilo watthour
      = กำลังไฟ 1 กิโลวัตต์ใช้งานนาน 1ชั่วโมง) ส่วน MWp หมายถึง เมกะวัตต์สูงสุดของแผงโฟโตโวลเทอิก (Photovoltaic Panel) ณ สภาวะทดสอบมาตรฐาน (Standard Test Condition)”

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า กระทรวงพลังงานและหน่วยงานในสังกัด ได้จัดทำแผนงาน/โครงการของขวัญปีใหม่สำหรับประชาชน ประจำปี 2564 และการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลงานของหน่วยงานและของรัฐบาล ดังนี้

1. การลด/ตรึงราคาพลังงาน ได้แก่ 1.1 กำหนดตรึงราคาน้ำมัน โดยบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2564 เพื่อลดค่าใช้จ่ายระหว่างการเดินทางช่วงปีใหม่ รวมมูลค่าประมาณ 150 ล้านบาท ,1.2 การขยายระยะเวลาการคงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กำหนดราคาที่ 14.3758 บาทต่อกิโลกรัม มีกรอบเป้าหมายให้ราคาขายปลีกอยู่ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 รวมมูลค่า 1,890 ล้านบาท

,1.3 การปรับลดอัตราค่า Ft (ค่าไฟฟ้าผันแปร) โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.)จากเดิม -12.43 สตางค์ เป็น -15.32 สตางค์ ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง 2.89 สตางค์ ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 จะทำให้สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้เดือนละประมาณ 400 ล้านบาท รวมมูลค่า 1,600 ล้านบาท

 

,1.4 ขยายเวลายกเว้นการเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) สกพ. ให้ผู้ประกอบการ กิจการขนาดกลาง ขนาดใหญ่ กิจการเฉพาะอย่าง องค์กรไม่แสวงหากำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร ออกไปอีก 3 เดือน ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการจากผลกระทบ COVID-19 จะสามารถบรรเทาผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3 – 7 ได้ประมาณ 50 ล้านบาทต่อเดือน รวมมูลค่า 150 ล้านบาท

2.การมอบคูปองส่วนลดสำหรับซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าเบอร์ 5 ได้แก่ โครงการช้อปหารสอง โดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แจกคูปองส่วนลดสำหรับซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าเบอร์ 5 ติดดาว จำนวน 25,000 สิทธิ์ และคูปองส่วนลดสำหรับซื้อสินค้าชุมชน กฟผ. จำนวน 17,000 สิทธิ์ สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2563 และใช้สิทธิ์ได้ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 รวมมูลค่า 15.8 ล้านบาท

3. การมอบคูปองส่วนลดสำหรับที่พักที่เขื่อน กฟผ. ประกอบด้วย โครงการเที่ยวหารสอง โดย กฟผ. แจกคูปองส่วนลดครึ่งราคาที่พักเขื่อน กฟผ. จำนวน 10,000 สิทธิ์ สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2563 และใช้สิทธิ์ได้ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 รวมมูลค่า 23 ล้านบาท

“ด้วยในสถานการณ์ โควิด-19 (Covid-19) ที่ระบาดรอบใหม่ที่เกิดขึ้นอยู่ในช่วงนี้ จึงได้ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น โดยการร่วมกับ กฟผ. ,บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ,บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ,บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และสมาคมเอทานอล จัดหาแอลกอฮอล์ในการทำความสะอาดเพื่อบรรเทาผลกระทบเบื้องต้นของเชื้อ Covid-19 และจะช่วยเหลือดูแลในส่วนที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมต่อไป”