จากรถไฟฟ้า สายสีส้ม ถึง สายสีเขียว วิบากกรรม BTS

13 ธ.ค. 2563 | 04:01 น.

จากสายสีส้มถึงสายสีเขียว วิบากกรรม BTS ปมร้อนรถไฟฟ้า 2 สาย ฟ้องศาลปกครอง รฟม. กับ คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 รื้อเกณฑ์ประมูล -สายสีเขียวถูกคมนาคมเบรกต่อสัญญา ขยายสัมปทาน และหนี้แสนล้าน กทม. ค่าโดยสาร 65 บาทแพงไป

 ปมร้อนรถไฟฟ้า 2 สาย กำลังเป็น “ก้างตำคอ”ของใครหลายคน เริ่มจาก สายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี) มูลค่า 1.42 แสนล้านบาท วิ่งออกจากต้นทางมาดีๆ กลับเบรกหัวทิ่มแหกโค้งลงข้างทาง เมื่อการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กับ คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติ (พรบ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีมติเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์เงื่อนไข การประมูลหรือรื้อเกณฑ์ทีโออาร์ สายสีส้มใหม่ โดยพิจารณาซองเทคนิคร่วมกับซองราคา ซึ่งเทคนิควัดที่ 30 คะแนน ราคา 70 คะแนน แทนการยึดที่ราคาเป็นตัวชี้ขาด ส่งผลให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ สำหรับเอกชนที่ซื้อซองทั้ง 10 ราย กระทั่งบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) BTSC

 

ต้องยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง ขอคุ้มครองฉุกเฉินระงับใช้เกณฑ์ใหม่และชะลอเดินหน้าประมูลไว้ชั่วคราวจนกว่าผลทางคดีจะชี้ชัดว่าใครผิดหรือถูกระหว่างคณะกรรมการตามมาตรา 36 กับฝั่ง BTSC ขณะเดียวกัน BTSC ยังหวั่นวิตกว่า อาจซํ้ารอยเมืองการบินอู่ตะเภา หากอัยการผู้ชี้ขาดยังเป็นคนหน้าเดิม อย่างไรก็ตามหากย้อนไปก่อนหน้านี้ มักพบว่าระยะหลังกลุ่มบีทีเอส มักได้งานของ รฟม. ไม่ว่าจะเป็นสายสีชมพู สายสีเหลือง แม้กระทั่งการให้บริการดูแลค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา กับ มอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี แม้กระทั่งเมืองการบินอู่ตะเภา ล้วนมาจากการตัดสินที่ซองราคากระทั้งมาถึงสายสีส้ม โครงการซึ่งเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ใหญ่ “ทางราง” รองจาก สายสีเขียว และสายสีนํ้าเงิน ศึกประวัติศาสตร์ชิงงานขัดแข้งขัดขาจึงเกิดขึ้น

จากรถไฟฟ้า สายสีส้ม ถึง สายสีเขียว วิบากกรรม BTS

โดยมีชนวนเหตุมาจากยักษ์รับเหมารายหนึ่ง มีหนังสือร้องค้านผ่านกรมบัญชีกลางและส่งต่อมายังคณะกรรมการ มาตรา 36 โดยมีถ้อยคำสรุปว่า คุณสมบัติผู้รับสัมปทานควรยึดโยงถึงผลประโยชน์ของรัฐและผู้ใช้บริการเป็นหลัก เนื่องจากเส้นทางส่วนใหญ่มุดลงใต้ดิน และผ่านจุดอ่อนไหว อย่างเกาะรัตนโกสินทร์ ชุมชนใหญ่ บ้านเรือนประชาชนอีกทั้งลอดผ่านใต้แม่นํ้าเจ้าพระยา ดังนั้นควรใช้เกณฑ์เทคนิค เป็นตัวชี้ขาดมากกว่าเรื่องราคา ขณะเดียวกันวงในยังมีเสียงเล็ดออกมาว่า พบไอ้โม่งบงการบีบคอขอค่าหัวคิวอยู่เบื้องหลังจริงเท็จประการใด ต้องลำดับภาพกันเอาเอง สำหรับ BTSC แม้จะตกอยู่ในฝ่ายเพลี่ยงพลํ้าแต่สู้ขาดใจ และยํ้าในจุดยืนที่ว่าไม่ว่าผลวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดจะออกมาอย่างไร ต้องยอมรับชะตากรรม เรื่องนี้จึงกลายเป็นวิบากกรรม ของ BTS ที่ผิดไปจากแผนขยายโครงข่ายขยายเส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่ที่ต้องรอว่าศาลสูงสุดจะอ่านคำวินิจฉัยไปทางใด เรื่องสายสีส้มยังไม่ทันจาง BTSC ต้องเจอกับวิบากกรรมเคราะห์ซํ้ากรรมซัดอีกระลอกเมื่อกระทรวงคมนาคม คัดค้านการต่ออายุสัญญาขยายสัมปทานสายสีเขียวแลกกับภาระหนี้ มูลค่า 100,700 ล้านบาทของกระทรวงมหาดไทยโดยกรุงเทพมหานคร กลางที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

 

 

 

โดยเฉพาะ ปมราคาค่าโดยสาย 65 บาทตลอดสาย มองว่ายังสูงเกินไปอาจกระทบประชาชนผู้ใช้บริการ เมื่อเทียบกับ สายสีนํ้าเงิน ที่ราคาอยู่ที่เฉลี่ยเพียง 42 บาท และทิ้งปมข้อเสนอไว้ในครม.ให้ขบคิดว่า สายสีเขียวส่วนต่อขยายสามารถเปิดประมูล หาผู้รับสัมปทานรายใหม่ได้ไม่ใช่ว่ากทม.จะโยนทรัพย์ที่มีมูลค่า ไปให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดครอบครอง และเชื่อเหลือเกินว่าจะมี นักลงทุนหลายรายให้ความสนใจ พร้อมทำราคาค่าโดยสารให้ตํ่าลงได้ ทั้งนี้ยังฉายภาพต่อว่า หากเปรียบสายสีเขียวเสมือนหัวใจ อวัยวะภายใน สายสีนํ้าเงิน เสมือนเส้นเลือดใหญ่เส้นเลือดฝอย ซึ่งล้วนสำคัญยิ่ง และหากทุกคนให้หันไปมองสายสีส้ม เสมือนมวลร่างกาย ซึ่งกำลังต่อสู้แย่งชิงกัน เชื่อว่าสายสีเขียวที่เป็นถึงหัวใจย่อม ไม่มีใครยอมปล่อยผ่าน เรื่องนี้ต้องติดตามศึกขุมทรัพย์รถไฟฟ้า 2 สาย หนังอีกม้วนที่น่าจับตายิ่ง!!!

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 8 ฉบับที่ 3,635 วันที่ 13 - 16 ธันวาคม พ.ศ. 2563