“ถุงมือยาง” ไทยพลาดโอกาสทองแทน “มาเลย์”

06 ธ.ค. 2563 | 04:20 น.

วิพากษ์ แรง "บิ๊กค้ายาง" ผนึก นักวิชาการ อัดเละ “ถุงมือยาง” ไทย พลาดโอกาสทองแทน มาเลย์พลาดท่าคนงานติดโควิด ปิดกิจการระนาว ขณะที่ ทั่วโลก เห็นโอกาส พยายามผลิตเพื่อ แย่งแบ่งส่วนตลาด

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ที่ขยายทั่วโลก ทำให้ปริมาณการใช้ถุงมือยางเพิ่มมากขึ้น ทั้งด้านการแพทย์ การสาธารณสุข รวมถึงการใช้ถุงมือยางในภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ  เช่น อาหาร เครื่องดื่ม อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ดังนั้น เพื่อความสะอาดและความปลอดภัยที่เพิ่มสูงขึ้น อุตสาหกรรมถุงมือยางจึงสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างมูลค่าและรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกถุงมือยางอันดับ 2 ของโลก

 

วรเทพ วงศาสุทธิกุล

 

นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล ประธานกรรมการบริษัทและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึง กรณี "ถุงมือยาง" เป็นเรื่องสำคัญของโลก ในชีวิตมีครั้งเดียว เกิดใหม่ก็ไม่เจอแล้ว เรื่องสำคัญไม่พูดถึงเลย แม้แต่ กระทรวงพาณิชย์ ที่ไปทำเรื่องการค้าขายก็พูดไม่รู้เรื่อง มัวแต่ไปพูดเรื่องอะไรก็ไม่รู้เรื่อง หากเปรียบเทียบเหตุการณ์ในอดีต เคย สูงสุดในช่วงโรคเอดส์ ราคายางแผ่นดิบ จาก 800 ดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นไปถึง 2,500 ดอลาร์สหรัฐ ในปี2531  และ ช่วงปี 2554  เทียบกับเงินบาท ราวเกือบ 2,000 บาท ตอนนั้นน้ำยางข้นขึ้นไปถึง 100 บาท /กิโลกรัม ปีนี้ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19  ความแรงของราคายังน้อย พราะมีตัวยางสังเคราะห์ หรือยางไนไตร ขึ้นมาแทรก แต่ตอนปี1988 ไม่มียางไนไตร

 

“แต่ไทย ก็มีโอกาส บริษัททอป กลัฟ ผู้ผลิตถุงมือยางเจ้าใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งตั้งอยู่ในมาเลเซีย ประกาศที่จะทยอยปิดโรงงาน 28 แห่ง จากทั้งหมด 41 แห่ง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19  จังหวะนั้นไทยจะต้องผงาดแย่งตลาดมาครองแทน แต่ไทยกลับไม่ได้ทำอะไรเลย เป็นเรื่องน่าเสียดายมาก”

 

ดร.มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร

 

สอดคล้อง ดร.มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เสียดาย โอกาสมาครั้งเดียว แล้วเราไม่คว้า เพราะถ้าเราไม่คว้าโอกาสก็จะมีสินค้าทดแทน กล่าวคือ  ทั่วโลกก็เห็นโอกาส จะพยายามผลิตอะไรเพื่อมาแทรก มาแทน เพื่อที่จะได้ส่วนแบ่ง แต่เราก็ไม่ได้ทำอะไร ปล่อยให้โอกาสหลุดลอยไป

 

อนึ่ง ไทยส่งออก "ถุงมือยาง" มากเป็นลำดับสองของโลก รองจากมาเลเซีย โดยมีมูลค่าการส่งออกในปี 2562 ประมาณ 37,381 ล้านบาท หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้ถุงมือยางของโลกเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปริมาณการส่งออกถุงมือยางสูงถึง 20,540 ล้านคู่ (เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกัน ในปี 2562 ร้อยละ 22.08) คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 53,802 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 72.47) แบ่งเป็นถุงมือผ่าตัดประมาณ 732 ล้านคู่ คิดเป็นมูลค่า 7,407 ล้านบาท และถุงมือตรวจโรคหรือถุงมือแม่บ้านประมาณ 19,808 ล้านคู่ มูลค่า 46,395 ล้านบาท

 

ดังนั้น เมื่อเทียบตัวเลขการส่งออกถุงมือยางของไทย ปี 2562 และ ปี 2563 จะเห็นว่าปริมาณการส่งออกปี 2563 เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดย 5 อันดับแรกที่นำเข้าถุงมือยางจากไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา มูลค่า 20,643 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.29 จากปี 2562) รองลงมาเป็นประเทศอังกฤษ มูลค่า 3,954 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 941.72 จากปี 2562) ลำดับที่สาม ประเทศญี่ปุ่น มูลค่า 2,977 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 61.17 จากปี 2562) ประเทศจีน มูลค่า 2,905 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 131.6 จากปี 2562) และเยอรมนี มูลค่า 2,498 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.86 จากปี 2562)