รฟท.ลุยประมูลที่ดิน 10 สัญญา จ่อชงบอร์ดไฟเขียว 12 พ.ย.นี้

29 ต.ค. 2563 | 07:10 น.

รฟท. เร่งรัดประมูลที่ดิน หวังหารายได้เดินรถ 10 สัญญาภายในปีนี้ จ่องชงบอร์ดรฟท.เคาะสัญญาเช่าหมดอายุ 12 พ.ย.นี้ เตรียมส่งต่อบริษัทลูกบริหารสินทรัพย์ดำเนินการ

นายเอก สิทธิเวคิน รองผู้ว่าการ กลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ของ รฟท.โดยระบุว่า ที่ประชุมได้เร่งรัดให้ รฟท.เปิดประมูลพื้นที่ในที่ดินที่สามารถดำเนินการได้ทันที เพื่อเป็นแนวทางหารายได้เข้าองค์กรนอกเหนือจากรายได้การเดินรถ ซึ่งเบื้องต้น ร.ฟ.ท.มีเป้าหมายจัดประโยชน์ที่ดินใหม่ จำนวน 10 สัญญา สร้างรายได้ทันทีภายในปีนี้

 

“ที่ประชุมได้เร่งรัดให้รฟท. หารายได้ทรัพย์สินที่มี โดยปัจจุบันการรถไฟฯ เรามีที่ดินอยู่ราว 3 หมื่นไร่ ก็ต้องสร้างผลประโยชน์ตอบแทนให้ได้มากที่สุด รวมทั้งที่ประชุมยังได้เร่งพิจารณาคดีความที่ศาลพิพากษาในส่วนของสัญญาเช่าที่ดินต่างๆ ให้แล้วเสร็จ เพื่อนำที่ดินมาจัดประโยชน์ใหม่เพิ่มเติม แต่มูลค่าผลประโยชน์ตอบแทนจะเป็นเท่าไหร่ ขณะนี้ยังศึกษาไม่แล้วเสร็จ”

ขณะเดียวกันการหารือในที่ประชุมครั้งนี้ ถือเป็นการหารือในส่วนของขั้นตอนดำเนินงาน ซึ่งนโยบายของกระทรวงฯ ต้องการเร่งรัดให้ ร.ฟ.ท.จัดหารายได้ หาประโยชน์ตอบแทนจากทรัพย์สินให้ได้มากที่สุด โดยเป้าหมายแรก ร.ฟ.ท.จะต้องกลับไปพิจารณาข้อมูลสัญญาเช่าที่มีอยู่ หากมีสัญญาใดที่หมดอายุสัญญาเช่าแล้ว จะต้องพิจารณาแนวทางต่อสัญญาหรือเปิดประมูลใหม่ให้เหมาะสม โดยสัญญาเช่าที่ต้องเร่งพิจารณาจัดประโยชน์ใหม่ 10 สัญญาภายในปีนี้ อาทิ ที่ดินย่านองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ติดกับรถไฟฟ้าสถานีสะพานควาย เป็นต้น

 

รายงานข่าวจาก ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) วันที่ 12 พ.ย.นี้ ร.ฟ.ท.จะมีการนำเสนอแนวทางจัดประโยชน์ที่ดินใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นที่ดินในสัญญาเช่าเก่า หมดอายุสัญญาแล้ว หรือกำลังจะหมดอายุสัญญา ซึ่งจะเป็นหารจัดประโยชน์ที่ดินใหม่เพื่อหารายได้เข้าองค์กรทันทีและต่อเนื่อง โดยเบื้องต้นสัญญาที่จะนำมาพิจารณา มีจำนวนประมาณ 10 สัญญา อาทิ สัญญาที่ดินตลาดปลาศรีสมรัตน์ (จตุจักร) และสัญญาเช่าที่ดินวิเศษสถาปัตย์

 

“ตอนนี้ฝ่ายทรัพย์สินการรถไฟฯ เป็นเมืองฝ่ายซัพพอร์ต ต้องจัดเตรียมข้อมูลสัญญาเช่า และพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งหมด เพื่อเตรียมมอบให้บริษัทลูกบริหารสินทรัพย์นำไปบริหารจัดหารายได้ แต่เนื่องอาจต้องใช้ระยะเวลาในการจัดตั้งบริษัทลูกพอสมควร ดังนั้นการรถไฟฯ จึงมีแนวคิดที่จะเร่งหารายได้ในส่วนสัญญาเช่าที่ดำเนินการได้ทันที ซึ่งเป็นสัญญาเช่าเดิม หากบอร์ดอนุมัติก็จะเริ่มหารายได้เข้าองค์กรภายในปีนี้”

 

อย่างไรก็ตามแนวทางจัดประโยชน์ใหม่ ที่จะมีการเสนอขออนุมัติจากบอร์ด ร.ฟ.ท. มี 2 แนวทาง คือ 1.เจรจาต่อสัญญาเช่าจากคู่สัญญารายเดิม และ 2. เปิดประกวดราคาจัดหาคู่สัญญาเช่ารายใหม่ แต่ทั้งสองแนวทางนั้น จะจัดทำในอายุสัญญาระยะสั้น เพื่อสามารถส่งต่อสัญญาเช่าให้กับบริษัทลูกบริหารสินทรัพย์นำไปดำเนินการพัฒนาตามแผนที่วางไว้  ส่วนพื้นที่เชิงพาณิชย์แปลงใหญ่ อาทิ สถานีแม่น้ำ และสถานี กม. 11 รวมไปถึงพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟขนาดใหญ่ ตามหัวเมืองต่างจังหวัด ร.ฟ.ท.จะไม่ดำเนินการจัดหาประโยชน์ใหม่ในขณะนี้ เพราะต้องการส่งมอบให้บริษัทลูกนำไปดำเนินการในทันทีหลังจากจัดตั้งบริษัทแล้วเสร็จ เช่นเดียวกับพื้นที่แปลง A สถานีกลางบางซื่อ ก็จะดำเนินการจัดหาเอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) ซึ่งท้ายที่สุดบริษัทลูกจะต้องเป็นผู้ดำเนินการ