2 ยักษ์ถุงมือยางมาเลย์แข่งขยายผลิต จับตาผลกระทบไทย

17 ต.ค. 2563 | 03:43 น.

Hartalega - Top Glove สองยักษ์ใหญ่ถุงมือยางโลกจากมาเลเซียแข่งขยายกำลังผลิตรับความต้องการพุ่ง จับตาอนาคตกระทบลดนำเข้าวัตถุดิบน้ำยางข้นจากไทย จากหันใช้ยางสังเคราะห์ผลิตมากขึ้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(สคต./ทูตพาณิชย์) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย รายงานว่า บริษัท Hartalega Holdings Bhd ผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ของมาเลเซีย อยู่ระหว่างขยายสายการผลิตอีก 4 สาย ในโรงงานแห่งที่ 6 ของศูนย์การผลิตถุงมือแบบบูรณาการ (Next Generation Integrated Glove Manufacturing Complex : NGC) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตถุงมือยางของบริษัท และตั้งเป้าจะก่อสร้างโรงงานแห่งที่ 7 ของ NGC เพิ่มเติมอีกในช่วงปลายปี 2563

 

Kuan Kam Hon ประธานกรรมการบริหาร Hartalega Holdings Bhd กล่าวว่า ภายในปีงบประมาณ 2565 กำลังการผลิตถุงมือยางของบริษัทจะเพิ่มอีก 44,000 ล้านชิ้น โดยจะนำเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 เข้ามาบูรณาการในกระบวนการทางธุรกิจ และการดำเนินงานต่าง ๆ ถึงแม้ว่าบริษัทฯ จะหวังให้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บรรเทาลงและมาตรการป้องกัน การแพร่ระบาดประสบความสำเร็จทั่วโลกก็ตาม อย่างไรก็ดี คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะยังคงอยู่ต่อไป อีกทั้งอุปสงค์ถุงมือยางทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลง โดยความต้องการถุงมือยางในตลาดมากขึ้นและเกิดพฤติกรรมใหม่อย่าง New Normal ดังนั้นแผนยุทธศาสตร์การเติบโตของบริษัทจึงมีความสอดคล้องกับความต้องการระยะยาวในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการสุขภาพของโลก

 

ตามแผน NGC 2.0 บริษัทฯ จะขยายและกระจายฐานการตลาดเพื่อวางรากฐานการเติบโต โดยได้จัดซื้อที่ดินเขตบันติงในรัฐสลังงอร์พื้นที่ประมาณ 384,400 ตรม. (ประมาณ 240 ไร่) เพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับแผน NGC 2.0 ใน อนาคต ประกอบด้วยโรงงานผลิต 7 แห่ง สายการผลิตจำนวน 82 สายที่มีกำลังการผลิตถุงมือยางประมาณ 32,000 ล้านชิ้น หากการขยายสายใหม่ 4 สายเสร็จสมบูรณ์ บริษัทฯ จะมีความสามารถในการผลิตถุงมือยางที่ 76,000 ล้านชิ้นต่อปี

 

2 ยักษ์ถุงมือยางมาเลย์แข่งขยายผลิต จับตาผลกระทบไทย

 

สำหรับมาเลเซียถือเป็นประเทศผู้ผลิตถุงมือยางอันดับหนึ่งของโลก โดยมี 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ครองส่วนแบ่งตลาด ส่วนใหญ่ ได้แก่ บริษัท Hartalega ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ของโลกในด้านถุงมือไนไตร์ลหรือยางสังเคราะห์ ในขณะที่ผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ของโลกอีกรายคือ Top Glove มีจุดแข็งในด้านถุงมือยางธรรมชาติ โดยมีสัดส่วนการผลิตถุงมือยางไนไตรล์คิดเป็นร้อยละ 40 ของรายรับทั้งหมดของบริษัท รองลงมาเป็นถุงมือยาง ธรรมชาติแบบมีแป้ง และไม่มีแป้งคิดเป็นสัดส่วนรวมร้อยละ 50 และถุงมือยางไวนิล/TPE/CPE ร้อยละ 10 ทั้งนี้ Top Glove ก็มีแผนจะขยายโรงงานถุงมือยางจาก  32 แห่งเป็น 33 แห่ง ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 65,000 ล้านชิ้นต่อปี เพื่อรองรับแนวโน้มความต้องการตลาดที่เพิ่มขึ้นของถุงมือยางไนไตรล์

 

แผนการขยายการผลิตของบริษัทในมาเลเซียมีส่วนสำคัญยิ่งในการกำหนดทิศทางหรือแนวโน้มความต้องการ ตลาดและสภาพการแข่งขันในตลาดโลก การขยายการผลิตถุงมือยางไนไตรล์ของทั้ง Hartalega และ Top Gloveถือ เป็นความท้าทายต่อผู้ผลิตถุงมือยางธรรมชาติของไทยในตลาดโลกและการนำเข้าวัตถุดิบน้ำยางข้นจากไทยไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตถุงมือยางในมาเลเซีย แม้ว่าถุงมือไนไตรล์จะยังไม่สามารถแทนที่ถุงมือยางธรรมชาติได้ทั้งหมด เนื่องจากถุงมือยางธรรมชาติยังมีคุณสมบัติเด่นเรื่องความยืนหยุ่น เหมาะสมสำหรับถุงมือทางการแพทย์โดยเฉพาะการ ผ่าตัด ซึ่งต้องการการควบคุมมือและการรับรู้สัมผัสอย่างละเอียดอ่อน

 

2 ยักษ์ถุงมือยางมาเลย์แข่งขยายผลิต จับตาผลกระทบไทย

 

อย่างไรก็ดี ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยของถุงมือ ยางไนไตรล์มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องและใกล้เคียงกับถุงมือยางธรรมชาติมากขึ้น ทำให้ผู้ใช้ถุงมือยางเริ่มมีการ ปรับเปลี่ยนมาใช้ถุงมือไนไตรล์มากขึ้น ประกอบกับการแพ้โปรตีนในถุงมือยางธรรมชาติของบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศแถบตะวันตกทำให้ถุงมือยางไนไตรล์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

2 ยักษ์ถุงมือยางมาเลย์แข่งขยายผลิต จับตาผลกระทบไทย

 

ทั้งนี้มาเลเซียเป็นผู้ซื้อน้ำยางข้นรายใหญ่ โดยมีการนำเข้าน้ำยางข้นจากไทยปีละประมาณ 180,000 ตัน แต่ความต้องการนำเข้าน้ำยางข้นในมาเลเซียเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบมีแนวโน้มลดลงในระยะยาว ตามสภาพความต้องการถุงมือยางไนไตรล์หรือยางสังเคราะห์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 56 ในขณะที่ถุงมือยางธรรมชาติมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 44

 

ผู้ผลิตผู้ส่งออกน้ำยางข้นของไทยจำเป็นต้องรักษาส่วนแบ่งการตลาดส่งออกในมาเลเซีย โดยมุ่งเน้นการลดต้นทุนการผลิตและการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานน้ำยาง ส่วนผู้ประกอบการผลิต/ส่งออก ถุงมือยาง ควรมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ถุงมือยางที่ไม่มีแป้งและมีโปรตีนต่ำเพื่อรักษาขีด ความสามารถในการแข่งขันในตลาดหลัก และเร่งกระจายตลาดส่งออกไปยังตลาดเกิดใหม่ (emerging market) เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีประชากรคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 80 ของประชากรโลก แต่ปัจจุบันยังมีการบริโภคถุงมือยางอยู่ในระดับต่ำ คือประมาณร้อยละ 30 ในขณะที่ตลาดประเทศพัฒนาแล้ว (สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และ ญี่ปุ่น) มีการบริโภคถุงมือยางคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 70 จึงเห็นได้ว่าประเทศเกิดใหม่มีโอกาสที่จะเติบโตได้สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันซึ่งมีการเกิดโรคอุบัติใหม่บ่อยครั้ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถุงมือยางไนไตรโลกขาดตลาด

ทุ่ม 8,000 ล้านตั้งโรงงานผลิตถุงมือยาง ‘บีโคลฟ’ 

 เอกชนปักหมุดตั้ง "โรงงานถุงมือยาง" กว่า 5 พันล้านบาท