เคลียร์ไม่จบ “รถไฟฟ้าสายสีแดง” เหตุเพิ่มงบหมื่นล้าน

30 ส.ค. 2563 | 05:04 น.

รฟท.โยนอัยการสูงสุดตีความงาน VO "รถไฟฟ้าสายสีแดง" เพิ่มเติมกว่าหมื่นล้านบาท หลังค่างานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ-ปรับเขตทางรถไฟ เพิ่มขึ้น หวังครอบคลุมจำนวนรางในโครงการ วงในลั่นคนเซ็นสั่งงานเพิ่มเติมไม่มีอำนาจสั่งการ

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงคมนาคมได้ให้ รฟท. ไปดำเนินการหาที่มาของการเพิ่มงบประมาณการเปลี่ยนแปลงงาน (Variation order:VO) ที่มีงานก่อสร้างเพิ่มขึ้นกว่า 10,345 ล้านบาท  ในโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต นั้นขณะนี้ รฟท. ได้มีการขอความเห็นไปที่สำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อตีความว่างานที่เพิ่มขึ้นกว่า 194 รายการ มูลค่ากว่า 4,500 ล้านบาท ในสัญญาที่ 1 งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อ ว่าผู้มีอำนาจในการสั่งงานสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งวงเงินในสัญญาที่1นี้เป็นส่วนหนึ่งของวงเงินรวมที่ 10,345ล้านบาท ที่ รฟท. เสนอขอไป

 

อ่านข่าว เลื่อน! เปิดให้บริการสายสีแดง”บางซื่อ-รังสิต”

อ่านข่าว 3 โปรเจกต์ยักษ์ ส่อเลื่อนยาว ลงแส้‘สายสีแดง-ไฮสปีดอีสาน’

"การขอความเห็นจากสำนักงานอัยการสูงสุดนั้นแค่งบประมาณที่เพิ่มเติมในสัญญาที่ 1 เท่านั้น ส่วนงานในสัญญาที่ 2 งานโยธาในโครงการช่วงบางซื่อ-รังสิต และ สัญญาที่ 3  ระบบอาณัติสัญญาณ ที่เพิ่มขึ้นทาง รฟท. ไม่ได้ส่งอัยการตีความ เนื่องจากเป็นงานที่เปลี่ยนแปลงงานที่ยังไม่ได้มีการก่อสร้าง อย่างไรก็ตามยืนยันว่าเพื่อให้เกิดความชัดเจนทาง รฟท. จะรอผลการตีความจากอัยการสูงสุดก่อนถึงจะดำเนินการต่อไป"

 

ขณะเดียวกันที่ผ่านมาทาง รฟท.ได้สรุปตัวเลขงบประมาณเพื่อยืนยันวงเงินที่จะให้กระทรวงคมนาคมเสนอขอ คณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เพื่อมาใช้ในโครงการส่วนเพิ่มเติมนั้นยังยืนยันว่า ยังคงเป็นตัวเลขที่ 10,345 ล้านบาทเช่นเดิมไม่ได้มีการตัดวงเงินลง หรือ รายการลงแต่อย่างใด พร้อมยืนยันว่าโครงการสายสีแดงจะยังเปิดให้บริการในปี 2564

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ความต้องการของ รฟท.ที่ขอขยายกรอบวงเงิน อีก 10,345 ล้านบาทนี้ เป็นค่างานส่วนเพิ่มที่ครอบคลุมทั้งในสัญญาที่ 1 คืองานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและปรับเขตทางรถไฟ เพื่อให้ครอบคลุมจำนวนรางหรือ Track ที่มีในโครงการ รวมถึงงานส่วนเพิ่มในสัญญาที่ 2 และสัญญาที่ 3 ที่เป็นระบบอาณัติสัญญาณด้วย อย่างไรก็ตาม วงเงินส่วนเพิ่มนี้ ในช่วงที่ผ่านมา สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)กระทรวงการคลัง เคยรับทราบกรอบวงเงินแล้ว หลังจากที่ไม่สามารถกู้เงินไจก้าได้ โดย สบน.ระบุว่าจะมีการจัดหาแหล่งเงินกู้ในประเทศหรือต่างประเทศ เข้ามารองรับวงเงินดังกล่าว แต่ก็ต้องมีการรายงานที่มาของแหล่งเงินกู้ใหม่ ให้ไจก้าทราบด้วย ขณะเดียวกันจากการตรวจสอบกลับพบว่า ผู้ที่มีอำนาจเซ็นสั่งเพิ่มงานก่อสร้างนั้น ไม่มีอำนาจสั่งการจริง จึงเป็นที่มาของการตรวจสอบที่มาดังกล่าว