เปิดศูนย์ OSS ส่งออกผลไม้ดันยอดขายเพิ่ม

14 ส.ค. 2563 | 07:05 น.

ชุมพรโมเดล! “จุรินทร์” เปิดศูนย์ส่งออกผลไม้เบ็ดเสร็จ  ตั้งเป้านำรายได้เข้าประเทศเพิ่มมากกว่า 1.2 แสนล้าน ช่วยลดขั้นตอนการส่งออก ด้วย one stop service

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังจากเป็นประธานเปิดศูนย์บริการส่งออกผลไม้เบ็ดเสร็จกระทรวงพาณิชย์ (One stop Fruit Export Center (OSFEC) ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนา มาตรฐานสินค้าเกษตร (AGQC) ตลาดกลางผัก และผลไม้ในความส่งเสริมของกรมการค้าภายใน จ. ชุมพร (ตลาดมรกต)  กล่าวว่าวันนี้เป็นวันประวัติศาสตร์ของประเทศ เป็นครั้งแรกที่เรามีศูนย์ส่งออกผลไม้เบ็ดเสร็จวเพื่อให้บริการด้านการส่งออกผลไม้ของประเทศเกิดขึ้นที่จังหวัดชุมพร ถัดจากนี้ไปจะใช้เป็นชุมพรโมเดล เพื่อที่จะนำไปใช้ในอีกหลายพื้นที่ที่จำเป็นทั่วทั้งประเทศได้มีการเตรียมการไว้แล้วที่จังหวัดราชบุรี ปทุมธานี นครศรีธรรมราช และจันทบุรี

 

สำหรับ "ชุมพรโมเดล" คือต่อไปนี้ถ้าไม่จำเป็นจะไม่ไปสร้างอาคารใหญ่โตแล้วตั้งศูนย์ one stop service เพื่อให้บริการการส่งออกผักและผลไม้ของประเทศ แต่จะใช้สถานที่ของเอกชนที่มีความพร้อมอยู่แล้วและแบ่งส่วนหนึ่งมาจัดตั้งเป็นศูนย์ให้บริการการส่งออกผลไม้แบบเบ็ดเสร็จซึ่งจะเป็นการประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้เป็นจำนวนมากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนต้องมาอยู่ร่วมกันในจุดเดียว เพื่อให้บริการกับผู้ส่งออกและเกษตรกร รวมทั้งล้งผู้รวบรวมผลไม้ ที่ตลาดมรกตนี้จัดเป็นศูนย์ส่งออกผลไม้แบบเบ็ดเสร็จศูนย์แรกของประเทศ

 

โดยการร่วมมืออย่างเข้มแข็งของกรมการค้าภายในและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเช่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว. ) เอสเอ็มอีแบงค์ ซีซีไอซี กรมศุลกากรและเซ็นทรัลแลป และกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งผู้ส่งออก กระบวนการการดำเนินการทั้งการคัดแยกขนาด คุณภาพ ตรวจสอบสารตกค้าง โรคพืช แมลง และเก็บรักษา รวมทั้งการบรรจุลงรถห้องเย็น เพื่อการส่งออกและไม่ต้องไปตรวจที่ด่านชายแดน เหมือนที่เคยทำมาในอดีตเพื่อไปประเทศจีน

เปิดศูนย์ OSS ส่งออกผลไม้ดันยอดขายเพิ่ม

 

สำหรับการให้การรับรองของไทยเราจะมีคิวอาร์โค้ด จะเป็นการรับรองให้การรับรองอัตโนมัติจากทางการของจีนด้วยไม่ต้องตรวจซ้ำซ้อนอีกต่อไป เมื่อไปถึงด่านก็จะได้เลนพิเศษจากเรียกว่า กรีนเลน กระบวนการจะสั้นลง ค่าใช้จ่ายถูกลงจะทำให้ประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกผลไม้ คล่องตัวขึ้น ล้งและเกษตรกรซึ่งเป็นต้นทางก็จะมีรายได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มูลค่าการส่งออกคล่องตัวขึ้น

 

ประเทศไทยส่งออกผลไม้ปีละประมาณ 120,000 ล้านบาท ผลไม้ที่ส่งออกมากคือทุเรียน ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกทุเรียนมากเป็นลำดับหนึ่งของโลก ปีที่ผ่านมาสามารถส่งออกได้มูลค่า 50,800 ล้านบาท แต่ทำปีนี้ ครึ่งปีส่งออกไปแล้ว 47,000 ล้านบาท ทั้งที่ประสบวิกฤติแต่กระบวนการในการเร่งรัดการเปิดด่าน โดยเฉพาะการเปิดด่านเวียดนามไปจีน จะช่วยให้กระบวนการส่งออกสินค้าไทยไปยังจีนคล่องตัวขึ้น ผลไม้ลำดับที่สองคือลำไย ปีที่แล้วมูลค่าส่งออก 30,100 ล้านบาทลำดับสามมังคุด ปีที่แล้วส่งออก 16,700 ล้านบาท สำหรับปีนี้ครึ่งปีส่งออกมูลค่า 10,400 ล้านบาท

 

“การเปิดศูนย์ส่งออกผลไม้เบ็ดเสร็จ วันนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำรายได้เข้าประเทศแล้วจะนำรายได้มาสู่เกษตรกรผู้ปลูกผลไม้แบบเบ็ดเสร็จครบวงจรที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้ศูนย์บริการเกิดขึ้นและจะได้ใช้ชุมพรโมเดลนี้เป็นโมเดลให้กับจังหวัดอื่นต่อไป" นายจุรินทร์ กล่าว

 

รายงานข่าวกรมการค้าภายใน ระบุว่า  "ตลาดมรกต" ให้บริการคัดแยก ตัวแทนส่งออก และตรวจโรคพืช สารตกค้าง และบริการพิธีการส่งออกเป็นแห่งแรกในพื้นที่ภาคใต้ มีผลไม้หลักคือ ทุเรียน มะม่วง มังคุด และเงาะ โดยในช่วงแรกยังไม่คิดค่าบริการและค่าสถานที่  ทำงานร่วมกับกรมวิชาการเกษตร ในการตรวจด้านสุขอนามัย และมีเจ้าหน้าที่จากกรมศุลกากร และมีสำนักงานของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว) และ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) มาให้บริการแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว และหน่วยงานเอกชนเช่น บริษัท CCIC (ประเทศไทย) จำกัด จากประเทศจีน เพื่อให้บริการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรด้วย

 

โดย สสว.ทำหน้าที ส่งเสริมการตลาดและเข้าถึงแหล่งทุนของผู้ประกอบการ ด้วยตอนนี้ทำงานร่วมกับเครือข่ายเอสเอ็มอีแบงค์ ส่งเสริมการขับเคลื่อนไปสู่สังคมผู้ประกอบการ ส่วนบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง(ประเทศไทย) จำกัด (Central lab) มี 6 ศูนย์ทั่วประเทศ สามารถทดสอบสินค้าได้เร็วสุด 24 ชม ช้าสุด 35 วัน และให้การรับรองมาตรฐาน GAP GMP/HACCP ตรวจยาฆ่าแมลง โรค สารโลหะหนักโดยสุ่มตัวอย่างในตู้สินค้า ทางด้านบริษัท CCIT ประเทศไทย คือ หากติดสติกเกอร์ QR Code แล้วจะได้เข้าช่อง fast track ไม่ต้องเปิดค้นตู้อีก ทั้งในไทยและประเทศปลายทาง คือบริษัทที่ให้บริการด้านการตรวจสอบย้อนกลับเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค พร้อมลดระยะเวลาหรือขั้นตอนในการส่งออก