“อาเซียน”ก้าวขึ้นเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน

18 ก.ค. 2563 | 09:28 น.

“อาเซียน” ก้าวขึ้นเป็นหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่ที่สุดของ “จีน” เผย ยอดนำเข้า-ส่งออกระหว่างกันสูงถึง 2.09 ล้านล้านหยวน คิดเป็น 14.7% การค้าต่างประเทศของจีน

    วันที่ 18 ก.ค.63 พล.ต.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ และผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ อาเซียนที่ได้ก้าวขึ้นเป็นหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
    1. สำนักงานสารนิเทศแห่งคณะรัฐมนตรี ของจีน ได้จัดงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 14  ก.ค.63 โดยนายหลี่ ขุยเหวิน ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ทางสถิติ ในฐานะโฆษกศุลกากรแห่งชาติ ได้แถลงว่า การที่อาเซียนได้กลายมาเป็นหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนนั้น มีปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งมาจากการจัดการควบคุมสถานการณ์โรคระบาดไว้อย่างดี

     ขณะเดียวกัน ในช่วงหลายปีมานี้ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีน-อาเซียน ได้มีความลึกซึ้งอย่างต่อเนื่อง ทำให้การเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุตสาหกรรมระหว่างสองฝ่ายมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมทั้งการค้าทวิภาคีก็มีความมั่นคงและเติบโตดี โดยเฉพาะช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ยอดการนำเข้า-ส่งออกระหว่างจีนกับอาเซียนสูงถึง 2.09 ล้านล้านหยวน คิดเป็น 14.7% ของยอดการค้าต่างประเทศของจีน

“อาเซียน”ก้าวขึ้นเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เศรษฐกิจจีนกลับมาขยายตัว ไตรมาส 2 โต 3.2%
อาเซียน-จีน ร่วมต่อสู้โควิด-19 เร่งกระชับความสัมพันธ์เพิ่ม

จีนลั่นพร้อมชน ตอบโต้ทรัมป์หลังถอดสถานะพิเศษฮ่องกง
 

    

 

    2.ข้อสังเกต นายสี่ว์ หนิงหนิง ประธานคณะกรรมาธิการธุรกิจจีน-อาเซียน ได้วิเคราะห์ว่า    2.1 ระยะเวลาเกือบ 20  ปีมานี้ จีน-อาเซียน ได้ดำเนินความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม การประสานความเชื่อมโยง และด้านการเงินเป็นต้น บรรลุซึ่งผลสำเร็จที่น่าพอใจ ความร่วมมือดังกล่าวนี้ต่างช่วยเสริมให้การติดต่อทางการค้าระหว่างสองฝ่ายเพิ่มมากขึ้น

      การที่การค้าทวิภาคีระหว่างจีน-อาเซียนมีการเติบโต มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับความต้องการด้านการผลิตและการใช้ชีวิตของกันและกัน อีกทั้งมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการเพิ่มการลงทุนระหว่างสองฝ่าย รวมทั้งการจัดสรรอุตสาหกรรมของบริษัทข้ามชาติต่าง ๆ ในพื้นที่ประเทศจีนและอาเซียน
        2.2  เมื่อเดือนตุลาคม ปี ค.ศ.2019 (พ.ศ.2562) ข้อตกลงการยกระดับเขตการค้าเสรีจีน–อาเซียน มีผลบังคับใช้ต่อสมาชิกทั้งหมด โดยได้มีการปรับปรุงเงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ ให้น้อยลงและนำความสะดวกแก่กันมากยิ่งขึ้น อาทิ กฎระเบียบเกี่ยวกับแหล่งผลิต ข้อตกลงการผ่านด่านศุลกากร การค้าการบริการ และขอบเขตการลงทุน เป็นต้น การเอื้อความสะดวกต่างๆจากเขตการค้าเสรีเหล่านี้ ได้ส่งอิทธิพลต่อการพัฒนาการค้าระหว่างสองฝ่ายด้วย
      2.3 เมื่อหันกลับไปมองอดีต ไม่ว่าจะเผชิญกับวิกฤตการเงินของทวีปเอเชียเมื่อปี ค.ศ.1997 (พ.ศ.2540) หรือการเผชิญกับวิกฤตการเงินทั่วโลกเมื่อปี ค.ศ.2008 (พ.ศ. 2551) จีนและประเทศสมาชิกอาเซียนต่างมีความร่วมมือที่แข็งแกร่งยิ่งหลังผ่านวิกฤตทุกครั้ง รวมทั้งในสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ของปีนี้ ก็ยิ่งทำให้สองฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของการเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันอย่างลึกซึ้ง

   บทสรุป นอกจากการที่อาเซียนได้ก้าวขึ้นเป็นหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนแล้ว มีรายงานว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค. – พ.ค.63  การลงทุนจากต่างประเทศในประเทศจีน ตามข้อริเริ่ม”หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ “สายแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) ได้เพิ่มขึ้น 6 % จากปีต่อปี และการลงทุนจากต่างประเทศในอาเซียนก็เพิ่มขึ้น 10.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี
     โดยในขณะนี้การลงทุนได้กลายเป็นประเด็นสำคัญของความร่วมมือทวิภาคีระหว่างจีนกับอาเซียน และในอนาคตคาดว่าจะมีแรงผลักดันใหม่เข้าสู่การรวมตัวกันของเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งคาดว่าการลงทุนสองทางจะเติบโตได้เร็วขึ้นและตลาดการลงทุนจะเปิดขึ้นต่อไป
     ปัจจุบันจีนเป็นแหล่งการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของหลายประเทศในอาเซียน และสัดส่วนการลงทุนของจีนในอาเซียนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้น จึงมีแนวโน้มว่าจีนและอาเซียนจะเสริมสร้างความร่วมมือในด้านการค้าการลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่อไป เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีในระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง