รฟท.ลุยไฮสปีด‘อีสาน-อีอีซี’3แสนล้าน

15 ก.ค. 2563 | 07:45 น.

รฟท. ลุย ไฮสปีด เฟส2 “อีสาน-ตะวันออก” 3แสนล้าน เปิดเวทีฟังเสียงชาวบ้าน-เอกชน โคราชมั่นใจบัวใหญ่เป็นจุดจอดหวั่นซ้ำรอยรถไฟทางคู่ ต่อขยายไฮสปีดอีอีซี ลากถึงระยองก่อน

เดินหน้า"รถไฟไฮสปีด" เฟส 2 รฟท.ลุยศึกษาออกแบบสาย“อีสาน-ตะวันออก” 3แสนล้าน เปิดเวทีฟังเสียงชาวบ้าน-เอกชน โคราชมั่นใจบัวใหญ่เป็นจุดจอดหวั่นเกิดปัญหาซ้ำรอยรถไฟทางคู่ ต่อขยายไฮสปีดอีอีซี ลากถึงระยองก่อนจากแผนศึกษาถึงตราด

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลงพื้นที่เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนและเอกชนในพื้นที่ หลังเดินหน้า เฟส 2 โครงการรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง สายอีสานและตะวันออก เริ่มจากรถไฟไทย-จีนช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356กิโลเมตรมูลค่า กว่า 2.2แสนล้านบาท และ ส่วนต่อขยาย รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ช่วง จังหวัดระยอง-จันทบุรีและตราด ระยะทางกว่า 200กิโลเมตรมูลค่า กว่า1แสนล้านบาท มุ่งเน้นยุทธศาสตร์กระจายความเจริญ เชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ เส้นทาง สายตะวันออก คาดว่าจะลากจากอู่ตะเภาถึงจังหวัดระยอง จากนั้นจึงขยายเส้นทางสู่จันทบุรีและตราดตามลำดับ

รฟท.ลุยไฮสปีด‘อีสาน-อีอีซี’3แสนล้าน

ขณะเส้นทาง สายอีสาน เมื่อวันที่ 13 ก.ค.63 ที่โรงแรมสีมาธานี อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 โครงการออกแบบรายละเอียด โครงการการร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย โดยเป็นเวทีรับฟังเสียงประชาชน 4 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนที่เป็นแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 ครอบคลุม 4 จังหวัด ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี และจ.หนองคาย มีระยะทางรวม 356 กิโลเมตร ซึ่งมีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชนในพื้นที่ อ.เมือง อ.โนนสูง อ.คง อ.บัวลาย และ อ.บัวใหญ่ จำนวน 500 คนเข้าร่วมการปะชุมครั้งนี้

นายสุวัฒน์ กันภูมิ หัวหน้าแผนกบริหารงานทั่วไปรฟท. เปิดเผยว่า รฟท.อยู่ระหว่างศึกษาและออกแบบรายละเอียดงานโยธา รถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางที่รวดเร็วและความปลอดภัยรวมทั้งการพัฒนาเมืองตามแนวเส้นทางให้เป็นศูนย์กลางความเจริญ ด้านเศรษฐกิจของภูมิภาค ซึ่งเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมต่อการค้าการลงทุนของไทยกับลาว และจีน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศและระหว่างประเทศ ในขณะดำเนินการก่อสร้างยังสนับสนุนการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลุยเซ็น 12 สัญญารับเหมา หลัง มิ.ย. EIA ไฮสปีด ไทย-จีนผ่าน

ชิงดำศูนย์ซ่อมฯเชียงรากน้อยไฮสปีดไทย-จีน

 

รฟท.ลุยไฮสปีด‘อีสาน-อีอีซี’3แสนล้าน

สำหรับการก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ มีระยะทางประมาณ 356 กิโลเมตร มีสถานีรถไฟจำนวน 5 สถานี ได้แก่ อำเภอบัวใหญ่, บ้านไผ่, จ.ขอนแก่น, จ.อุดรธานี และ จ.หนองคาย และมีสถานีขนถ่ายสินค้า 1 แห่ง บริเวณสถานีรถไฟนาทา จ.หนองคาย มีศูนย์ซ่อมบำรุงที่เชียงรากน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และศูนย์ซ่อมบำรุงเบาที่นาทา จ.หนองคาย พร้อมหน่วยซ่อมบำรุงทาง 4 แห่ง ที่สถานีบ้านมะค่า จ.นครราชสีมา สถานีหนองเม็ก จ.ขอนแก่น สถานีโนนสะอาด จ.อุดรธานี และสถานีนาหา จ.หนองคาย ออกแบบขนาดรางเป็น 1.435 เมตร มีจุดตัดทางรถไฟ 241 แห่ง ระยะเวลาการเดินทางจากกรุงเทพมหานครถึง จ.หนองคาย ประมาณ 3 ชั่วโมง 15 นาที และการออกแบบสถานีได้ผสมผสานอัตลักษณ์ท้องถิ่นภาคอีสานและสอดคล้องกับสถานีรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 และสถานีรถไฟทางคู่ รวมมูลค่าโครงการกว่า 2.2 แสนล้านบาท

ทั้งนี้การดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ต้องออกแบบให้สอดคล้องกับโครงการระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานระบบรถไฟความเร็วสูงของสาธารณรัฐประชาชนจีน อาจทำให้รายละเอียดโครงการระยะที่ 2 เปลี่ยนแปลงจากที่นำเสนอ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จำเป็นต้องทบทวนผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงไปพร้อมจัดหาแนวทางป้องกันและแก้ไขสิ่งแวดล้อม และการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ความก้าวหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 คาดแล้วเสร็จประมาณปี 2569 ส่วนโครงการระยะที่ 2 ได้รับการยืนยันสถานีชุมทางบัวใหญ่ ได้กำหนดเป็นจุดจอดอย่างแน่นอน

รฟท.ลุยไฮสปีด‘อีสาน-อีอีซี’3แสนล้าน

หน้า 11 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,592 วันที่ 16 - 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2563