BEM-BTS เดือด ชิงสัมปทาน‘สายสีส้ม’

25 มิ.ย. 2563 | 02:20 น.

BEM-BTS เดือด  ชิงดำงานโยธา-งานระบบเดินรถ สายสีส้ม-ม่วงใต้ 2 แสนล้าน ดับพิษโควิด “สมบัติ” ประกาศซิว 2 โครงการ ด้านบีทีเอสลั่น ส่วนต่อขยายสีม่วงยกให้ BEM ขณะสีส้ม ‘สู้ไม่ถอย’      

สิ้นสุดการรอคอย สำหรับ โครงการรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง สายสีส้มตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม) และสายสีม่วงใต้ (ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) มูลค่ากว่า 2 แสนล้าน เมื่อเจ้ากระทรวง คมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ มีคำสั่งให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดับเครื่องชน วิกฤติโควิด-19 เปิดประมูลงานโยธาและงานระบบ รวดเดียว 2 เส้นทาง ภายในปลายปีนี้  เริ่มตั้งแต่ สายสีม่วงใต้ มูลค่า 1 แสนล้านบาท  เดือนกันยายน ตามด้วย สายสีส้มตะวันตก มูลค่า 1.1 แสนล้านบาท  ภายในเดือนตุลาคม  ประเมินว่าจะสร้างความคึกคักไม่น้อย ให้กับผู้รับเหมา คาดว่า การแข่งขันชิงงานจะรุนแรง มาก กว่าปกติ 

ขณะหลักเกณฑ์เงื่อนไข ทีโออาร์ ที่จะประกาศเดือนกรกฏาคม ประกวดราคา งานโยธา (ส้มตะวันตก ) และ สัมปทานเดินรถทั้งระบบ  (สายสีส้มตะวันตก-ตะวันออก) ระยะทาง 36 กิโลเมตร เข้าด้วยกัน ซึ่งมั่นใจว่า รัฐจะได้ประโยชน์สูงสุด และแน่นอนว่า คู่ชกสำคัญคงหนีไม่พ้น 2 ค่ายใหญ่ ได้แก่ BEM หรือบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้า กรุงเทพจำกัด (มหาชน) กับ บีทีเอสกรุ๊ป BTS ที่โลดแล่นในกิจการระบบราง คาดว่าจะสู้กันหนัก เพื่อให้ได้งาน แต่ทั้งนี้ ไม่ควรมองข้าม ยักษ์รับเหมาต่างชาติโดยเฉพาะจีน ที่ปักหลักรออยู่แล้ว 

ชิง“สีส้ม-ม่วงใต้” 

นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BEM กล่าวว่า   บีอีเอ็มร่วมกับบมจ.ช.การช่าง  พร้อมประมูล รถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม- บางขุนนนท์ ระยะทาง 13 กิโลเมตร ที่รฟม. เตรียมเปิดประมูลงานโยธาวงเงิน 9 หมื่นล้านบาท รูปแบบPPP Netcost โดยบริษัทหาเงินกู้ดอกเบี้ยตํ่าจากธนาคาร ที่เจรจาไว้แล้ว ทั้งนี้หากชนะประมูล บริษัทต้องลงทุนก่อน และรัฐจ่ายคืนในภายหลัง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ขณะสายสีส้มตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร รูปแบบจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่ง บมจ.ช.การช่างกับพันธมิตรอยู่ระหว่างก่อสร้าง ส่วนการสัมปทานเดินรถคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติผูกสายสีส้มตะวันออกและตะวันตก (สายสีส้มช่วงมีนบุรี-บางขุนนนท์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ไว้ด้วยกัน ซึ่ง BEM มั่นใจว่าน่าจะคว้าสัมปทาน งานโยธาและงานระบบเดินรถ ดังกล่าว 

บีทีเอสสู้ไม่ถอยสายสีส้ม

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) BTS กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดเพื่อเตรียมความพร้อมในการลงทุน สายสีส้มหากรฟม.มีการประกาศร่างทีโออาร์ เตรียมจัดทำข้อเสนอเพิ่มเติมต่อไป ขณะเดียวกันหากชนะประมูลทางบริษัทก็จำเป็นต้องหาเงินกู้เพื่อลงทุนเช่นกัน 


BEM-BTS เดือด  ชิงสัมปทาน‘สายสีส้ม’

ม่วงใต้ ยกให้บีอีเอ็ม 

“ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน- ราษฎร์บูรณะ มูลค่า 1 แสนล้านบาท ที่จะมีการประมูลในปีนี้นั้น เราคงไม่ได้เข้าร่วม เนื่องจากเรามองว่าเป็นการประมูลด้านการก่อสร้าง คงเข้าร่วมการประมูลเพียงโครงการสายสีส้มเท่านั้น ซึ่งเราก็หวังว่าจะชนะการประมูลสายสีส้ม ทั้งนี้เราไม่ได้กังวลด้านการแข่งขันในการประมูล เพราะเราก็โปร่งใส ตรงไปตรงมาอยู่แล้ว” 

ซิโน-ไทย ลั่นไม่ยาก 

 นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC กล่าวว่า การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งใช้รูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) นั้น เบื้องต้นการเข้าร่วมประมูลต้องมีทั้งผลงานก่อสร้างและเดินรถ โดยบริษัทคงเข้าร่วมกับ BTS ที่เป็นพันธมิตรเดิมของเรา ทั้งนี้ในปัจจุบันยังไม่มีการประกาศเชิญชวนอย่างเป็นทางการ ซึ่งต้องรอดูการประกาศคุณสมบัติและเงื่อนไขก่อนว่าเป็นอย่างไร 

“ส่วนแนวโน้มเข้าร่วมลงทุนในครั้งนี้คงไม่ยาก เนื่องจากเราก่อสร้างสายสีส้มตะวันออกอยู่แล้ว โดยคำนวณต้นทุนได้ไม่ยาก รวมถึงเรามีเครื่องมือเครื่องจักรและบุคลากรที่พร้อมจะเข้าร่วมประมูล และมีพันธมิตรในการเดินรถที่เชี่ยวชาญอย่าง BTS ด้วย ส่วนการประมูลสายสีม่วงใต้ ขณะนี้เข้าใจว่าเป็นการประมูลลักษณะประมูลด้านงานก่อสร้าง เรามีความพร้อมและไม่มีปัญหาอะไร ก็คงเข้าร่วมประมูลด้วยเช่นกันในทุกสัญญา”

นายภาคภูมิ กล่าวต่อว่า การทำงานก่อสร้างของบริษัทยังคงมีสภาพคล่องในการดำเนินงานได้โดยใช้เงินทุน หมุนเวียนของบริษัท ซึ่งไม่ต้องหาเงินกู้ ส่วนโครง การที่เป็นรูปแบบ PPP คงต้องคุยกับพันธมิตรที่ร่วมทุนกันและใช้เงินทุนจากแบงก์ตามความเหมาะสมอีกครั้ง ทั้งนี้ในปัจจุบัน ไม่มีความกังวลเกี่ยวกับงานทั้ง 2 โครงการ ถ้าชนะการประมูลในครั้งนี้ ทางบริษัทก็มีความพร้อมที่จะรับงานได้ทั้ง 2 โครงการ

ขอเอกชนไทยได้ลงทุน 

นายอังสุรัศมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สำหรับการประมูลทั้ง 2 โครงการ เชื่อว่าเอกชนไทยสนใจลงทุน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพทั้งการลงทุนและการเดินรถ จะทำให้มีความพร้อมในการประมูลโครงการฯ เช่นกัน

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,586 วันที่ 25 - 27 มิถุนายน พ.ศ. 2563