เก็บเกี่ยว‘กัญชา’รอบแรก มทร.ล้านนาส่งมอบใช้ปรุงยา

22 มิ.ย. 2563 | 06:59 น.

เก็บเกี่ยวรอบแรกกัญชาเพื่อการแพทย์ มทร.ล้านนาส่งมอบดอกกัญชาสด-กัญชาแห้งกว่า 100 กิโลกรัม ให้กรมการแพทย์แผนไทย ใช้ปรุงตำรับไทยและต่อยอดงานวิจัยทางการแพทย์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา พร้อมด้วยนายณัฐวรรธน์ วรพนิตกุล ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกและแปรรูปบุกเกษตรอินทรีย์ บ้านทุ่งแพม ส่งมอบผลผลิตกัญชาภายใต้โครงการความร่วมมือวิจัย และพัฒนาสายพันธุ์กัญชาและกัญชงเพื่อใช้ทางการแพทย์ ประกอบด้วยดอกกัญชาสด จำนวน 14.45 กิโลกรัม กัญชาแห้ง จำนวน 94.32 กิโลกรัม ให้กับกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณะสุข  เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการปรุงยาตำรับไทย และงานวิจัยทางการแพทย์  เก็บเกี่ยว‘กัญชา’รอบแรก  มทร.ล้านนาส่งมอบใช้ปรุงยา

 

นายปรีชา หนูทิม ผู้อำนวยการกองพัฒนาแผนไทยและสมุนไพร กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่าจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุ่มแพม ได้ร่วมกันปลูกและพัฒนากัญชาทางการแพทย์ เพื่อส่งมอบผลผลิตให้กับกรมการแพทย์แผนไทยฯ นั้น ถือว่าให้ผลผลิตที่ดีมาก และไม่มีความเสียหายอันเกิดจากโรคและแมลงเกิดขึ้น ซึ่งจะสามารถนำไปสกัดสารสำคัญ เพื่อใช้ปรุงเป็นยาไทย 16 ตำรับ แจกจ่ายให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลในเครือข่ายทั่วประเทศได้ตามเป้าหมาย 

ความร่วมมือในโครงการนี้ เป็นแห่งแรกของไทยที่มีดำเนินการและบริหารจัดการร่วมกับวิสาหกิจชุมชนอย่างเต็มรูปแบบ โดยทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้มอบหมายให้ ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ลงนามความร่วมมือ และได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยา ให้สามารถปลูกกัญชาในพื้นที่จำเพาะในโรงเรือนเนื้อที่ 1,000 ตารางเมตร มีการบริหารจัดการแบบเกษตรอินทรีย์ ดำเนินการปลูกกัญชารุ่นแรกจำนวน 320 ต้น ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนากัญชาทางการแพทย์ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกบุกและแปรรูปบุก เกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2563 และจะดำเนินการปลูกให้เต็มพื้นที่จำนวน 20,000 ต้นในอนาคต  เก็บเกี่ยว‘กัญชา’รอบแรก  มทร.ล้านนาส่งมอบใช้ปรุงยา

สำหรับสายพันธุ์กัญชาที่มหาวิทยาลัยฯ มีในครอบครองได้มีการรวบรวมสายพันธุ์กัญชาพื้นบ้านจากภูมิภาคต่างๆ ผ่านกระบวนการนิรโทษกรรม เพื่อครอบคลองจำนวน 11 สายพันธุ์ และคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีประสิทธิ ภาพสูง จำนวน 4 สายพันธุ์ มาปลูก ณ ศูนย์วิจัยฯ แห่งนี้ประกอบด้วย กัญชาสายพันธุ์เพชรบุรี ตะนาวศรี หางกระรอกด้ายแดง หางกระรอกอีสาน เก็บเกี่ยว‘กัญชา’รอบแรก  มทร.ล้านนาส่งมอบใช้ปรุงยา

ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา เปิดเผยว่า องค์ความรู้ด้านกัญชาที่ได้จากโครงการความร่วมมือครั้งนี้ สามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนของนักศึกษาสาขาเกษตร ศาสตร์ นอกจากนั้นยังสามารถนำมาปรับใช้กับการเรียนการสอนทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ และเป็นสถานที่ฝึกงานพร้อมกับสร้างงานให้กับนักศึกษาได้ในอนาคต แต่อย่างไรก็ตามโครงการนี้มหาวิทยาลัยได้ร่วมกับวิสาหกิจชุมชน มหาวิทยาลัยฯจึงอยากให้เกิดการสร้างรายได้แก่ชุมชน ควบคู่กับองค์ความรู้ของอาจารย์และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยฯ

 

หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,585 วันที่ 21 - 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563