รฟท.เร่งเต็มสูบ ส่งมอบพื้นที่ "ไฮสปีดซีพี" ก.พ.64

14 มิ.ย. 2563 | 09:30 น.

รฟท.เร่งเต็มสูบ เหลือเวลา 7เดือน ส่งมอบ พื้นที่ ไฮสปีด เชื่อม 3 สนามบิน ช่วงแรก “สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ให้ซีพี ภายใน เดือนม.ค.-ก.พ. ตามแผน หลัง ติดรื้อย้าย - ออกพรฏ.เวนคืนเพิ่ม

กรอบสัญญาการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลงนามกับ บริษัท รถไฟความเร็วสูง สายตะวันออก เชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) หรือกลุ่ม CPH เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 แบ่งการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม3สนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) ระยะทาง 220กิโลเมตรวงเงิน 2.24แสนล้านบาท ไว้3 ช่วง นับตั้งแต่เซ็นสัญญา ได้แก่ ช่วงที่1 สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา ระยะเวลา2ปี ช่วง พญาไท - ดอนเมือง 4ปี ส่วน แอร์พอร์ตลิงค์ หาก กลุ่มซีพี จ่ายเงินให้กับรฟท. ได้เมื่อใดเมื่อนั้นสามารถรับโอน กิจการเดินรถ ได้ทันที แต่กรอบเวลาไม่เกิน2ปีเช่นเดียวกับ การส่งมอบพื้นที่ช่วงแรก

กรอบเวลาดังกล่าว เป็น เสมือนแนวกันชน ป้องกัน ความผิดพลาดหน่วยงานรัฐ หากการส่งมอบติดปัญหา เกิดความล่าช้าทั้ง ผู้บุกรุกไม่ออกจากพื้นที่ การเสียเวลาอุธรณ์ฟ้องร้องต่อศาลกรณีผู้ถูกกระทบจากการเวนคืนไม่ออกจากพื้นที่หรือไม่พอใจ ค่าชดเชย

รฟท.เร่งเต็มสูบ ส่งมอบพื้นที่ "ไฮสปีดซีพี" ก.พ.64

แต่เนื่องจาก กลุ่มซีพีต้องการ รับมอบพื้นที่ยกแปลง100% เพื่อ ไม่ให้การก่อสร้างสะดุด ไม่ต้องการ แบกภาระต้นทุนดอกเบี้ย เกิดเบี้ยปรับหาก ต้องขยายสัญญาออกไป เกินจากสัญญา 5ปี กรณีอาจมีผู้บุกรุกภายหลัง รฟท. จึงทำแผนเร่งรัด ส่งมอบพื้นที่ ให้เร็วขึ้น ได้แก่ ช่วง ที่ 1 สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา ภายใน 1ปี3เดือน หรือ วันที่ 1มกราคม 2564 ช่วงที่2 พญาไท-ดอนเมือง ภายใน 2ปี 3เดือน และ แอร์พอร์ตลิงค์ ภายใน2ปี อย่างไรก็ตาม หาก รฟท.ยังติดปัญหาอุปสรรค ไม่เป็นไปตามแผนเร่งด่วนนั่นหมายความว่า ยังมีเวลา เหลือให้ดำเนินการ ตาม กรอบสัญญาที่ระบุไว้

ปรับแผนอีอีซีเฟส 2 ลาก "แทรม" พัทยา เชื่อม "ไฮสปีด-อู่ตะเภา"

กลุ่มซีพี เดินหน้ารถไฟไฮสปีด ผนึกวิศวะมหิดล วิจัยแผนพัฒนาระบบ

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ถึงความคืบหน้า การส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟความเร็วไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ขณะนี้ทุกหน่วยงานเจ้าของระบบสาธารณูปโภคได้เคลียร์ทุกปัญหาที่ติดขัดก่อนหน้านี้เรียบร้อยแล้ว เช่น การรื้อย้ายสายไฟฟ้าแรงสูง ท่อประปา และท่อส่งน้ำมัน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างรอรัฐจัดสรรงบประมาณ งบกลางปี 2563 วงเงิน335.744 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างรื้อย้ายสาธารณูปโภคตามแนวก่อสร้างโครงการทั้งหมด

“ขณะนี้หลายหน่วยงานเจ้าของสาธารณูปโภคได้ทำการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างรื้อย้ายไปก่อนหน้าแล้ว แต่รอรับจัดสรรงบกลางเพื่อมาทำสัญญา และเริ่มงานรื้อย้าย เปิดพื้นที่งานก่อสร้างให้กับซีพี ซึ่งภาพรวมตอนนี้ล่าช้าไป ประมาณ 1 – 2 เดือน เพราะติดปัญหาโควิด -19 ”

ขณะภาพรวมการส่งมอบพื้นที่ให้ ให้กับกลุ่มซีพียังอยู่ระหว่างเคลียร์พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค พื้นที่ผู้บุกรุก และออก พระราชกฤษฎีกา (พรฎ.) เวนคืนเพิ่มเติม อีกทั้งทางซีพีต้องการให้ รฟท.ส่งมอบพื้นที่เป็นแปลงใหญ่ เพื่อก่อสร้างโครงการได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่สามารถทยอยส่งมอบบางส่วนได้ ส่วนพื้นที่เวนคืน ปัจจุบันได้ออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในพื้นที่บางส่วนแล้ว แต่เนื่องจากซีพีขอขยายเขตทางเพิ่มเติม เพื่อนำไปวางเครื่องจักรก่อสร้าง ทำให้ รฟท.ต้องลงสำรวจพื้นที่เวนคืน และออก พ.ร.ฎ.เวนคืนเพิ่มเติม ล่าสุดได้ปักหมุดสำรวจพื้นที่แล้ว คาดว่าต้องเวนคืนที่ดินเพิ่ม 28 ไร่ ทำให้การส่งมอบพื้นที่เวนคืนจะล่าช้ากว่าแผนออกไปเล็กน้อย

ขณะที่การส่งมอบพื้นที่ที่มีผู้บุกรุก รฟท.ได้ดำเนินการฟ้องศาลเพื่อขับไล่ผู้บุกรุกในส่วนที่เจรจายากและไม่ยอมย้ายออกตามกำหนด ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ ส่งมอบพื้นที่ได้ทันในเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์2564

อย่างไรก็ตามการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาทางกลุ่มซีพีได้ลงพื้นที่เพื่อเจาะสำรวจพื้นที่วิศวกรรม เตรียมความพร้อมรองรับงานก่อสร้างแล้ว โดยทำการขุดเจาะสำรวจไปกว่า 600 จุด จากพื้นที่ทั้งหมดที่ต้องขุดเจาะราว 900 จุด อีกทั้ง รฟท.ยังเตรียมพื้นที่เพื่อส่งมอบให้กลุ่มซีพีตามกำหนด โดยไม่ได้ชะลองานแต่อย่างใด เบื้องต้นยังมั่นใจว่าจะสามารถส่งมอบพื้นที่ส่วนแรก ช่วงลาดกระบัง - อู่ตะเภา ตามแผนกำหนด คือ ภายใน 1 ปี 3 เดือน หลังลงนามสัญญาส่วนแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ที่ผ่านมากลุ่มซีพีได้เข้าไปสำรวจทรัพย์สินเรียบร้อยแล้ว

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,583 วันที่ 14-17  มิถุนายน พ.ศ. 2563

รฟท.เร่งเต็มสูบ ส่งมอบพื้นที่ "ไฮสปีดซีพี" ก.พ.64