ส่งออกชิ้นส่วนรถ 7 แสนล.วูบ คาดปีนี้ติดลบไม่ต่ำกว่า10%

30 พ.ค. 2563 | 03:35 น.

ส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ลุ้นโตหรือฟุบต่อ หลัง 3 ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่มะกัน และหลายค่ายในหลายประเทศกลับมาเปิดสายการผลิต สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ฟันธงทั้งปีติดลบไม่ต่ำ 10% หลังกำลังซื้อทั่วโลกฟุบ ฉุดยอดซื้อรถยนต์ดิ่งเหว ชิ้นส่วนวูบตาม

ปี 2562 ไทยส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ (รวมล้อยางรถยนต์) ไปทั่วโลกมูลค่า 21,909 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 7.01 แสนล้านบาท คำนวณที่ 32 บาทต่อดอลลาร์) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.8% ขณะช่วง 3 เดือนแรกปี 2563 ที่การค้าทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ของไทย ทำได้ที่ 5,496 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.75 แสนล้านบาท) ขยายตัวเพียง 1% โดยตลาดส่งออก 5 อันดับแรก ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สัดส่วน17.4% ของการส่งออกขยายตัว 10.1%, ญี่ปุ่น สัดส่วน 9.8% ติดลบ 4.8%, อินโดนีเซีย สัดส่วน 7.3% ขยายตัว 1.7%, จีน สัดส่วน 7.1% ขยายตัว 69.8% และมาเลเซีย สัดส่วน 4.8% ติดลบ 20.7% ซึ่งทิศทางการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ปีนี้ถือว่ายังน่าห่วงตามยอดขายรถยนต์ทั่วโลกที่หดตัวแรง

รายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ณ เมืองไมอามี สหรัฐอเมริกา เผยว่าล่าสุดวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา โรงงานผลิตรถยนต์รายใหญ่ในสหรัฐฯ 3 รายได้แก่ General Motor, Ford Motors และ Fiat-Chrysler Automobiles NV ได้ประกาศกลับมาเริ่มสายการผลิตรถยนต์อีกครั้ง หลังจากจำเป็นต้องระงับการผลิตมานับตั้งแต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่เริ่มคลี่คลายลงในปัจจุบัน ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯมีแนวโน้มที่จะกลับไปดำเนินนโยบายสงครามการค้ากับจีนที่มีสัดส่วนตลาดสินค้าชิ้นส่วนรถยนต์ในสหรัฐฯค่อนข้างสูง น่าจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยที่จะส่งออกไปสหรัฐฯทดแทนจีนได้เพิ่ม

นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ นายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย(TAPMA) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้ภาพรวมการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยในไตรมาสแรกจะยังขยายตัวเป็นบวกที่ 1% แต่คาดตัวเลขการส่งออกเดือนเมษายนและภาพรวมไตรมาสที่ 2 จะติดลบ จากโรงงานผลิตรถยนต์ในต่างประเทศ รวมถึงในไทยปิดสายการผลิตชั่วคราว และเพิ่งทยอยกลับมาเปิดการผลิตใหม่ คาดว่าตัวเลขชิ้นส่วนฯจะขยับตัวดีขึ้นในไตรมาส 3 หลังโรงงานผลิตรถยนต์ในหลายภูมิภาคทั่วโลกเริ่มกลับมาเป็นปกติ ทำให้ความต้องการใช้ชิ้นส่วนรถยนต์เพิ่มขึ้น ส่วนตลาดรถยนต์คาดจะกลับมาฟื้นตัวในไตรมาส 4 ปีนี้

“อย่างไรก็ดีจากยอดขายรถยนต์ทั่วโลกในปีนี้คาดจะลดลงประมาณครึ่งหนึ่งของปีที่ผ่านมา คาดการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยในปีนี้จะติดลบไม่ต่ำกว่า 10% จากไทยรับจ้างผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ (โออีเอ็ม) ให้กับค่ายรถยนต์เป็นส่วนใหญ่จึงได้รับผลกระทบมาก”

นายปริญญา เขตคาม อุปนายกสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย กล่าวว่า ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา (USMCA หรือนาฟต้าใหม่) ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ มีเงื่อนไขรถยนต์ที่นำเข้าระหว่างกันภายในกลุ่มที่จะได้รับการยกเว้นภาษีต้องใช้ชิ้นส่วนประกอบภายในกลุ่มไม่ต่ำกว่า 75% จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ให้ไทยส่งออกชิ้นส่วนฯไปยังภูมิภาคนี้ได้ลดลง 

อย่างไรก็ตามตลาดชิ้นส่วนรถยนต์และส่วนประกอบของไทยทั้งในและต่างประเทศจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็วแค่ไหน ขึ้นกับเศรษฐกิจ การค้า และภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จะกลับมาฟื้นตัวได้เร็วมากน้อยเพียงใด

“การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจต่างๆ จะมีผลต่อการจ้างงาน และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากคนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น รถยนต์ชิ้นส่วนก็จะได้อานิสงส์ตาม แต่หากเศรษฐกิจและกำลังซื้อยังชะลอตัวผลกระทบก็จะมีต่อเนื่อง เวลานี้นักศึกษาจบใหม่ส่วนใหญ่ก็ยังตกงาน กำลังซื้อรถคันแรกก็ไม่มี พ่อแม่จะดาวน์รถให้ก็ต้องชะลอไว้ก่อน บริษัทหรือโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิดต้องเอาคนออก คนตกงานเพิ่มก็ไม่มีกำลังซื้อ ซึ่งรถยนต์เป็นสินค้าราคาสูงและถูกมองเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยจึงกระทบมากและกระทบถึงอุตสาหกรรมชิ้นส่วนฯด้วย”

หน้า 11 ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,578 วันที่ 28 - 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2563