7ส.เหล็กไม่ไหวแล้วโควิดทุบซ้ำยื่นหนังสือถึงบิ๊กตู่ช่วย 5 ข้อ

30 เม.ย. 2563 | 00:07 น.

7 สมาคมเหล็กร้องนายกผลักดันมาตรการเหล็ก ร่วมฝ่าโควิด ชง5ข้อ ให้อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของชาติอยู่รอดต่อไปได้

 

นายวิน วิริยประไพกิจ ที่ปรึกษาสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทยและแกนนำกลุ่ม 7 สมาคมเหล็กร่วมกับผู้บริหารของสมาคมเหล็กอื่นๆเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 กลุ่ม 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย  ได้ยื่นหนังสือถึงพลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และประธานศูนย์อำนวยการ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อขอความอนุเคราะห์พิจารณากำหนดมาตรการเยียวยาและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะนี้ทำให้อุปสงค์ของสินค้าเหล็กซึ่งเป็นวัตถุดิบพื้นฐานสำหรับภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และภาคการก่อสร้างหดตัวลงทั่วโลก

โดยเฉพาะในประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศเริ่มเกิดการระบาดของโควิด-19 ความต้องการใช้เหล็กในจีนไตรมาสที่ 1 ปี 2563 ลดลงถึง 36% หรือคิดเป็นปริมาณ 70 ล้านตัน ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2563 จีนมียอดสินค้าเหล็กคงคลังมากถึง 100 ล้านตัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์โดยเพิ่มขึ้นเป็นกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มีปริมาณ 49.3 ล้านตัน ซึ่งรัฐบาลจีนได้เตรียมสนับสนุนการส่งออกเพื่อระบายสินค้าเหล็กจำนวนมหาศาลนี้ออกมานอกประเทศจีน  โดยเพิ่มการคืนภาษีสำหรับสินค้าส่งออกจาก 10% เป็น 13% ส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกของจีนลดต่ำลงอีก จากที่ปกติก็มีราคาต่ำทุ่มตลาดอยู่แล้ว และมีความเสี่ยงสูงสุดที่สินค้าเหล็กดังกล่าวจะไหลทะลักมายังประเทศไทยที่เป็นเป้าหมายการส่งออกลำดับต้นๆของจีน (จากสถิติปี 2562 จีนส่งออกสินค้าเหล็กมายังไทยมากสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก)

 

ดังนั้นเพื่อให้อุตสาหกรรมเหล็กซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สำคัญ และเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของชาติอยู่รอดต่อไปได้ จึงเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณามอบนโยบายกำหนดมาตรการเพิ่มเติม 5 ข้อคือ 1.พิจารณาสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กเป็นอุตสาหกรรมสำคัญยิ่งยวด (Critical Industry & Supply Chain: CISC)

2.พิจารณาเร่งรัดการจัดทำระเบียบปฏิบัติที่ส่งเสริมการใช้สินค้าเหล็กในประเทศที่ผู้ประกอบการสามารถผลิต และจำหน่ายให้กับงานโครงการของรัฐได้ โดยการให้แต้มต่อ 3% ถึง 7% กับผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองคุณภาพตาม มอก. และกำหนดสัดส่วนการใช้สินค้าเหล็กที่ผลิตได้ภายในประเทศ (Local Content) 90% เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กและอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งห่วงโซ่การผลิตและการจ้างงาน

3. พิจารณาเร่งรัดการบังคับใช้มาตรการทางการค้าสินค้าเหล็กเพื่อให้สามารถป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากต่างประเทศได้อย่างทันท่วงที โดยในส่วนนี้ขอให้เร่งรัด3ด้านคือ เร่งรัดการจัดทำอนุบัญญัติเพื่อบังคับใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า (Anti Circumvention: AC) และพิจารณาใช้ พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 เพื่อควบคุมการนำเข้าเป็นการชั่วคราวระหว่างรอการจัดทำอนุบัญญัติ และยังไม่มีมาตรการ AC   และ เร่งรัดกำหนดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) สำหรับสินค้าเหล็กที่อยู่ระหว่างการพิจารณาไต่สวน   รวมถึงเร่งรัดการต่ออายุมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าเหล็กที่เพิ่มขึ้น (SG)

4. พิจารณาดำเนินมาตรการตรวจติดตามเชิงรุก (Active Surveillance) ตรวจติดตามอย่างใกล้ชิดว่ามีการนำเข้าสินค้าเหล็กเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือไม่ โดยเฉพาะจากจีนและเวียดนาม

5. นอกจากการใช้เพียงแค่มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) เท่านั้น ต้องมีความพร้อม รวดเร็ว และกล้าหาญที่จะใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard), มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty), มาตราการตอบโต้การหลบเลี่ยง (Anti-Circumvention), และมาตรการห้ามนำเข้า ตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 ตามสถานการณ์ความรุนแรงเมื่อมีกรณีที่มีการนำเข้าที่ผิดปกติ

โดยมาตรการที่เสนอเพิ่มเติมทั้ง 5 ข้อนี้กลุ่ม 7 สมาคมฯ เหล็ก เชื่อว่าจะได้รับการพิจารณาจากนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นมาตรการที่สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กสามารถยืนหยัดสู้ฝ่าฟันวิกฤตโควิด-19 โดยยังคงสามารถประกอบกิจการ รวมถึงยังคงรักษาความสามารถในการจ้างงานต่อไปได้

ปัจจุบัน 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทยประกอบด้วย สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย, สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย,สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น , สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า, สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน, สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ,สมาคมโลหะไทย ที่เป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย รวมสมาชิกจากกลุ่มผู้ประกอบการเหล็ก 472 บริษัท

 

สัญญาณเตือนมาไทยแน่ สต๊อกเหล็กล็อตใหญ่จากจีน
เตือนรับมือสต๊อกเหล็กจีน 100 ล.ตัน ระบายออกทั่วโลก

ห่วงไทยลดสถานะ “ผลิตเหล็ก”เป็น”นำเข้า” ผู้บริโภคเสี่ยง
‘โควิด’ทุบขาใหญ่ เหล็กโลกร่วงระนาว