ลุย41โปรเจ็กต์ ชิงเค้ก7แสนล้าน

09 มี.ค. 2563 | 01:20 น.

คมนาคมดับร้อนโคโรนา เทกระจาด 41 เมกะโปรเจ็กต์ 7 แสนล้าน เปิดเอกชนชิงดำพีพีพีกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังครม.ไฟเขียว


ทันทีที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 มีผลบังคับใช้ การขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ ของกระทรวงคมนาคมเคลื่อนไหวทันที ล่าสุดได้ผลักดัน 41 เมกะโปรเจ็กต์ มูลค่า 7.49 แสนล้านบาท เข้าสู่การพิจารณาเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) 

สร้างความคึกคักไม่น้อยให้กับผู้รับเหมา ต่างเตรียมความพร้อมรอจังหวะชิงไหวชิงพริบชิงโครงการ ทั้งนี้ การใช้โครงการขนาดใหญ่ขับเคลื่อนจะสร้างผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศ เกิดการจ้างงาน เม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบฐานราก ดับความร้อนของไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 อีกทางหนึ่ง หลังรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรับมือวิกฤติที่เกิดขึ้น

 

 ทล.เข็น 4 โครงการ

สำหรับโครงการขนาดใหญ่ที่ได้รับความสนใจจากภาคเอกชน ส่วนใหญ่เป็นรถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ ที่มีการพูดถึงมากที่สุดนอกจากท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี เนื่องจากมีมูลค่าสูงสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ชนะการประมูลอย่างมาก เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการรัฐ หรือ พีพีพี

แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เตรียมเสนอโครงการที่มีความพร้อม ขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจจำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย มอเตอร์เวย์ นครปฐม-ชะอำ 79,006 ล้านบาท 

มอเตอร์เวย์ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5) วงเงินลงทุน 29,400 ล้านบาท อยู่ระหว่างสรุปผลการศึกษารูปแบบพีพีพี มอเตอร์เวย์สายวงแหวนรอบนอกกทม. ด้านตะวันตก(M9) 78,000 ล้านบาท โดยช่วงบางขุนเทียน - บางบัวทอง อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบพีพีพีพร้อมออกแบบกรอบรายละเอียด คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี 2563 เช่นเดียวกับมอเตอร์เวย์สายศรีนครินทร์ -สุวรรณภูมิ (M7) วงเงินลงทุน 37,500 ล้านบาท อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบลงทุนพร้อมออกแบบกรอบรายละเอียด คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี 2563 และเปิดประมูลตามลำดับ

 

 

 

แดนใต้ยังไม่พร้อม

ส่วนโครงการที่ยังไม่พร้อม และชะลอเสนอ ครม. นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล ผู้อำนวยการกองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) กรมทางหลวง (ทล.) ระบุมี 2 โครงการ ที่ต้องเลื่อนออกไป ได้แก่ มอเตอร์เวย์ สายหาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย (M84) วงเงินลงทุน 42,620 ล้านบาท ขณะนี้ได้ศึกษาการลงทุนแล้ว แต่ยังไม่ได้สามารถดำเนินการต่อได้ เนื่องจากติดปัญหาการเชื่อมต่อบริเวณด่านชายแดนแห่งที่ 2 (ด่านใหม่) ซึ่งเป็นด่านฝั่งประเทศมาเลเซีย ขณะเดียวกันต้องรอดูความชัดเจนจากกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และด่านศุลกากรที่ดูแลในส่วนนี้ หากยังไม่ได้ข้อสรุปและยังไม่ได้ข้อชัดเจน จะส่งผลกระทบโดยตรงกับปริมาณผู้ใช้เส้นทางบริเวณนี้ รวมถึงแผนดำเนินงานของโครงการดังกล่าวจะล่าช้า

อีกโครงการเป็นโครงการมอเตอร์เวย์สายวงแหวนรอบนอก กทม. ด้านตะวันตก (M9) ช่วงบางบัวทอง- บางปะอิน ปัจจุบันมีการสํารวจออกแบบรายละเอียดเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการก่อสร้างทางบริการ โดยแผนการปรับปรุงมอเตอร์เวย์เส้นนี้เป็นแผนระยะยาว เพื่อควบคุมการจราจรขาเข้า-ขาออก ซึ่งมีลักษณะเป็นทางบริการอยู่บริเวณด้านข้างทั้ง 2 ด้าน โดยเป็นช่องการจราจรทั้งหมด 6 ช่อง ขณะเดียวกันบริเวณเกาะกลางถนนจะเป็นเส้นทางมอเตอร์เวย์สายดังกล่าว ขณะนี้กรมเริ่มก่อสร้างทางบริการแล้ว ซึ่งจะใช้ระยะเวลานาน หากก่อสร้างทางบริการแล้วเสร็จ จึงจะของบประมาณเพิ่ม เพื่อปรับปรุงมอเตอร์เวย์บริเวณเกาะกลางถนนและสะพานข้ามแม่นํ้าผ่านเส้นมอเตอร์เวย์สายนี้

ขณะการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) โครงการเร่งด่วนต้องดำเนินการ ได้แก่ ทางด่วน-อุโมงค์ สายกระทู้-ป่าตอง ส่งเสริมการเดินทาง นักท่องเที่ยวและลดอุบัติเหตุทางถนนส่วนโครงการก่อสร้าง

 

สายสีส้ม -ม่วงใต้พร้อม

นายภคพงศ์ ศิริ-กันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) กล่าวว่าโครงการรถไฟฟ้าส่วนใหญ่ได้ผ่านความเห็นชอบจากครม. แล้ว ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์ บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) วงเงิน 124,791 ล้านบาท อยู่ระหว่างรอพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เวนคืนรวมทั้งรถไฟฟ้าสายสีส้ม

 

บีทีเอสสนทุกโอกาส

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ระบุ ทันทีที่ รัฐบาลเปิดรายชื่อโครงการขนาดใหญ่ 41 โครงการ บริษัทยอมรับว่าสนใจประมูลเกือบทุกโครงการ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีส้ม มอเตอร์เวย์สาย 8นครปฐม-ชะอำ ซึ่งมองว่ามีความคุ้มค่า 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3555 วันที่ 8-11 มีนาคม 2563