แล้งทุบเศรษฐกิจหมื่นล้าน

10 ม.ค. 2563 | 10:33 น.

ม.หอการค้าไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธันวาคม ต่ำสุดรอบ 68 เดือน หลังสารพัดปัจจัยรุม ชี้ภัยแล้งทุบเศรษฐกิจ 10,000 ล้านบาท เล็งลดจีดีพี ปี 63

 

ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยถึง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนธันวาคม2562 อยู่ที่ระดับ 68.3 ลดจากระดับ 69.1 ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 68 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสถานการณ์ในอนาคตปรับตัวลดลงต่อเนื่องเช่นกัน

แล้งทุบเศรษฐกิจหมื่นล้าน

ปัจจัยสำคัญคือ ความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองทั้งในปัจจุบันและอนาคต และยังกังวลเกี่ยวกับสงครามสหรัฐกับจีน การถอนตัวจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ(เบร็กซิท) ที่ยังไม่มีความชัดเจน นอกจากนี้ยังไม่เห็นบรรยากาศที่สดในในอนาคต เนื่องจากยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า เงินของภาครัฐยังไม่เคลื่อนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ค่าเงินบาทแข็งค่า และเป็นจุดที่ทำให้การส่งออกลำบาก เมื่อแลกกลับมาเป็นเงินบาทแล้วมีรายได้ต่ำลง รวมถึงแม้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย แต่รายได้จากภาคการท่องเที่ยวลดลง เพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง ทั้งยังมีความกังวลหลักในเรื่องของงบประมาณประจำปี 2563 ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถออกมาได้หรือไม่ รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ และการเกิดแฟลชม็อป ปัจจัยทั้งหมดจึงทำให้ยังไม่มีบรรยากาศที่ดีในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563

 “การเติบโตของปี 2562 อยู่ที่ 2.5-2.6% ถือว่าไม่ได้แย่สุดในรอบ 20 ปี แต่เป็นจุดต่ำสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เพราะหากนับในปี 2558-2561 เศรษฐกิจไทยเติบโตเกิน 3% ในส่วนของอัตราการจ้างงานก็ยังคงมี เพราะอัตราการว่างงานปิดสิ้นปีอยู่ที่ 1.1% ทำให้ความกังวลว่าปี 2563 จะเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจ เป็นบรรยากาศที่กระทบมาจากการมองภาพรวมในอนาคตไม่สดใส”

 

ดร.ธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า  สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เปิดเดือนมกราคม 2563 มา คือ การแข็งค่าของเงินบาทที่หลุดระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ แม้ยังไม่มีสัญญาณของการแข็งค่าขึ้น และมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้ส่งสัญญาณในลักษณะนี้ ภายในกรอบข้อพิพาทระหว่างสหรัฐและอิหร่าน ที่ดูยังนิ่งอยู่ในขณะนี้ และตลาดเริ่มคลายตัวมากขึ้น เพราะเชื่อว่าจะไม่มีสงครามใหญ่เกิดขึ้น แต่ความเสี่ยงยังคงอยู่ต่อไปสักระยะ โดยต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะล่าสุดเครื่องบินของสหรัฐตก มีกระแสข่าวว่ามาจากขีปนาวุธของอิหร่าน ทำให้หากสหรัฐมีมาตรการตอบโต้อีก จะเป็นประเด็นเชิงลบใหม่ และสร้างผลกระทบต่อบรรยากาศในภาพรวม

แล้งทุบเศรษฐกิจหมื่นล้าน

นอกจากนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะทำให้ราคาน้ำมันดิบจากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่ 65 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 75-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งได้มีการวิเคราะห์ว่า หากสถานการณ์รุนแรงขึ้นมากๆ จะทำให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งการที่น้ำมันปรับขึ้นทุก 1 บาท ทั้งเบนซินและดีเซล ที่มีปริมาณการใช้จำนวนวันละ 70 ล้านลิตร  จะทำให้ประชาชนต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น 2,100 ล้านบาทต่อเดือน จึงเห็นภาพการตรึงราคาน้ำมันและพลังงานของกระทรวงพลังงาน และจำกัดวงเงินของเพดานน้ำมันไม่ให้ทะลุและบานปลาย เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจ อีกทั้งการใช้จ่ายภาครัฐ คาดว่าในเดือนมิถุนายน 2563 จะเริ่มมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษกิจ ส่วนการประมูลโครงข่าย 5จี ที่เกิดการใช้จ่ายในการลงทุน จะเป็นอีกปัจจัยบวกในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 จึงคาดว่าเม็ดเงินส่วนใหญ่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และเห็นผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในช่วงครึ่งหลังปีนี้

 

แล้งทุบเศรษฐกิจหมื่นล้าน

สำหรับผลกระทบจากภัยแล้งนั้นคาดการณ์จะมีผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยให้ลดลง 0.03% หรือคิดเป็นมูลค่าที่เสียหาย 8,000-10,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นภาคเกษตร โดยเฉพาะการทำทำนาปรังที่จะเสียหาย 3 ล้านไร่ หรือข้าวเสียหายไป1.5 ล้านตัน แต่ทางศูนย์ฯคาดว่าภาครัฐน่าจะมีมาตรการเยียวยาดูแลเกษตรกรต่อไป ส่วนภาคอุตสาหกรรมคาดว่าจะได้รับผลกระทบไม่มากเพราะอุตสาหกรรมหลายแห่งได้เตรียมแผนรับมือแล้ว

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2563 หอการค้าฯเตรียมที่จะปรับลดการเติบโตลงจากเดิมที่คาดว่า จะโตได้ 3.1 %  ทั้ง โดยจะแถลงในวันจันทร์ที่ 13 ม.ค. ส่วนภาคส่งออกก็จะปรับลดลงเช่นกัน จากเดิมที่ประเมินว่า การส่งออกในปีนี้จะโต 1.8% โดยมองว่าสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการในช่วงต่อจากนี้คือ เร่งการใช้จ่ายเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้ออกมาในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปีนี้ รวมถึงดูแลและแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในขณะนี้รักษาการเมืองให้มีเสถียรภาพมากที่สุด ประกอบกับต้องหาแนวทางรักษาระดับค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์

 “ค่าเงินบาทหลุดระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์  ต้องดูว่าหลุดเพราะปัจจัยอะไร ซึ่งหากสาเหตุมาจากการเข้าเก็งกำไรค่าเงิน และหลุดระดับเร็วในช่วง 3 เดือนจากนี้ จะสร้างความน่ากังวลให้กับเศรษฐกิจไทย แต่หากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวระหว่าง 29.5-30 บาทต่อดอลลาร์ เชื่อว่าภาคเอกชนจะประคองและรับมือกับสถานการณ์ได้ โดยเอกชนมองว่าค่าเงินบาทอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์ เป็นระดับที่เหมาะสม”