เทรนด์เทคโนโลยี เพื่อสุขภาพ รพ.รามาธิบดี

02 มิ.ย. 2564 | 01:30 น.

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้โลกมีความต้องการด้านระบบสาธารณสุข ที่มีคุณภาพมากกว่าครั้งใดในประวัติศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ก่อตั้งขึ้นพร้อมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ต้องเตรียมความพร้อม ทั้งในแง่ของการเปิดให้บริการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ และการทำงานร่วมกับสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ จ.สมุทรปราการ ในการรองรับการรักษาผู้ติดเชื้อ รวมถึงการวิจัยพัฒนาสารสกัด เพื่อต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 นับตั้งแต่เกิดการระบาดในประเทศ

ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิรามาธิบดีฯ กล่าวว่า จากวิกฤติการณ์ที่ยังคงมีความเสี่ยงมากในปัจจุบัน สถาบันจักรีนฤบดินทร์ก็ได้นำเอาเทคโนโลยีด้านการแพทย์ มาปรับใช้ในการดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ระบบ Telemedicine ใช้ในการตรวจรักษา เพื่อลดการเดินทางมายังโรงพยาบาลของผู้ป่วย เพื่อช่วยลดโอกาสการได้รับเชื้อระหว่างเดินทางและอำนวยความสะดวก ในกรณีที่ไม่สามารถเดินทางมาพบแพทย์ได้ รวมถึงการนำหุ่นยนต์มาใช้เพื่อให้บริการผู้ป่วย และลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อ

ภารกิจสำคัญของรามาธิบดีที่กำลังพัฒนาอยู่ในตอนนี้ รวมถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีด้านระบบสุขภาพในอนาคต เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นเมืองหลวงของโลกด้านการดูแลสุขภาพ จากการวิจัยของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เดินหน้า 3 เทรนด์หลักของเทคโนโลยีด้านสุขภาพ ประกอบด้วย

1. Value-based Care การดูแลสุขภาพโดยเน้นคุณค่า
โรงพยาบาลรามาธิบดีมุ่งเน้นการพัฒนาบริการสาธารณสุข โดยการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งการส่งเสริมศักยภาพทรัพยากรบุคลากรทางการแพทย์วัยเกษียณ เพื่อให้บริการทางการแพทย์เชิงรุกให้แก่หน่วยงานเอกชนต่างๆ ที่รามาธิบดีได้เข้าไปจัดตั้งศูนย์สุขภาพภายใน (Rama Frontier) รวมถึงแผนการพัฒนาศูนย์การแพทย์รามาธิบดีศรีอยุธยา โดยพัฒนาพื้นที่บริเวณถนนศรีอยุธยา เพื่อให้เป็นศูนย์ดูแลสุขภาพที่หลากหลาย เช่น การรักษาภาวะผู้มีบุตรยาก, การดูแลหัวใจ, การศัลยกรรมตกแต่งและเลเซอร์ศัลยกรรมผิวหนัง เป็นต้น

 2. Ageing Society เตรียมความพร้อมเพื่อรับสังคมสูงวัย
ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุมีตัวเลขเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ ซึ่งถือว่ามีอัตราการเติบโตเป็นอันดับ 3 ในทวีปเอเชีย รองมาจากประเทศเกาหลีใต้ และประเทศญี่ปุ่น ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวในปี พ.ศ.2565 ด้วยเหตุนี้รามาธิบดีจึงจัดตั้งโครงการศูนย์ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุแบบครบวงจร (Senior Complex) ร่วมกับกรมธนารักษ์ โดยมุ่งหวังให้เป็นที่พักอาศัยแบบครบวงจรของผู้สูงอายุที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียบพร้อมและมีบุคลากรทางการแพทย์คอยให้การดูแลด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง

3. Disruptive Technology เทคโนโลยีสุขภาพแบบใหม่ที่เปลี่ยนโลกการแพทย์แบบเดิม

นับตั้งแต่มีการพัฒนาระบบ AI เทคโนโลยีต่างๆ ก็ถูกพัฒนาประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นรวมถึงเทคโนโลยีด้านสุขภาพด้วย ในส่วนของการเรียนการสอนโรงเรียนแพทย์รามาธิบดี ได้นำนวัตกรรมใหม่ๆ มาให้นักศึกษาแพทย์ได้ทดลองใช้ เช่น เครื่องอัลตร้าซาวนด์ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบคลาวด์ในการส่งต่อข้อมูลผู้ป่วย เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ รวมถึงการพัฒนาศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เพื่อให้เป็นแหล่งวิจัยระบบพันธุกรรมที่เป็นรากฐานของสิ่งมีชีวิตทุกประเภท 

ตัวอย่าง งานวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ ก็คือ งานวิจัยสารสกัดจากกระชายขาว ในการยับยั้งเชื้อไวรัส ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา เพื่อเป็นยาสำหรับรักษาโรคโควิด-19 ที่รามาธิบดียังให้ความสำคัญกับการนำระบบเทคโนโลยีที่หลากหลายมาใช้ในการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นแพทย์ยุคดิจิทัลต่อไปในอนาคต

ภารกิจด้านการพัฒนาบริการด้านสุขภาพ และการยกระดับการเรียนการสอนของหลักสูตรแพทย์ นับเป็นภารกิจสำคัญที่จะช่วยให้ระบบสาธารณสุขไทยก้าวไกลยิ่งขึ้น ซึ่งรามาธิบดีก็มุ่งหวังที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างมาตรฐานการแพทย์ให้มีคุณภาพในระดับโลก 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,683 วันที่ 30 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน พ.ศ. 2564