กฟผ.ยอมตัดใจทิ้งถ่านหินที่กระบี่ ลงทับสะแกได้เสียงชาวบ้านหนุน

08 ก.ย. 2559 | 09:00 น.
กฟผ.ถอดใจโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ หันทัพลุยโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแก2 พันเมกะวัตต์แทน หลังมีชาวบ้านหนุนให้เกิดขึ้น แต่ต้องรอนโยบายจากกระทรวงพลังงานสั่งการปลดล็อก เพราะมีพันธะสัญญาประชาชนในพื้นที่สมัยปิยสวัสดิ์“กรศิษฏ์”เผยจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าใหม่ต้นทุนถูก เพื่อรักษาความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศ

นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมาได้มีประชาชนและผู้บริหารท้องถิ่น อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อเรียกร้องให้มีการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว โดยเป็นพื้นที่ที่กฟผ.จัดซื้อไว้กว่า 10 ปีที่แล้วกว่า 4 พันไร่ ในสมัยที่นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แต่เกิดการต่อต้านและมีพันธะสัญญาว่าจะไม่นำพื้นที่ทับทะแกมาก่อสร้างโรงฟ้าถ่านหินอีก

แต่ทั้งนี้ เมื่อเป็นความต้องการของชุมชนในท้องที่ ที่จะให้เกิดการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ขึ้นมา กฟผ. คงตัดสินใจเองไม่ได้ คงต้องรอนโยบายของภาครัฐสั่งการ หากนโยบายของภาครัฐเปิดทางและชุมชนยอมรับ กฟผ. ก็มีศักยภาพในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ทับสะแก กำลังการผลิต 2 พันเมกะวัตต์ ซึ่งอาจเป็นโครงการถัดจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 2 พันเมกะวัตต์ ที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2564 ให้สามารถก่อสร้างได้ตามแผนก่อน เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ยอมรับ ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 860 เมกะวัตต์ หากเกิดการต่อต้านหรือชุมชนไม่ยอมรับ และทางคณะกรรมการไตรภาคีตัดสินใจที่จะไม่เดินหน้าก่อสร้างในช่วงเดือนกันยายนนี้ ก็คงต้องยอมรับตามมติ และหันไปก่อสร้างในพื้นที่ที่ชุมชนยอมรับแทน

นอกจากนี้ กฟผ. ได้มีการศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) เป็นเชื้อเพลิงในพื้นที่ฝั่งอันดามันไว้ 3-4 แห่ง เพื่อรองรับกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาว(พีดีพี 2015) เพราะหากประชาชนไม่ยอมรับเชื้อเพลิงถ่านหินก็ต้องใช้แอลเอ็นจีแทน แต่จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟสูงขึ้นในอนาคต ดังนั้น กฟผ. ซึ่งถูกมอบหมายให้รักษาความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศ จึงต้องการคุมราคาต้นทุนไฟฟ้าไม่ให้แพงเกินไป

"หากชุมชนทับสะแก ต้องการให้ กฟผ. ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ ก็ต้องขอยกเลิกสัญญาฉบับเดิมจากภาครัฐก่อน เพราะ กฟผ.คงไม่สามารถทำอะไรไม่ได้ ต้องรอความชัดเจนนโยบายของภาครัฐว่าจะให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ทับสะแกหรือไม่ หากอนุมัติ กฟผ.ก็มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด Ultra Super Critical เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ขณะเดียวกัน กฟผ.ยังเน้นไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนมากขึ้นด้วย ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านกระบี่ หากต้องยกเลิกคงไม่มีปัญหา เพราะมีโรงไฟฟ้าก๊าซรองรับ และไปศึกษาโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแกแทน"นายกรศิษฏ์ กล่าว

นายสมนึก รุ่งกำจัด ประธานชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อำเภอทับสะแก เปิดเผยว่า ตัวแทนชาวอำเภอทับสะแกกว่า 20 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อเรียกร้องการพัฒนาโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ที่อำเภอทับสะแก เนื่องจากที่ผ่านมา กฟผ. ซื้อพื้นที่กว่า 4 พันไร่ แต่ไม่เกิดการพัฒนาจนกลายเป็นพื้นที่รกร้าง ทำให้ชุมชนเสียโอกาส ระบบเศรษฐกิจด้อยกว่าอำเภออื่นๆในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยปัจจุบันชาวทับสะแกกว่า 99% เห็นด้วยที่จะให้เกิดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ แม้ว่าที่ผ่านมาจะเกิดการต่อต้าน แต่คนที่ต่อต้านสมัยนั้น เป็นคนนอกพื้นที่ ขณะเดียวกันกลุ่มประมงที่เคยออกมาคัดค้านเพราะห่วงเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็มีความเข้าใจและให้การสนับสนุนแล้ว

ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา กฟผ. มีการทำความเข้าใจเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด และพาไปดูโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และมาบตาพุด พบว่าการประมงไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด ดังนั้นชุมชนทับสะแกจึงต้องการปลดล็อกพันธะสัญญาสมัยนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เมื่อปี 2550 ที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดการพัฒนาโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในพื้นที่ เพราะเห็นว่าหากมีโรงไฟฟ้าก็จะมีเงินจากกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าที่เพียงพอในการใช้ส่งเสริมการจ้างงาน สนับสนุนด้านเศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นชาวทับสะแกอยากให้ภาครัฐตัดสินใจโดยเร็วในการเลือกพื้นที่ทับสะแกก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,190 วันที่ 8 - 10 กันยายน พ.ศ. 2559