ตลาดอาหารทางการแพทย์บูมยอดขายพุ่ง60%

04 ก.ย. 2559 | 11:00 น.
ตลาดอาหารทางการแพทย์โตรับเทรนด์ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง “ฟาร์แมกซ์” ยอดขายพุ่ง 50-60% เล็งเปิดบริการเดลิเวอรี่ ด้านไทยโอซูก้า เปิดตัวสินค้าใหม่พรีเมียมจับตลาดผู้ป่วยเบาหวาน ตั้งเป้าขึ้นเบอร์ 1 เหมือนในญี่ปุ่น
ภ.ก.ธัชพล ชลวัฒนสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟาร์แมกซ์ รีเทล จำกัด ผู้บริหารร้านยาฟาร์แมกซ์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ ที่คาดว่ามีมากกว่า 6 ล้านคน และจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ เช่น โรคเบาหวาน โรคไต และโรคความดัน เป็นต้น ส่งผลทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์เติบโตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสินค้าที่วางจำหน่ายภายในร้านฟาร์แมกซ์ ที่มีอยู่กว่า 10 แบรนด์ จำนวนประมาณ 20-30 รายการ พบว่ามีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 50-60% จากปีที่ผ่านมา

“การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประกอบกับมีผู้ป่วยด้วยโรคต่างๆ มากขึ้น ทำให้อาหารทางการแพทย์เติบโตตามไปด้วย ซึ่งอาหารสำหรับโรคเบาหวานมียอดขายมากสุดถึง 70% รองลงมาเป็นโรคไต และอาหารสำหรับผู้ป่วยที่ขาดสารอาหาร โดยที่ผ่านมาบริษัทได้เห็นแนวโน้มการเติบโต จึงได้ขยายพื้นที่ขายด้วยการจัดชั้นสำหรับสินค้ากลุ่มนี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ ส่วนแผนงานในอนาคตได้เตรียมพัฒนาระบบสมาชิก เพื่อเก็บข้อมูลและประวัติการซื้อสินค้า ต่อไปอาจจะมีบริการจัดส่งสินค้าในแบบเดลิเวอรี่ด้วย ซึ่งสามารถทำได้เพราะเป็นสินค้าประเภทอาหาร ไม่ใช่ยา”

ด้านนายชินสึเกะ ยูอาสะ ประธาน บริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจอาหารทางการแพทย์ในเมืองไทยมีอย่างต่อเนื่อง บริษัทจึงให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุม โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ โดยได้ตั้งเป้าหมายเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งในใจของผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์อาหาร เช่นเดียวกับในประเทศญี่ปุ่น ล่าสุดได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำตาล ควบคุมน้ำหนัก เช่น ผู้ที่มีปัญหาการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

สำหรับกลยุทธ์การทำตลาด จะให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญที่จะให้คำแนะนำข้อมูลด้านสุขภาพกับคนไข้ โดยบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลคนไข้เบาหวาน โรคอ้วน รู้จักอาหารทางการแพทย์ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ อย่างน้อย 30% ของจำนวนทั้งหมดในไทย เน้นขายและกระจายสินค้าผ่านช่องทางร้านขายยา เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงของผู้บริโภค นอกเหนือจากการวางจำหน่ายผ่านโรงพยาบาล หน่วยโภชนบำบัดในโรงพยาบาล

“อาหารทางการแพทย์ที่มีค่าดัชนีนํ้าตาลตํ่า บริษัทวางเป้าหมายที่จะเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง เนื่องจากกลุ่มนี้มีความรู้เรื่องการดูแลรักษาสุขภาพเป็นอย่างดี จากการรุกตลาดครอบคลุมทุกกลุ่มดังกล่าวบริษัทมั่นใจว่าจะสามารถขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของตลาดผลิตภัณฑ์โภชนาการเบาหวานของเมืองไทยในปี 2565จากปัจจุบันที่มีส่วนแบ่งตลาดโภชนาการโรคเบาหวานอยู่ประมาณ 30% และคาดว่าจะเติบโตขึ้นอีกกว่า 300% ในปีหน้าด้วย”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,187 วันที่ 4 - 7 กันยายน พ.ศ. 2559