หวังว่าเฟดจะไม่ขึ้นดอกเบี้ย

27 ส.ค. 2559 | 13:00 น.
ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด จะปรับขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ขึ้นอยู่กับตัวเลขอัตราการว่างงานกับเงินเฟ้อว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ ซึ่งขณะนี้จะเห็นได้ว่าอัตราการว่างงานของสหรัฐฯดีขึ้น คืออัตราการว่างงานอยู่ที่ระดับ 4.9% ซึ่งใกล้เคียงกับระดับเดิมก่อนที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวลง ส่วนอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯก็ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่วางไว้ 2% ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าจะพอใจทั้ง 2 ตัว นั่นหมายความว่าถ้าไม่มีตัวแปรอย่างอื่นมาให้ขบคิดเชื่อว่าเฟดอาจพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยได้สำหรับการประชุมในปลายสัปดาห์นี้

แต่ไม่มีอะไร 100% เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอสำหรับสหรัฐอเมริกา เป็นต้นว่า เขาอาจจะพอใจที่อยู่ในสภาพเช่นนี้ก็ได้ เพราะอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เป็นอยู่นี้ ก็ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ขณะที่ประเทศคู่ค้าที่สำคัญอย่างญี่ปุ่นค่าเงินเยนแข็งขึ้นเป็นลำดับ และสังเกตว่าแม้แต่ญี่ปุ่นจะออกมาตรการเศรษฐกิจใดๆ ออกมาทั้ง "โปรยเงิน" โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น ทั้งรัฐบาลใช้มาตรการการคลังทุ่มเทงบประมาณออกมาเท่าไหร่ แทนที่ค่าเงินเยนควรจะอ่อนค่าลงกลับทำให้ค่าเงินเยนแข็งขึ้นไปอีก แข็งจนถึงระดับ 100 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯไปแล้ว

ก่อนจะว่ากันต่อไปลองมาดูอัตราดอกเบี้ยของธนาคารประเทศต่างๆ ที่ประกาศออกมาและเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร พบว่าอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐฯอยู่ที่ระดับ 0.25 - 0.5% ธนาคารกลางยุโรปอยู่ที่ระดับ 0.0% ธนาคารกลางอังกฤษอยู่ที่ระดับ 0.25 % ธนาคารกลางญี่ปุ่นอยู่ที่ระดับ - 0.1% ธนาคารกลางจีนอยู่ที่ระดับ 4.35% ธนาคารกลางอินเดียอยู่ที่ระดับ 6.5% และธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 1.5%

ปกติแล้วเงินทุนจะไหลขึ้นสู่ที่สูง แต่ตัวตัดสินใจเข้าไปลงทุนหรือย้ายเงินเข้าประเทศใดไม่ได้ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยเพียงสถานเดียว มีองค์ประกอบอื่นๆ ด้วยและที่สำคัญคือความเสี่ยงในประเทศนั้นๆ นั่นเอง จีนเงินทุนอาจสนใจไหลเข้าไปน้อยลงอาจเป็นเพราะว่าสถาบันการเงินจีนกำลังอยู่ในจุดเสี่ยงเนื่องจากปล่อยกู้เป็นวงเงินมหาศาลในประเทศ ระดับปล่อยกู้ภายในประเทศให้กับธุรกิจสูงถึง 145% เทียบกับจีดีพีของจีนไปแล้ว และเมื่อเทียบกับ 10 ปีย้อนหลังจะอยู่ที่ระดับ 100% เทียบกับจีดีพีของจีนเอง

นั่นหมายความว่าธนาคารจีนคงออกมาตรการอย่างหนึ่งอย่างใดออกมาอีก เพื่อให้เศรษฐกิจ "ซอฟต์แลนดิ้ง" ลง แม้ว่าก่อนหน้านี้ได้ออกกฎห้ามไม่ให้ประชาชนโดยทั่วเข้าไปเข้าไปลงทุนในบริษัทที่ไม่ได้มีเรตติ้ง หรือไปลงทุนใน "สินทรัพย์สินเชื่อที่ไม่เป็นมาตรฐาน" ของบริษัทต่างๆ หรือบริษัทย่อยที่ธนาคารพาณิชย์จีนตั้งขึ้นมา (shadow credit products) และให้ผลตอบแทนนักลงทุนสูงถึง 11-14% ในขณะที่ผลตอบแทนปรกติในการให้สินเชื่ออยู่ที่ระดับ 6% และ 3 - 4 % สำหรับการลงทุนในพันธบัตร

ด้านญี่ปุ่นนั้นกำลังเผชิญปัญหาค่าเงินเยนแข็งและแข็งที่สุดในรอบ 7 สัปดาห์ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการที่ค่าเงินแข็ง ย่อมทำให้ศักยภาพในการนำเข้าย่อมสูงขึ้น แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับประเทศญี่ปุ่นไม่เป็นเช่นนั้น โดยภาพรวมแล้วการที่ค่าเงินเยนแข็งและเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้การส่งออกของญี่ปุ่นเดือนกรกฎาคม 2559 ลดลง 14% ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และการนำเข้าก็ยังคงลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 19 แล้ว โดยเดือนกรกฎาคมนำเข้าลดลงมาถึง 24.7% การนำเข้าลดลงเช่นนี้นั่นก็หมายถึงว่า เป็นการยากที่สหรัฐฯจะหวังให้ญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าค่าเงินเยนจะแข็งเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ และอำนวยต่อการนำเข้าก็ตาม ยิ่งหากสหรัฐฯประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็เท่ากับดอลลาร์สหรัฐฯจะแข็งค่าขึ้นไปอีก และค่าเยนอาจอ่อนค่าลงไปบ้าง ทำให้ศักยภาพในการนำเข้าของประเทศญี่ปุ่นกลับยิ่งลดลงไปอีก

สรุปแล้วผมเชื่อว่าเฟดน่าจะยอมรับและควรจะพอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ในเวลานี้ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยไม่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับประเทศคู่ค้าไม่ว่าญี่ปุ่น จีน สหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร ครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,186 วันที่ 25 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2559