500 เต็นท์รถทั่วกรุงมีหนาว สคบ.ไล่จัดระเบียบกันย้อมแมว

15 ส.ค. 2559 | 12:00 น.
สคบ. เร่งจัดระเบียบเต็นท์รถมือสอง เตรียมเรียกผู้ประกอบการทั่วกรุง 500 รายชี้แจงปลายเดือนสิงหานี้ ระบุต้องติดฉลากระบุรายละเอียดยิบ หากละเลยเจอโทษหนักปรับ 5 หมื่น-จำคุก 6 เดือน ย้ำซื้อรถต้องได้ใบเสร็จถูกต้อง เผยสถิติผู้บริโภคร้องเรียนเรื่องรับประกันมากที่สุด ด้านเต็นท์รถขานรับ ชี้ช่วยยกกระดับธุรกิจให้ดีขึ้น แต่รายย่อย-รายเล็กที่ปรับตัวไม่ทันสูญพันธุ์แน่

นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในวันที่ 20-22 สิงหาคมนี้ สคบ.จะเชิญนายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว และผู้ประกอบการเต็นท์รถยนต์มือสองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลประมาณ 500 ราย มาร่วมประชุมเพื่อชี้แจงระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจจำหน่ายรถยนต์มือสอง เนื่องจากที่ผ่านมาจะพบว่าผู้ประกอบการยังดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎหมายของ สคบ. ได้แก่ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 24 (พ.ศ.2550) เรื่องให้รถยนต์ใช้แล้วเป็นสินค้าควบคุมฉลาก และประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการขายรถยนต์ใช้แล้วเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการ รับเงิน พ.ศ.2550

สำหรับประกาศว่าด้วยการควบคุมฉลากฯ กำหนดให้ระบุข้อมูลด้วยตัวอักษรขนาดไม่ต่ำกว่า 1 เซนติเมตรเกี่ยวกับรถยนต์ใช้แล้ว ซึ่งประกอบด้วย 1.วันจดทะเบียน 2.เลขทะเบียน 3.เลขตัวรถ 4.เลขเครื่องยนต์ 5.ยี่ห้อรถ 6.ยี่ห้อเครื่องยนต์ 7. สี 8. ประเภทของรถ 9.ชนิดเชื้อเพลิง 10.ลำดับของเจ้าของรถ และ 11 ภาระผูกพันของรถยนต์ที่มีอยู่ในวันจำหน่าย (ถ้ามี) โดยที่ผ่านมาสคบ.พบว่า ฉลากที่ติดอยู่บริเวณหน้ารถปัจจุบันถือว่าผิดกฎหมายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรถที่ขายในบริเวณถนนรัชดาภิเษก ถนนกาญจนาภิเษก หรือถนนแจ้งวัฒนะ เพราะไม่ได้ระบุข้อความสำคัญตามกฎหมายกำหนด ที่สำคัญบนฉลากจะต้องระบุภาระผูกพันว่ารถคันดังกล่าวติดสถาบันการเงินหรือ มีภาระผูกพันทางกฎหมายหรือไม่ รถวิ่งมาแล้วเป็นระยะทางกี่กิโลเมตร ซึ่งโทษของการไม่ติดฉลากให้ถูกต้อง มีตั้งแต่โทษปรับ 5 หมื่นบาท หรือ จำคุก 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ ระบุว่า ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องออกหลักฐานการรับเงินให้แก่ผู้บริโภค ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน ขนาดตัวอักษรไม่เล็กกว่า 2 มิลลิเมตร และต้องมีข้อความที่เป็นสาระสำคัญ อาทิ รายละเอียดของรถยนต์ที่ใช้แล้วเกี่ยวกับ ยี่ห้อ รุ่น ปี สี หมายเลขเครื่องยนต์ หมายเลขตัวถัง หมายเลขทะเบียน ภาระผูกพัน และจำนวนเงิน เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาสคบ.พบว่า หลักฐานการรับเงินหรือใบเสร็จที่ผู้ประกอบการใช้อยู่ในปัจจุบันผิดเกือบทั้ง หมด เพราะเป็นการเขียนด้วยลายมือ ไม่มีแบบฟอร์มที่ถูกต้อง และไม่ได้ระบุข้อความตามกฎหมาย โดยเฉพาะการรับประกันที่มีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามายังสคบ.มากที่สุด

"ผู้ขายจะบอกว่าซื้อแล้วไม่รับคืนหรือไม่รับผิดชอบไม่ได้ ซึ่งใบเสร็จจะต้องบอกว่ารับประกันกี่เดือนกี่ปี หรือระยะทางเท่าไร ซึ่งโทษของการไม่ใช้ใบเสร็จให้ถูกต้องจะจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แบบฟอร์มที่ถูกต้องผู้ประกอบการสามารถขอดูได้ที่สคบ. นอกจากเต็นท์รถมือสองที่ต้องใช้ใบเสร็จให้ถูกต้องแล้ว อู่ซ่อมรถก็ถือเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่พบว่ายังไม่ใช้ใบเสร็จที่ถูกต้อง ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเช่นกัน ยกเว้นบริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่ที่มีอู่มาตรฐานเท่านั้นที่ทำถูกต้อง แต่อู่ทั่วไปยังทำผิดกฎหมาย สคบ.จึงจะต้องย้ำเตือนประชาชนให้เรียกหาใบเสร็จทุกครั้งที่ใช้บริการ รวมถึงการให้ความรู้กับผู้ประกอบการอู่ซ่อมรถด้วย"

นายอำพล กล่าวอีกว่า การลงพื้นที่ให้ความรู้กับผู้บริโภคและออกตรวจร้านค้าในต่างจังหวัด พบว่าผู้บริโภคร้องเรียนเกี่ยวกับการซื้อรถยนต์มือสองเข้ามามากที่สุด โดยมี 3ประเด็นที่เป็นปัญหา ได้แก่ 1. ซื้อรถแล้วไม่สามารถโอนได้ เนื่องจากหมายเลขเครื่องยนต์ หมายเลขตัวถัง ไม่ตรงกับคู่มือการจดทะเบียนรถ 2. รถยนต์ที่ซื้อมีภาระผูกพัน รถยังเป็นกรรมสิทธิ์ของสถาบันการเงิน ทำให้ผู้บริโภคเมื่อซื้อแล้วจะต้องผ่อนชำระค่างวดต่อ และ 3. รถยนต์ถูกยึดโดยไม่ได้แจ้งผู้ซื้อให้ทราบล่วงหน้า

"ผู้บริโภคที่ซื้อรถไปแล้วบางครั้งขาดการผ่อนชำระ 3 เดือน ขับรถไปจอดไว้ตามที่ต่างๆ แล้วปรากฏว่าบริษัทหรือเต็นท์รถที่ขายมายึดรถโดยเจ้าของไม่รู้ตัวมาก่อน ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ เพราะหากลูกค้าขาดการชำระค่างวด 3 งวด บริษัทจะต้องแจ้งเป็นหนังสือบอกเลิกสัญญาก่อน พอทราบแล้วจึงจะยกเลิกสัญญาได้ แล้วจึงจะมีสิทธิ์มายึดรถ สคบ.จึงต้องเตือนผู้ประกอบการให้ได้รับทราบถึงวิธีที่ถูกต้อง จากการลงพื้นที่ไปเกือบ 20 จังหวัด พบว่าส่วนใหญ่ทำผิดทั้งหมด และไม่ค่อยรู้กฎหมายซึ่งได้ให้ระยะเวลา 2 เดือนในการดำเนินการให้ถูกต้อง ซึ่งพบว่าเมื่อครบระยะเวลาสามารถทำตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว"

ด้าน นายวิสุทธิ์ เหมพรรณไพเราะ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว เผยว่า ในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ ทาง สคบ.จะมีการประชุมร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว เพื่อร่วมหารือและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจจำหน่ายรถยนต์มือสอง โดยเฉพาะเรื่องการติดฉลากฯ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯจำนวนกว่า 200 รายได้ให้ความร่วมมือในการติดอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามผู้ประกอบธุรกิจรถมือสองรวมๆทั่วประเทศมีกว่า 1 หมื่นราย และมีประมาณ 4 พันรายเท่านั้นที่มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง และที่เหลือบางรายไม่มีหน้าร้าน หรือ บางรายเป็นรายเล็กๆจึงไม่จดทะเบียน ดังนั้นการบังคับใช้ต่างๆหรือการตรวจสอบอาจจะมีความยากลำบาก และต้องใช้เวลา เพราะขนาดสมาชิกในสมาคมยังมีเพียง 200 ราย เนื่องจากบางรายที่ไม่ได้เข้าร่วมมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก และบางรายอาจจะไม่พร้อมที่จะปรับตัว และประการสุดท้ายคือคนที่จะเป็นสมาชิกของสมาคมฯจะต้องทำการจดทะเบียนให้ถูกต้อง

นายวิสุทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเบื้องต้นหาก สคบ. ช่วยเป็นกลไกหลักและมีการทำตราสัญลักษณ์เพื่อช่วยการันตีความเป็นมาตรฐาน หรือ ถูกต้องตามกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆก็จะเป็นเรื่องที่ดี และจะช่วยยกระดับผู้ประกอบการรถมือสอง และยังช่วยผู้บริโภคให้ได้สินค้าที่ดีมีคุณภาพ

เช่นเดียวกับนายพิชิต จันทรเสรีกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงไทย ออโต โมบิล จำกัด ผู้ประกอบการโตโยต้า ชัวร์ กรุงไทย เผยว่า ในแง่ของผู้ประกอบการรายใหญ่มีการติดฉลากข้อมูลอย่างชัดเจนสามารถตรวจสอบที่มาที่ไปข้อมูลต่างๆของตัวรถได้ อย่างไรก็ตามการที่ สคบ.มีการเพิ่มรายละเอียดเข้ามาน่าจะส่งผลกับผู้ประกอบการรายย่อย – รายเล็ก ที่จะมีภาระเรื่องงานเอกสารที่มากขึ้น ส่วนผู้ประกอบการที่เป็นเต็นท์ที่ไม่ถูกกฎหมายก็จะต้องปรับตัว

"มาตรการต่างๆ ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการยกระดับรถมือสองให้ดีขึ้น และคนที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดคือผู้บริโภค ที่จะตัดสินใจต่างๆ ได้ง่ายขึ้นเพราะมีข้อมูล และมีความมั่นใจในตัวรถ ส่วนเต็นท์บางรายที่ไม่ได้ถูกกฎหมายก็จะมีความยุ่งยากมากขึ้น ซึ่งหากมีการปรับตัวก็ถือว่าดี แต่ถ้าไม่มีการปรับตัวหรือละเลยก็ต้องหายไป ตรงจุดนี้ถือเป็นการคัดกรองคุณภาพของผู้ประกอบการไปในตัว"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,183 วันที่ 14 - 17 สิงหาคม พ.ศ. 2559