กนง.จับตา2ปัจจัยเสี่ยง เสถียรภาพการเงินจีน - Brexit

12 ก.ค. 2559 | 02:30 น.
เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 4/2559 วันที่ 22 มิถุนายน 2559 โดยได้ชี้ถึงปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย

[caption id="attachment_70167" align="aligncenter" width="700"] ประมาญการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยปี 2559-2560 ประมาญการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยปี 2559-2560[/caption]

ศก.กลุ่มG3ฟื้นตัวช้ากว่าคาด

ภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ เศรษฐกิจคู่ค้าของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน แม้เศรษฐกิจกลุ่มประเทศ G3 (สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น) มีสัญญาณฟื้นตัวจากการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้น โดยเครื่องชี้กิจกรรมของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แสดงถึง การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นคาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากการเลื่อนการขึ้นภาษีการขาย (Sales Tax) ออกไป แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ G3 ยังไม่แข็งแกร่งพอที่จะชดเชยผลกระทบจาก การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่มีต่อภาคการส่งออกของเศรษฐกิจเอเชีย

ประกอบกับการเปลี่ยนแปลง โครงสร้างการค้าโลก อาทิ การปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศต่างๆ ที่ส่งผลให้ความจำเป็นในการนำเข้าสินค้าจากภูมิภาคเอเชียลดลง รวมถึงการสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดในสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงบางประเภทให้กับจีน ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกของเศรษฐกิจเอเชียไม่รวมจีนชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความอ่อนแอของภาคการส่งออกมีผลบั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียในระยะต่อไป ความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงเบ้ไปด้านต่ำ

"ภาคการเงินจีน- Brexit" เสี่ยง

โดยปัจจัยเสี่ยงที่คณะกรรมการฯ ติดตาม อย่างใกล้ชิด ได้แก่ (1) เสถียรภาพของภาคการเงินจีน โดยประเมินว่าภาวะการเงินของจีนอาจตึงตัวขึ้น ในระยะต่อไปตามความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของภาคเอกชนที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อต้นทุนและความสามารถในการระดมทุนของภาคธุรกิจ นอกจากนี้การระดมทุนผ่านช่องทางที่อยู่นอกระบบธนาคาร อาทิ บริษัทหลักทรัพย์และบริษัทย่อยของบริษัทจัดการกองทุน (subsidiaries of fund companies) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งแม้จะช่วยลดทอนความตึงตัวของภาวะการเงินในระยะสั้นลงบ้าง แต่ก็ทำให้ความเสี่ยงด้าน เสถียรภาพของภาคการเงินจีนในระยะข้างหน้าปรับสูงขึ้น

(2)การลงประชามติของสหราชอาณาจักรเพื่อออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (Brexit) โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่า ในกรณีที่คะแนนเสียงข้างมากสนับสนุนการออกจากสหภาพยุโรป ตลาดการเงิน โลกจะมีความผันผวนขึ้นมากในระยะสั้น และอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อการค้าและการลงทุนของเศรษฐกิจ สหราชอาณาจักรในระยะยาว นอกจากนี้ความไม่แน่นอนของกระแสการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของ ประเทศอื่นๆ อาจเพิ่มแรงกดดันต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ตลอดจนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ยุโรปและเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป

จับตา Brexit กระทบศก.ยุโรป

อย่างไรก็ดีคณะกรรมการฯ ประเมินว่า ผลกระทบโดยตรงของ Brexit ต่อเศรษฐกิจเอเชียอาจมีไม่มากเนื่องจากความเชื่อมโยงทางการค้ากับสหราชอาณาจักรที่ค่อนข้างจำกัด แต่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในกรณีที่ Brexit ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปอย่างมีนัยสำคัญ

ด้านภาวะตลาดเงินมีความผันผวนสูงขึ้น ความกังวลเกี่ยวกับ Brexit ทำให้นักลงทุนเพิ่มสัดส่วนการถือครอง สินทรัพย์ปลอดภัย (safe-haven assets) และรอดูทิศทางของสถานการณ์ดังกล่าว ในขณะที่เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวนในระยะต่อไป ซึ่งเป็นผลจากความไม่แน่นอนและความแตกต่างของทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก และความเชื่อมั่นในตลาดการเงินโลกที่อ่อนไหวมากขึ้น

โดยความผันผวนในตลาดการเงินโลกอาจปรับเพิ่มสูงขึ้นมากในระยะสั้นจาก Brexit เป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยจะมีค่อนข้างจำกัดเนื่องจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดีโดยเฉพาะฐานะด้านต่างประเทศที่ เข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวได้

คงจีดีพีปี 59 ที่ 3.1%

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2559 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่เท่ากับที่ประเมินไว้ ในการประชุมครั้งก่อนที่ 3.1% โดยแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศและการท่องเที่ยวช่วยชดเชยการส่งออกสินค้าที่ปรับลดลง ขณะที่ความเสี่ยงด้านต่ำยังมีอยู่จากเศรษฐกิจคู่ค้าที่อาจขยายตัวต่ำกว่าคาด ความสามารถในการรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของภาคครัวเรือนที่อาจน้อยกว่าคาดจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่ยังเปราะบาง

สำหรับในปี 2560 อุปสงค์ในประเทศจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยวจะมีส่วนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่รายได้จากการส่งออกสินค้าจะได้รับผลกระทบจากการฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจคู่ค้า คณะกรรมการฯ จึงปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 มาอยู่ที่ 3.2% จากเดิมที่ 3.3%

โดยเสถียรภาพการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่น่าเป็นห่วง แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นภายใต้ ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า (search for yield) ที่อาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่ต่ำเกินไป (underpricing of risks) รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) และครัวเรือนที่มีแนวโน้มด้อยลง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,173 วันที่ 10 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559