กนง.เก็บกระสุน ยืนดอกเบี้ย0.5% ลากยาวถึงต้นปี65

20 มิ.ย. 2564 | 01:00 น.

กูรูประสานเสียง กนง.รอบ 23 มิ.ย. เก็บกระสุน “มติเอกฉันท์” คงดอกเบี้ย 0.50% ถึงต้นปี 65 เหตุเศรษฐกิจไทยในประเทศ ยังต้องการแรงหนุน จี้เร่งสปีดผลักสินเชื่อฟื้นฟู ช่วยเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินเร็วขึ้น ช่วยพยุงจ้างงาน ช่วยลดภาระหนี้เก่าและคนขาดรายได้ 

การระบาดของโควิด-19 ยังคงกัดกร่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจนถึงตอนนี้ ที่กำลังก้าวสู่ครึ่งหลังของปี 2564 ขณะที่สำนักวิจัยเศรษฐกิจทยอยปรับลดประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) 

โดยมีตัวแปรหลักคือ การเร่งกระจายฉีดวัคซีน ที่จะเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน นักท่องเที่ยว ดังนั้นในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 4 ของปีที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 มิถุนายนนี้ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า บอร์ดกนง.จะมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ต่อปีไปจนถึงต้นปี 2565  

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ttb analytics ธนาคาร ทหารไทยธนชาตเปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สิ่งที่กนง.จับตาเวลานี้คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งขึ้นกับการเร่งฉีดวัคซีนได้มากแค่ไหนและเงินเฟ้อทั่วไปที่เร่งตัวขึ้นทะลุ 2% ในช่วง 2 เดือน(เม.ย.-พ.ค.) ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากฐานตํ่าจากปีที่แล้ว ที่ราคานํ้ามันโลก 25-30 ดอลลาร์/บาเรล ดังนั้นกนง.น่าจะจับตาเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน หลังพ้นจากช่วงฐานตํ่าว่า เงินเฟ้อจะยังคงจะวิ่งหรือไม่ โดยคาดว่า เงินเฟ้อจะปรับลง เพราะดีมานด์ในประเทศยังไม่ฟื้นตัว ดังนั้นกนง.ยังคงดอกเบี้ยถึงสิ้นปีและต้นปีหน้า หรือจนกว่าจะเห็นสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัวจริงๆ 

นอกจากนั้น ธปท.ยังอยู่ระหว่างพิจารณาขยายเวลาการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (เอฟไอดีเอฟ)จาก 0.46% เหลือ 0.23% ถึงสิ้นปี 2564 แต่ถ้าหากอยากให้ธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้กับประชาชน ธปท.อาจต้องหารือการปรับลดอัตราเงินนำส่งลงอีก เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ส่งผ่านอัตราเงินนำส่งที่ลดลงให้กับประชาชนได้เหมือนกับที่ทยอยส่งผ่านลดดอกเบี้ยมาก่อนหน้า

การดำเนินนโยบายหลักขณะนี้้ต้องเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างหนี้ ลดภาระหนี้เก่าเพื่อให้ไปได้ โดยเฉพาะการเร่งผลักดันสินเชื่อฟื้นฟู ซึ่งเป็นตัวหลักที่จะทำให้ภาคธุรกิจมีสภาพคล่อง ส่วนนโยบายดอกเบี้ยเป็นปัจจัยรอง เพราะแม้จะลดดอกเบี้ยลง แต่ก็ลดภาระได้ไม่มาก ขณะเดียวกันในแง่กำลังซื้อและการลงทุนยังแย่ โดยเฉพาะภาคบริการ และสินค้าคงทนที่ยังอ่อนแอ

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของกนง. ยังมีประเด็นภาวะการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก(Search for Yield) เพราะดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับตํ่าเป็นเวลานาน จึงเกิดการกระจายออกไปลงทุนในตลาดต่างๆที่กว้างขึ้น เช่น คริปโทเคอเรนซี บิตคอย และในปัจจุบันมีการออกตราสารหนี้ที่เสนอผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยในอัตราค่อนข้างสูง

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคาร กรุงไทยกล่าวว่า ส่วนตัวมองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศน่าจะเป็นปัจจัยหลักว่า จะผ่อนคลายได้หรือไม่ เพราะตัวเลขประมาณการของธปท.ค่อนข้างตํ่าไม่เกิน 2% และยังไม่เห็นแนวโน้มว่า จะฟื้นตัวได้เร็วขึ้นอย่างไร ขณะที่อัตราเงินเฟ้อไม่มีนํ้าหนักต่อการพิจารณาของกนง.นัก แม้ระยะข้างหน้าอาจจะสูงขึ้นบ้าง แต่เป็นการเร่งตัวจากปัจจัยต่างประเทศคือ ราคานํ้ามัน  

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยกล่าวว่า กนง.น่าจะยังติดตามปัญหาการระบาดของโควิด-19 ที่กระทบต่อการบริโภคครัวเรือน ความเชื่อมั่นในการใช้จ่าย และความเชื่อมั่นที่หายไป ดังนั้นกนง.ยังไม่หว่านแหด้วยการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย แต่น่าจะโฟกัสแก้ไขปัญหาเฉพาะจุดที่ทำอยู่ เช่น อัดฉีดซอฟต์โลนสู่เอสเอ็มอีหรือครัวเรือนที่ขาดรายได้ เป็นมาตรการให้ธนาคารช่วยเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้มากกว่าลดดอกเบี้ยนโยบาย 

อย่างไรก็ตาม ในภาระที่เศรษฐกิจยังเติบโตช้า ไม่ฟื้นตัวชัดเจน แม้ว่า จะมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว แต่ยังขึ้นอยู่ประสิทธิภาพของวัคซีน เพราะเห็นได้จากหลายประเทศที่ฉีดวัคซีนแล้วแต่จำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มขึ้น แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยจึงยังมีความจำเป็นที่ธปท.ต้องพยุงเศรษฐกิจต่อไป รวมถึงการพิจารณาปรับลดเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟู (FIDF) ซึ่งยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ส่วนการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รอบนี้ยังไม่ตัดสินใจเปลี่ยนท่าที โดยไม่ส่งสัญญาณชะลออัดฉีดคิวอี แม้เศรษฐกิจสหรัฐร้อนแรงแต่การลดดอกเบี้ยอาจจะทำได้ยากขึ้น

“ธปท.น่าจะทำมาตร การให้ตรงจุดเพราะที่ทำมาแล้วยังไม่ดีพออยากให้เร่ง
เร็วกว่านี้คือ พยายามดูแลคนที่มีปัญหาอยู่แล้วและขาดสภาพคล่อง ซึ่งเงินก้อนเดิมเปลี่ยนรูปแบบใหม่ยังใช้ไม่เต็มที่ น่าเร่งอัดฉีดให้กับคนที่ต้องการ ส่วนการปรับลดดอกเบี้ยน่าจะทำได้ โดยลดเงินนำส่งเอฟไอดีเอฟให้แบงก์ส่งผ่านถึงผู้บริโภค”นายอมรเทพกล่าว 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,689 วันที่ 20 - 23 มิถุนายน พ.ศ. 2564