ขอคืนพื้นที่ "ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี"

11 มิ.ย. 2564 | 11:55 น.

ชาวนาเดือด ขอทวงคืนพื้นที่ “ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี" จาก "กรมแผนที่ทหาร" ย้ำ เสียดายประวัติศาสตร์ ย้อนรำลึกข้าวไทย ผวาอนาคต ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวหนัก ดัน ราคาพุ่งแพงลิ่ว

ปราโมทย์ เจริญศิลป์

 

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงเหตุผลและความจำเป็นในการเสนอขอให้พิจารณาทบทวนการขอคืนพื้นที่เช่าของศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ พื้นที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานีแห่งนี้ เดิมชื่อว่า “สถานีทดลองข้าวคลองรังสิต” ซึ่งเป็นสถานีทดลองข้าวแห่งแรกของประเทศไทย  ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2459  โดย พระเจ้าพี่ยาเธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (เสนาบดีเกษตราธิการ)

 

โดยมีพระประสงค์ ให้เจ้าหน้าที่ได้ค้นคว้า วิจัยหาวิธีการปรับปรุงพันธุ์ข้าว ดิน ปุ๋ย เครื่องมือ ทำนาและการปราบศัตรูข้าว เพื่อสนองพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะทรงทำนุบำรุงการเพาะปลูกข้าว ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญของประเทศไทย (จากหนังสือ ประวัติกระทรวงเกษตราธิการ โดยนายพลเอกเจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์, 2484)

 

“สถานีทดลองข้าวคลองรังสิต” มีพระยาโภชากร (ตริ มิลินทสูต)  เป็นหัวหน้าสถานี  เป็นคนแรก  และมี ขุนวิเศษกสิตใจ เป็นผู้ช่วย ผลการดำเนินการในอดีตได้มีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวและขยายพันธุ์ดีให้เกษตรกรเป็นจำนวนมาก พันธุ์ข้าวที่มีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วโลก คือ พันธุ์ปิ่นแก้ว ซึ่งชนะเลิศการประกวดเมล็ดพันธุ์พืชทั่วโลกมาแล้ว ข้าวพันธุ์นี้ใช้เวลาในการคัดเลือกเป็นเวลา 12 ปี ณ สถานีทดลองข้าวแห่งนี้

 

“สถานีทดลองข้าวคลองรังสิต” ได้ดำเนินการทดลองและขยายพันธุ์ข้าวตลอดมา พร้อมกับนำเอาข้าวพันธุ์ดีจากสถานีทดลองไปแนะนำให้ชาวนาปลูกแทนข้าวพันธุ์ที่ชาวนาปลูกอยู่เดิม (จากหนังสือประวัติกระทรวงเกษตร 1 เมษายน 2500) ต่อมาในปี 2525 “สถานีทดลองข้าวคลองรังสิต” ได้ยกระดับเป็นศูนย์และเปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี” โดยมีสถานีทดลองข้าว 4 แห่งอยู่ในเครือข่าย อันได้แก่ สถานีทดลองข้าวสุพรรณบุรี คลองหลวง บางเขน และราชบุรี ด้วยอายุและประวัติอันยาวนาน ในปี พ.ศ. 2539 มีการเฉลิมฉลองศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปี

 

โดยจัดให้มีการประชุมวิชาการในระดับนานาชาติ และการแสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และความก้าวหน้าของงานค้นคว้า วิจัยทางด้านข้าวที่มีต่อประเทศและอื่นๆ และในปี พ.ศ.2559 ได้มีการเฉลิมฉลองศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี งานวิจัยข้าวไทย โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงาน และทอดพระเนตรนิทรรศการที่จัดโดยศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี

 

ประกอบด้วย นิทรรศการ 2 มหาราชกับการพัฒนาข้าวไทย (รัชกาลที่ 5 และรัชการที่ 9) นิทรรศการ 100 ปี ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ผลงานดีเด่นด้านต่างๆ และปูชนียบุคคล นิทรรศการเส้นทางประวัติศาสตร์งานวิจัยข้าวไทย ซึ่งนับว่าศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานีมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และมีส่วนพัฒนาและผลักดันให้งานวิจัยด้านการผลิตข้าวของไทยก้าวไกลและเป็นผู้นำด้านการผลิตข้าวของโลก

 

นายปราโมทย์ กล่าวว่า ผลกระทบจากการลดพื้นที่  เดิมเป้าการผลิตเมล็ดพันธุ์ของศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี แบ่งเป็น 1) การผลิตเมล็ดพันธุ์คัด พื้นที่การผลิต 62 ไร่ ประกอบด้วยพันธุ์ ปทุมธานี1 กข31 กข35 กข57 กข63 กข77 กข81 และ  เจ็กเชย เป้าการผลิต 23 ตัน  2) การผลิตเมล็ดพันธุ์หลัก พื้นที่การผลิตประมาณ 266 ไร่ ประกอบด้วยพันธุ์ ปทุมธานี1 กข31 กข35  กข57 กข63 กข77 กข81 และเจ็กเชย เป้าการผลิต 230 ตัน

 

จากแนวเขตที่ได้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เช่าโดยลดปริมาณพื้นที่ ทำให้คงเหลือพื้นที่สำหรับผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีเพียง 118 ไร่ คาดการณ์ผลผลิตคงเหลือหลังจากปรับลดพื้นที่ลงตามสัดส่วน ประมาณ 90 ตัน เพื่อส่งให้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนำไปขยายพันธุ์ต่อและจำหน่ายให้ถึงมือเกษตรกรต่อไป ซึ่งแต่เดิมปริมาณนี้สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้เพียง 5 % ของความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวของเกษตรกรเท่านั้น

 

การปรับลดพื้นที่การผลิตลง จะกระทบต่อเป้าการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่จะส่งต่อให้เกษตรกรอย่างแน่นอน ซึ่งในปัจจุบันได้ใช้ประโยชน์เต็มพื้นที่และจากการที่รัฐบาล มีนโยบายให้เพิ่มปริมาณการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้มากขึ้นเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกรและเหลือเก็บสำรองไว้ ในกรณีฉุกเฉินเมื่อมีภัยธรรมชาติเกิดขึ้น เช่น ข้าวในนาเกษตรกรเสียหายอันเนื่องมาจากอุทกภัย ภัยแล้ง หรือการระบาดของศัตรูข้าว ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้วยังควรต้องขยายพื้นที่ปลูกให้มากกว่านี้ ดังนั้นการปรับลดพื้นที่ลงมีผลกระทบต่อภาคการผลิตข้าวของประเทศอย่างมาก

 

3.4 พื้นที่สำหรับการวิจัย   แปลงวิจัยค้นคว้าด้านปรับปรุงพันธุ์ การปรับปรุงการผลิต การอารักขาพืช  การอนุรักษ์เชื้อพันธุ์ข้าวและวิทยาการหลังเก็บเกี่ยว  เป็นพื้นที่รวมทั้งสิ้น 300 ไร่ ผลกระทบจากการลดพื้นที่  พื้นที่คงเหลือหลังจากการปรับลด ประมาณ 100 ไร่

 

ผลกระทบต่อโครงการวิจัยด้านปรับปรุงพันธุ์ทั้งสิ้น 8 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ข้าวคุณสมบัติเฉพาะ 2. โครงการวิจัยการเปรียบเทียบผลผลิตและประเมินลักษณะทางการเกษตร 3. โครงการ การคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวที่มี High seed vigor และ High seedling vigor  เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวแห้ง 4. โครงการ การคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวที่มีระบบรากที่เหมาะสมกับสภาพน้ำน้อย 5. โครงการ การพัฒนาพันธุ์ข้าวลูกผสมระบบ 3 สายพันธุ์ ต้านทานโรคขอบใบแห้ง


 

6. โครงการ การพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีปริมาณอมิโลสต่ำและปานกลางที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของตลาดและการส่งออก พร้อมด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกและการจัดการธาตุอาหาร 7. โครงการ การยกระดับคุณภาพข้าวและการบริหารจัดการระบบการผลิตข้าวแบบครบวงจรในระดับกลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ 8. โครงการ ยีนควบคุมลักษณะคุณค่าทางอาหารของข้าวเพื่อการพัฒนาข้าวคุณภาพสูงสำหรับ การผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ

 

การดำเนินงานวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์เป็นภารกิจหลักของกรมการข้าว ที่จำเป็นต้องมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวออกมาอย่างต่อเนื่อง มีการดำเนินการทดลองในสภาพแปลงที่ต้องใช้พื้นที่ ทั้งการผสมพันธุ์และคัดเลือกเพื่อให้ได้สายพันธุ์ข้าวที่มีลักษณะดี เป็นที่ต้องการของเกษตรกร การลดพื้นที่ลงยิ่งจะเป็นการเพิ่มข้อจำกัดด้านการพัฒนาพันธุ์ข้าวของประเทศไทย ทำให้ไม่สามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ออกมาเพื่อแข่งขันกับประเทศอื่นได้

 

ผลกระทบต่อโครงการการวิจัยและพัฒนาอนุรักษ์และการศึกษาคุณสมบัติพื้นฐานของทรัพยากรพันธุกรรมข้าว จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ 1. การรวบรวมอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรพันธุกรรมข้าวป่า 2. การอนุรักษ์ฟื้นฟูและประเมินคุณค่าข้าวปลูก

 

“ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี” เป็นที่ตั้งของศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ เป็นธนาคารเชื้อพันธุกรรมข้าวที่มีจำนวนพันธุกรรมข้าวมากกว่า 24,000 ตัวอย่างเชื้อพันธุ์ ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งทรัพยากรและสมบัติของชาติที่สำคัญแห่งหนึ่ง ศูนย์ปฏิบัติการฯ มีภารกิจในการปลูกอนุรักษ์และฟื้นฟูเชื้อพันธุกรรมข้าว วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มปริมาณเมล็ดพันธุ์ และรักษาความมีชีวิตของเมล็ดพันธุ์ข้าว

 

ในแต่ละปีมีการปลูกเพื่อฟื้นฟูเมล็ดพันธุ์ข้าวมากกว่า 1,00 ตัวอย่างเชื้อพันธุ์ ซึ่งงานอนุรักษ์นี้ได้รับผลกระทบจากการลดพื้นที่โดยตรง ทำให้ไม่มีพื้นที่ปลูกข้าวเพื่อฟื้นฟู ขยายและเพิ่มปริมาณเมล็ดพันธุ์ได้เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถให้บริการเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแก่นักวิจัย เกษตรกรและผู้สนใจอื่นๆ ตลอดจนมีความเสี่ยงสูงที่ตัวอย่างเชื้อพันธุกรรมข้าวไทยที่ถือว่าเป็นทรัพยากรของชาติจะสูญหายอันเนื่องมาจากข้อจำกัดเรื่องการปลูกขยาย อนุรักษ์และฟื้นฟู

 

ผลกระทบต่อโครงการวิจัยด้านอารักขาข้าว 2 กิจกรรม ได้แก่ 1. กิจกรรมการทดสอบปฏิกิริยาข้าวสายพันธุ์ดีต่อการเกิดโรคไหม้ข้าว2. กิจกรรมการทดสอบปฏิกิริยาข้าวสายพันธุ์ดีต่อโรคขอบใบแห้งพื้นที่สำหรับงานวิจัยที่ลดลงทำให้ ไม่สามารถดำเนินงานวิจัยและได้ผลงานที่จะช่วยแก้ไขปัญหาด้านโรคและแมลงศัตรูข้าวที่สำคัญให้แก่เกษตรกรได้ทันท่วงที

 

"สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ต้องการคงพื้นที่ทั้งหมด เพื่อประโยชน์แก่ชาวนาทั้งประเทศ มิใช่ให้ท่านบริหารพื่้นที่ ที่เหลืออยู่เพียง 391 ล้านไร่ 37 ตารางวาเท่านั้น แสดงเจตจำนงค์ชัดเจน ให้กรมแผนที่ทหาร พิจารณาใช้พื้นที่อื่นแทนพื้นที่ของศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี"

 

เดชา นุตาลัย

 

สอดคล้องกับนายเดชา นุตาลัย อุปนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย การวิจัยทางด้านวิชาการของศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานีนั้น เป้าหมายการดำเนินการที่วางไว้จะต้องมีการค้นคว้า พัฒนาพันธุ์ข้าวและเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม สำหรับพันธุ์ข้าวเพื่อให้เกษตรกรนำเมล็ดพันธุ์ไปปลูกเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และเตรียมการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว ในการปฏิบัติจริงการวิจัยค่อนข้างประสบความสำเร็จเฉพาะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของเกษตรกรเท่านั้น

 

สาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้งานวิจัยไม่สามารถทำได้กว้างขวางมากนัก ก็เนื่องจากความจำกัดในด้านพื้นที่งานวิจัย ทำให้ต้องมีการปรับระดับการวิจัยให้ลดน้อยลงพอเหมาะสำหรับพื้นที่ ที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัด อนึ่งการวิจัยเพื่อให้ได้มาซึ่งพันธุ์ข้าวและเทคโนโลยีเพื่อเกษตรกรนั้นมีขั้นตอนอยู่มาก ตั้งแต่การวิจัยเพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง ต้านทานโรคแมลง คุณภาพเมล็ดดีเป็นที่ต้องการของตลาด และพันธุ์ข้าวเหล่านี้จำเป็นต้องมีการทดสอบหารายละเอียดจากหลายๆ ด้าน

 

เช่น วิจัยหาเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม การอารักขาพืชและวิทยาการก่อนเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว เพี่อให้ได้ข้อมูลสำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกับการนำข้าวพันธุ์ดีของศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ไปแนะนำให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคกลางนำไปใช้ปลูก ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำภายในพื้นที่นาของศูนย์วิจัยก่อน จึงจะนำเอาเทคโนโลยีทั้งหมดไปทดสอบในสภาพนาเกษตรกร จะเป็นการลดความเสี่ยงของเกษตรกรและลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรด้วย

 

การค้นคว้าวิจัยของศูนย์ฯ ร่วมกับการสร้างพันธุ์ข้าวและค้นคว้าเทคโนโลยีการผลิตเพื่อให้ทันกับเหตุการณ์เฉพาะหน้า ตลอดจนการแก้ไขปัญหาระยะยาว จำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ปัญหาที่สำคัญ คือ การระบาดของโรคและแมลงศัตรูข้าวชนิดใหม่ที่มักนำความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อการผลิตข้าวอยู่เนืองๆ ทำให้ต้องมีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวใหม่ๆ อยู่เสมอ (เอกสารหมายเลข 1) โดยการวิจัยต่างๆ

 

ในปีงบประมาณ 2564 มีอยู่จำนวน 7 แผนงาน 16 แผนงานย่อย 31 โครงการ 123 กิจกกรม งบประมาณรวมทั้งสิ้น 8,772,903 บาท (เอกสารหมายเลข 2) ซึ่งล้วนมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาให้ได้ข้าวพันธุ์ดีทั้งสิ้น การลดพื้นที่ในส่วนนี้จะทำให้งานวิจัยมีประสิทธิภาพลดลงอย่างแน่นอนและอาจไม่ทันต่อเหตุการณ์ อันจะเป็นผลเสียหายต่อเกษตรกรเนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขที่อาจเกิดขึ้น ทั้งจากภัยธรรมชาติและการระบาดของโรคและแมลงศัตรูข้าวได้ทันท่วงที