กทม.พร้อมดีเดย์ลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิดผ่าน"ไทยร่วมใจ กรุงเทพปลอดภัย" 27 พ.ค.นี้

26 พ.ค. 2564 | 03:41 น.

กรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงความพร้อมเปิดช่องทาง"ไทยร่วมใจ" ในการลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด เฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ อายุ 18-59 ปี  เมื่อได้รับการจัดสรรวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุข จะสามารถฉีดได้ทันที ณ จุดฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล 25 แห่งทั่วกทม. เริ่มลงทะเบียน 27 พ.ค.นี้ พร้อมดึงเครือข่ายเอกชน-แบงก์-ค่ายมือถือร่วมเสริมแกร่งโครงการ

ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) 2 ดินแดง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมแถลงข่าววานนี้ (25 พ.ค.) เปิดตัว ระบบลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด 19 "ไทยร่วมใจ กรุงเทพปลอดภัย" เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกโรงพยาบาล 25 แห่ง โดยระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ได้ขยายวงกว้างและมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก กทม.จึงต้องเร่งดำเนินการให้ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยงและในพื้นที่เสี่ยง เพื่อป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ซึ่งกทม.ร่วมกับภาคเอกชนจัดทำโครงการไทยร่วมใจ กรุงเทพปลอดภัย เพื่อกระจายวัคซีนให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงสุด

ความร่วมมือครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ร่วมพัฒนา ระบบ "ไทยร่วมใจ กรุงเทพปลอดภัย" สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้การสนับสนุนฐานข้อมูล สำหรับพัฒนาระบบ หอการค้าไทยสนับสนุนด้านการประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการ และภาคีเครือข่ายในการรับลงทะเบียนจองสิทธิ์ฉีดวัคซีนฯ ผ่านร้านสะดวกซื้อ ประกอบด้วย กลุ่มเซ็นทรัลกรุ๊ป ร่วมให้บริการรับลงทะเบียน ณ ร้าน Family Mart และ Tops Daily บริษัท บิ๊กชี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ณ ร้าน Mini Big C บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมให้บริการ ณ ร้าน 7-eleven

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.

นอกจากนี้ กทม.ยังได้รับความร่วมมือจากค่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทรู ดีแทค และเอไอเอส ผนึกกำลังกันเข้ามาเป็นคอลเซ็นเตอร์เพื่อตอบทุกคำถามที่ประชาชนสงสัย

ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษก กทม. กล่าวเสริมว่า การฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลในพื้นที่ 25 จุดทั่วกรุงเทพฯ จะเปิดลงทะเบียนวันที่ 27 พ.ค. เวลา 12.00 น. ให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ อายุตั้งแต่ 18-59 ปี ที่ไม่ได้เป็น 7 กลุ่มโรคเสี่ยง สามารถลงทะเบียนจองวัคซีนผ่านเว็บไซต์ www.ไทยร่วมใจ.com (อ่านเพิ่มเติม: เปิดวิธีลงทะเบียน"ไทยร่วมใจ" จองฉีดวัคซีนโควิดกทม. เริ่ม 27 พ.ค.นี้ ) โดย การลงทะเบียนแยกเป็น 3 กลุ่ม และจะเริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. ตามแผนของกระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้

  • กลุ่มที่ 1 ได้แก่ กลุ่มที่เคยเข้าร่วมโครงการภาครัฐ โดยมีแอพพลิเคชั่น "เป๋าตัง" จะมีข้อมูลส่วนตัวอยู่ในระบบแล้วจึงไม่ต้องกรอกข้อมูลใหม่สามารถแจ้งความประสงค์รับการฉีดวัคซีนและรอรับ SMS ยืนยันได้รับการจัดสรรวัคซีน แต่หากลบแอพฯ เป๋าตังไปแล้ว ให้ ดำเนินการนัดหมายผ่าน www.ไทยร่วมใจ.com
  • กลุ่มที่ 2 ได้แก่ กลุ่มที่ไม่เคยเข้าร่วมโครงการภาครัฐ สามารถลงทะเบียนบนเว็บไซต์ www.ไทยร่วมใจ.com และรอรับ SMS แจ้งผลการจัดสรรวัคซีน และนัดหมายวัน เวลา สถานที่ฉีดวัคซีน ผ่าน www.ไทยร่วมใจ.com หรือ แอพฯ เป๋าตัง ตามที่ได้ลงทะเบียนไว้
  • กลุ่มที่ 3 ได้แก่ กลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน สามารถให้บุคคลในครอบครัวลงทะเบียนแทนได้ ผ่าน www. ไทยร่วมใจ.com ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่ลงทะเบียน แทน โดยระบบจะส่งเอสเอ็มเอสแจ้งเตือนตามหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ลงทะเบียน หรือ สามารถลงทะเบียนที่ร้านค้าสะดวกซื้อ ที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น แฟมิลีมาร์ท ท็อปเดลี่ และมินิบิ๊กซี ซึ่งเปิดเป็นจุดรับลงทะเบียน ช่วงเวลา 08.30 - 18.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานถึง ที่มาของแนวทางใหม่ของ กทม.ว่า หลังจากภาครัฐรณรงค์ให้ประชาชนออกมาฉีดวัคซีน พบข้อร้องเรียนและเสียงสะท้อนของคนกทม.ถึงปัญหาไม่สามารถลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อมของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนหนึ่งเกิดจากมีข้อกำหนดเฉพาะกลุ่มผู้อายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่ม 7 โรค ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงระบบ ประกอบกับไม่มั่นใจว่าจะได้ฉีดวัคซีนหรือไม่

ด้วยเหตุนี้ กทม.จำเป็นต้องหาช่องทางจัดทำระบบลงทะเบียนของตัวเอง  เพื่อบรรลุเป้าหมาย 5.3 ล้านโดส หรือ 70% ของประชากรรวม 7.5 ล้านคน ภายใน 2 เดือน เชื่อว่าการเปิดระบบใหม่จะทำให้ประชาชนแจ้งความประสงค์รับวัคซีนได้โดยตรง และยังเป็นการเช็คยอดประชาชนที่ต้องการฉีดวัคซีนใน กทม. ทั้งหมด ไม่ว่าที่ปรากฏรายชื่อในทะเบียนราษฎร์หรือประชากรแฝง

นอกจากนี้ จะมีการนำข้อมูลการลงทะเบียนดังกล่าว เสนอต่อที่ประชุม ศบค.และคณะกรรมการ วัคซีน ในการพิจารณาจัดสรรโควตาวัคซีนให้กับ กทม.ด้วย หลังจากที่เริ่มมีปัญหาการกระจายวัคซีนในพื้นที่จังหวัดต่างๆ อย่างไม่เป็นธรรม

แหล่งข่าวจาก กทม.ยังระบุด้วยว่า ที่ผ่านมาผู้ว่าฯ กทม.ได้ประสานสภาหอการค้าไทย เพื่อขยายพื้นที่จุดฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลจากเดิม 14 แห่งขยายเป็น 25 แห่ง เพื่อกระจายพื้นที่ฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ ใน 6 กลุ่มเขตให้มากที่สุด โดยแบ่งกลุ่มการบริหารจัดการช่วยแอปพลิเคชัน หมอพร้อม ซึ่งเป็นช่องทางหลักของลงทะเบียนรับวัคซีน สำหรับกลุ่มเสี่ยงอายุ 60 ปีขึ้นไปและกลุ่มที่มีโรคประจำตัว 7 โรค ส่วนช่องทางที่ กทม.เปิดครั้งนี้เพื่อแยกกลุ่มชัดเจน ในการลงทะเบียนระหว่างอายุ 18-59 ปี เพื่อการฉีดวัคซีนเร็วขึ้น

พันธมิตรเทเลคอมช่วยเสริมประสิทธิภาพระบบ

ด้านนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ  ซึ่งเป็นพันธมิตรสนับสนุนด้านระบบ กล่าวว่า กสทช. อนุมัติเลขหมาย 1516 ให้กรุงเทพมหานคร พร้อมยกเว้นค่าพิจารณาคำขอและค่าธรรมเนียมเลขหมายเพื่อใช้เป็นคอลเซ็นเตอร์สนับสนุนการใช้งานภารกิจเกี่ยวกับการจองฉีดวัคซีนโควิดสำหรับคนกรุงเทพฯ อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการติดต่อสอบถามข้อมูลในการขอรับวัคซีนกับ "ไทยร่วมใจ กรุงเทพปลอดภัย" เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ

โดยคอลเซ็นเตอร์1516 ได้รับความร่วมมือจากค่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทรู เอไอเอส และดีแทคผนึกกำลังกันเข้ามาเป็นคอลเซ็นเตอร์รวม 450 คู่สายเพื่อตอบทุกคำถามที่ประชาชนสงสัย เกี่ยวกับการลงทะเบียนฉีดวัคซีนในครั้งนี้ระหว่างเวลา 08.00 - 20.00 น. ของทุกวัน

ขณะที่ นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวถึงความคืบหน้าว่า มีการเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ สำหรับภารกิจการสร้างภูมิคุ้มกันครั้งนี้ โดยเอไอเอสมีภารกิจ 2 ส่วน คือ เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์และช่วยเหลือลูกค้าให้สามารถเข้าถึงระบบลงทะเบียนออนไลน์เพื่อจองการฉีดวัคซีน โดยเริ่มต้นในส่วนของเอไอเอส คอลเซ็นเตอร์ก่อน และในระยะต่อไปจะขยายไปสู่เอไอเอส ช็อปทั่วกรุงเทพ รวมถึงสนับสนุนเครือข่ายสื่อสารให้แก่คณะทำงาน ประชาชนที่เดินทางมารับบริการ ณ จุดบริการฉีดวัคซีน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง