มาตรการรัฐ หนุนหุ้นไปต่อ

22 พ.ค. 2564 | 22:30 น.

โบรกมองมาตรการเยียวยารัฐรอบใหม่ หนุนกลุ่มค้าปลีก ไฟแนนซ์ และไอที เชื่อคลังกู้เงินเพิ่ม 700,000 ล้านบาท ไม่กระทบหนี้สาธารณะ ชี้ช่วยกระตุ้นเม็ดเงินเศรษฐกิจระยะสั้น

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศ ที่ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทรงตัวระดับสูง แม้จะไม่มีการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศเหมือนการระบาดในรอบแรกในช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา แต่ความกังวลของประชาชนจากการพบคลัสเตอร์ใหม่ๆเพิ่มขึ้นและกระจายในหลายพื้นที่ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังเดินหน้าได้ไม่เต็มที่นัก แม้ว่ารัฐบาลจะเริ่มผ่อนคลายในกิจกรรม เช่น อนุญาตให้นั่งทานอาหารในร้านได้ แต่ต้องเป็นโต๊ะคน 1 คนเท่านั้น แต่ยังคงต้องพึ่งพามาตรการกระตุ้นให้ออกมาจับจ่ายใช้สอย และมาตรการเยียวยาของรัฐบาล ที่จะช่วยให้ประชาชนกล้าออกมาใช้เงินในยามที่วิกฤติเช่นนี้

ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายใต้กรอบวงเงิน 245,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบผ่านโครงการต่างๆ ทั้งโครงการเก่า-ใหม่ คือ โครงการคนละครึ่ง เฟส 3, เราชนะ, ม.33 เรารักกัน, บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่3, เพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ, ยิ่งใช้ ยิ่งได้, มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ลดค่าไฟฟ้า และลดค่านํ้าประปา,  มาตรการสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 และมาตรการพักหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFls)

มาตรการรัฐ หนุนหุ้นไปต่อ

ขณะเดียวกันครม.เมื่อวันที่ 18 พ.ค.ยังเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้รัฐบาลออกร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 พ.ศ. ... (พ.ร.ก.เงินกู้) วงเงินไม่เกิน 7 แสนล้านบาท หลังจากที่การระบาดของโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ประเทศยังคงมีความต้องการใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ประกอบกับข้อจำกัดของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพื่อการเยียวยา ฟื้นฟู และปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ รวมถึงข้อจำกัดของพ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เกี่ยวกับกรอบเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือเมื่อรายจ่ายสูงกว่ารายได้ไม่เพียงพอ

นายชาญชัย พันทาธนากิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์(บล.)เอเชีย พลัส จำกัดเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเสนอให้ ครม.พิจารณาถึงการออก พ.ร.ก.เงินกู้เพิ่มเติม 700,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ แก้ไขปัญหาโควิด-19, เยียวยาประชาชน และฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นระดับที่ยังไม่ทำให้อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปรับขึ้นไปแตะ 60% เพราะหากพิจารณาหนี้สาธารณะ ปัจจุบันเดือนมีนาคม 2564 อยู่ที่ 8.47 ล้านล้านบาท หรือ 54.28% ของจีดีพี แต่กรอบเพดานกำหนดไว้ไม่เกิน 60% ของจีดีพี หรือประมาณ 9.37 ล้านล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม มองว่า ยังสามารถกู้เงินเพิ่มได้อีกประมาณ 893,000 ล้านบาท ถึงจะทำให้หนี้สาธารณะชนกรอบเพดาน และหากหนี้สาธารณะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเกินเพดานจริง ภาครัฐอาจพิจารณาขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มเติมอีกได้ ทั้งนี้ หาก พ.ร.ก.เงินกู้เพิ่มเติม 700,000 ล้านบาท ผ่านการอนุมัติ จะส่งผลให้ในปี 2565 รัฐบาลจะมีงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มจาก 89,000 ล้านบาทเป็น 789,000 ล้านบาท ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ และเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทย โดยหุ้นที่ได้ประโยชน์จากมาตรการเยียวยา คือ กลุ่มค้าปลีก และกลุ่มการเงิน

ขณะเดียวกัน มาตรการจากรัฐบาลที่ออกมา ยังหนุนการปรับขึ้นกับตลาดหุ้น ทั้งวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่รัฐตั้งเป้าเป็นวาระแห่งชาติ และการผ่อนคลายกิจกรรมเศรษฐกิจ หลังจากเริ่มเปิดให้นั่งกินข้าวที่ร้านอาหาร 1 คนต่อโต๊ะ สัดส่วน 25% ของกำลังให้บริการ เชื่อว่าหากในอนาคตผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มลดลง ประกอบกับการเร่งฉีดวัคซีนที่เป็นไปตามแผน และการผ่อนคลายกิจกรรมเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นปรับขึ้นในอนาคต

ด้านบล.เคทีบีเอสที (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า หุ้นที่จะได้รับผลกระทบทั้งทางบวกและลบจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ คือ กลุ่มค้าปลีกจะได้ประโยชน์จากโครงการให้เงินกับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 ส่วนโครงการคนละครึ่ง, เราชนะ และ ม.33 เรารักกัน ส่งผลกระทบทางลบต่อกลุ่มค้าปลีก เนื่องจากบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ไม่ได้เข้าร่วมโครงการเหล่านี้ ขณะที่ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ จะเป็นผลบวกต่อกลุ่มผู้จำหน่ายสินค้า ICT

ด้านบล.ไทยพาณิชย์ จำกัด ระบุว่า กระทรวงการคลังเตรียมออก พ.ร.ก.เงินกู้เพิ่ม 700,000 ล้านบาท เนื่องจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ฉบับเดิมวงเงินเหลือเพียง 16,500 ล้านบาท และคาดจะช่วยหนุนจีดีพีปี 2564 เพิ่มอีก 1.5% นั้น มองเป็นปัจจัยหนุนช่วงสั้นที่จะช่วยให้มีเม็ดเงินเยียวยาเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งนี้ มองตลาดหุ้นไทยยังมีความเสี่ยงทางลงจากปัจจัยกดดันทั้งภายในและภายนอก รวมถึงยังไร้ปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุน แนะนำให้ระมัดระวังหุ้นที่ถูกเก็งกำไรในช่วงก่อนหน้า โดยเฉพาะหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และให้เลือกลงทุนในหุ้นปลอดภัย เน้นกระชับพอร์ต 

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,681 วันที่ 23 - 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2564