‘พฤกษา’ Go On ไตรมาสแรก ยอดขายโต 14%

19 พ.ค. 2564 | 07:32 น.

คอลัมน์ : ผ่ามุมคิด

การประกาศผลประกอบการงวด 3 เดือนแรก เดือน ม.ค.- มี.ค. ปี 2564 ของบิ๊กอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ที่คว้ารายได้รวม อยู่ที่ 6,888 ล้านบาท แม้ติดลบ แต่ระบุ ว่าเป็นตัวเลขที่สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 7% และมีกำไรสุทธิราว 606 ล้านบาท อีกทั้ง ยังสามารถ ทำยอดขายได้ 6,940  ล้านบาท เติบโตถึง 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ดูเหมือนจะเป็นการเทิร์นอะราวด์ทางตัวเลขที่มีทิศทางดีขึ้นมาก สำหรับบริษัทที่เคยตระหนกกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 และตัดสินใจชะลอการเปิดโครงการใหม่เป็นจำนวนมากในช่วงปีที่ผ่านมา 

โดยล่าสุดคีย์แมนคนสำคัญ “นายปิยะ ประยงค์” แสดงความมั่นใจว่าแม้ ขณะนี้ตลาดที่อยู่อาศัยไทยปีนี้ ยังเผชิญกับปัญหากำลังซื้อระดับล่าง ตกต่ำ แต่ตลาดมีโอกาสเติบโตได้ราว 5% เช่นเดียวกับเป้าหมายรายได้ ที่ยังยึดมั่นจะเป็นไปตามเป้า 3.2 หมื่นล้านบาท เตรียมขับเคลื่อนโปรเจ็กต์ฮีโร่ บ้านระดับกลางค่อนบน รับกลุ่มกำลังซื้อแข็ง ควบคู่ กับกลยุทธ์การบริหารต้นทุนในทุกรูปแบบ ตีแตกทุกแพลตฟอร์มการขาย รับปีทองของผู้บริโภค  

3 เดือนแรกทรงดี 

สำหรับภาพรวมตลาดอสังหาฯ ไตรมาสแรก ของ กทม.-ปริมณฑล มีมูลค่ารวม 73,921 ล้านบาท เติบโตขึ้น 32% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นการบวกขึ้นในทุกกลุ่มโปรดักส์ บ้าน คอนโด และทาวน์เฮ้าส์ ขณะการโอนกรรมสิทธิ์นั้น ยอด 2 เดือนแรก  (ม.ค.-ก.พ.) บวกเล็กน้อย 2% อยู่ที่ 49,179 ล้านบาท พบตลาดที่ขับเคลื่อน และเป็นบวกเพียงตลาดเดียวคือ บ้านเดี่ยว เพิ่มขึ้น 29% เป็นสัดส่วนการโอน กว่า 17,000 ล้านบาท 

ด้านสต๊อกคงค้างของตลาด ณ ไตรมาสแรก อยู่ที่ 214,148 ใกล้เคียงปีก่อนหน้า สำหรับพฤกษานั้น ได้ส่วนแบ่งการตลาดกลับคืนมา จากยอดขายที่ทำได้ 6,456 ล้านบาท เป็นสัดส่วนราว 8.7% จากก่อนหน้า หล่นไปอยู่ที่ 7.6% เป็นครั้งแรก โดยเป็นการบวกขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 14% และเพิ่มขึ้นถึง 20% จากไตรมาส 4 ปี 2563 ทั้งนี้ ยอมรับว่า เป็นผลการจากใช้กลยุทธ์ลดสินค้าคงเหลือลงอย่างต่อเนื่อง

 “ไตรมาสแรกปี 64 เป็นไตรมาสที่มียอดขายดีที่สุดในช่วงโควิด มาจากตั้งแต่กลยุทธ์ เคลียร์สต๊อก โปรโมชั่นแรง (พฤกษาคุ้ม-พฤกษาจบทุกดีล), การมั่นใจกลับมาลุยเปิดโครงการใหม่ จำนวน 5 โครงการ ซึ่งมีอัตราดูดซับดี และการสร้างคุณค่าให้กับสินค้า เช่น สิทธิพิเศษต่างๆ จากธุรกิจในเครือ ทำให้ผลงานดีขึ้น” 

มั่นใจตามเป้า 

ปี 2564 นั้น บริษัทยังคงตามแผนดำเนินงานที่ประกาศไว้ คือ เปิดใหม่ 29 โครงการ เพื่อช่วยผลักดันทางด้านยอดขาย หลังจากขณะนี้สต๊อกคงเหลือลดลงไปมาก จาก 23,392 ล้านไปในช่วงไตรมาสแรกปี 2563 เหลือปัจจุบัน 11,731 ล้านบาทเท่านั้น โดยการเปิดโครงการใหม่ที่รอบคอบมากขึ้น จะส่งผลให้มีจำนวนโครงการที่เปิดขายทั้งหมดลดลงอย่างเหมาะสม รวมทั่วประเทศอยู่ที่  144 โครงการ โดยมั่นใจว่าทั้งปียังทำได้ตามเป้าหมายรายได้ 3.2 หมื่นล้านบาท เนื่องจาก สังเกตเพียงเมษายนเดือนเดียวนั้น บริษัทสามารถทำยอดขายได้มากถึง 2 พันล้านบาท ส่งผลยอดขายรวมที่ทำได้ ณ ขณะนี้ เกินกว่า 7 พันล้านบาทแล้ว ต่างจากโควิดปีที่แล้ว ที่ช่วงไตรมาส 2 เป็นจุดต่ำสุดในด้านยอดขาย แต่ปีนี้่ ยอดไม่ตก 

ขณะเดียวกัน พบว่า การค้นหาบ้านพฤกษาในออนไลน์โตรวม 20% คาด มาจากคนกักตัวอยู่บ้าน มีความจำเป็นในการหาที่อยู่อาศัยใหม่เพิ่มขึ้น กลายเป็นเทรนด์ลูกค้ายุคใหม่ ที่ใช้ดิจิทัลเยอะขึ้น และศึกษาโครงการอย่าง ละเอียด เช่นเดียวกับความต้องการดีไซน์ ซึ่งของบริษัทมีการผนวกเรื่องสุขภาพ ทั้งโปรดักต์และบริการเข้าไปเสริม ทำให้ได้รับความสนใจ ส่วนลูกค้าวอคอิน 80-90% ต้องการสินค้าพร้อมอยู่ เช่น คอนโดฯ ฉะนั้นรายใดไม่มีของในมือ เท่ากับเสียโอกาส 

ทางรอดอสังหาฯ 64
 
นายปิยะ ทิ้งท้าย คาดการณ์ถึงทิศทางอสังหาฯปีนี้ ว่า ปัญหาใหญ่ คือ กำลังซื้อ และทิศทางเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว ทำให้ลูกค้ากลุ่มใหญ่ไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ มากสุดคือกลุ่มต่ำกว่า 2 ล้านบาท หรือผู้ซื้อช่วงรายได้ หมื่นกว่าบาทต่อเดือน ซึ่งกำลังซื้อผันแปรตามจีดีพี ขณะลูกค้ากลุ่มบน พบว่าหยุดการซื้อ โดยกลุ่มลูกค้าที่สำคัญ คือ กลุ่มรายได้ 3 หมื่น - 1 แสนบาท เติบโตค่อนข้างดี โดยเฉพาะกลุ่มรายได้มากกว่า 5 หมื่นบาทขึ้นไปนั้น ยอดเติบโตขึ้นมา 20% สินค้าขายดี แบ่งเป็น ทาวน์เฮ้าราคา 2-3 ล้านบาท ,บ้านเดี่ยว 5-15 ล้านบาท ของบริษัทโตเกือบ 60% และคอนโดพร้อมอยู่ราคา 2-5 ล้านบาท

โดยคาดอสังหาฯปีนี้ อาจเติบโตได้ราว 5% ภายใต้สมมุติฐานจีดีพีประมาณ 2-3% โดยขึ้นอยู่กับ วัคซีนโควิดที่ฉีด เพราะไตรมาสแรกยอดขายโต 30% และคาดหลังจากโควิดจบ เปิดประเทศทัน ผ่านนโยบายชักชวนต่างชาติรายได้ดีๆเข้ามา ก็น่าจะในการฟื้นตัวของตลาดได้อย่างมาก 

 “ปีที่แล้ว ตลาดลงสู่จุดต่ำสุดแล้ว พฤกษาเองระมัดระวัง และมีบทเรียน โดยเพียง 3 เดือนแรกของปีนี้ ฟื้นตัวดีขึ้นมาก ฉะนั้นแผน Go On โดยอาศัยการปรับมาร์เก็ตติ้งมากขึ้น ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลังน่าจะดีขึ้น จากแผนการฉีดวัคซีน เรามีโรงพยาบาลเป็นของตัวเอง ศูนย์สุขภาพในโครงการ จะเป็นความแตกต่างที่ช่วยเสริมความน่าสนใจของพฤกษานับจากนี้”  

ทั้งนี้ กลยุทธ์สำคัญในปี 2564  คือ การบริหารจัดการสินทรัพย์, การสร้างคุณค่าในโครงการ และการผนวกธุรกิจด้านสุขภาพ จากการเปิดอย่างเป็นทางการของโรงพยาบาลในเครือ “รพ.วิมุต” 


หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41  ฉบับที่ 3,680 วันที่ 20 - 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง