พิษโควิด ฉุดตลาด‘แอร์’ซึม ปรับแผนชูฟีเจอร์สุขภาพ

03 พ.ค. 2564 | 03:05 น.

ตลาดแอร์ 3 หมื่นล้านลุ้นหนัก “พิษโควิดระลอก 3-ฝนหลงฤดู” ฉุดลูกค้าชะลอซื้อ ผู้เล่นหันปรับเกม แข่งชูฟีเจอร์สุขภาพต้านไวรัส ฆ่าโควิด จัดหนักแผนการตลาดกระตุ้นยอดขาย ลุ้นทั้งปีให้เติบโตได้ 10%

 

การแพร่ระบาดอย่างหนักของโควิด-19 ระลอก 3 ส่งผลกระทบทำให้สภาพเศรษฐกิจการลงทุน การขยายตัวของอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อตลาดเครื่องปรับอากาศ ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่อานิสงส์จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดซึ่งเป็นปัจจัยบวกที่จะผลักดันให้ตลาดมีการเติบโต ก็ต้องเผชิญกับความผันผวนของสภาพอากาศที่มีฝนตกต่อเนื่องตลอดเดือนเมษายน เดือนที่ได้ชื่อว่าร้อนที่สุด และเป็นช่วงเวลาขายที่สำคัญที่สุด

นายเผดิมศักดิ์ รัตนเรืองศักดิ์ ผู้อำนวยการ ธุรกิจเครื่องปรับอากาศ บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จํากัดผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศ “ซัมซุง” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมตลาดเครื่องปรับอากาศในปีนี้จะมีแนวโน้มเติบโตอยู่ที่ประมาณ 5-10% อย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ในช่วงที่จัดว่าเป็นไฮซีซั่นของตลาดเครื่องปรับอากาศส่งผลกระทบต่อกลไกตลาดโดยรวมบ้าง โดยเฉพาะการติดตั้งทำได้ยากขึ้น ทั้งจากการเว้นระยะห่างทางสังคมและฝนตกผิดฤดู ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนพิจารณาชะลอการซื้อออกไปก่อน

ตลาดแอร์เมืองไทย

ประเด็นที่ยังคงต้องติดตามคือ ผู้เล่นในตลาดที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้การแข่งขันทางการตลาดสูงตามไปด้วย และภัยที่มากับอากาศ ไม่ว่าจะเป็น PM2.5 หรือเชื้อโรค ที่เพิ่มสูงขึ้นในหลายปีมานี้ ทำให้ผู้บริโภคกังวลเรื่องสุขภาพและมองหาตัวช่วยเพิ่มอากาศบริสุทธิ์มากขึ้น เป็นโอกาสสำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศที่ต้องพัฒนาและนำเสนอฟีเจอร์ที่แก้ปัญหาให้กับผู้บริโภค

ในส่วนของเครื่องปรับอากาศซัมซุงในไตรมาสแรกมีการเติบโตขึ้น 25% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากกลยุทธ์แบรนด์พรีเซนเตอร์ เข้ามากระตุ้นการรับรู้และความสนใจของผู้บริโภคในวงกว้าง รวมทั้งการออกผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้ในด้านสุขภาพ อาทิเช่นระบบฟอกอากาศได้ถึง PM 1.0 ช่วยดักจับฝุ่นและเชื้อไวรัส ดีต่อทุกคนในบ้านโดยเฉพาะต่อกลุ่มเสี่ยงอย่างเด็กเล็กและผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังนำเสนอฟีเจอร์ด้านสุขภาพอื่นๆ ควบคู่กันไปอย่างเทคโนโลยี WindFree ให้ความเย็นสบายโดยไม่มีลมเย็นปะทะให้รู้สึกไม่สบายตัว เป็นต้น

“ปีนี้ ซัมซุงมีแผนอัดงบการตลาดเป็น 2 เท่า เพื่อขยายฐานลูกค้าไปยังคนรุ่นใหม่ที่มีความใส่ใจเรื่องสุขภาพ มีการทำแคมเปญโฆษณาในช่องทาง Above the line และดิจิทัล เพื่อเพิ่มการจดจำแบรนด์ รวมไปถึงการเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ในทุกไลน์อัพ ทุกเรนจ์ ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มตลาด โดยเน้นฟีเจอร์สุขภาพในรุ่นท็อป เพื่อเจาะตลาดครอบครัวเกิดใหม่ในเซกเมนต์พรีเมียม ซึ่งยังคงมีกำลังซื้อ โดยตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าพรีเมียมให้โตขึ้น 3 เท่า เพื่อขึ้นเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งในตลาดแอร์เพื่อสุขภาพ”

ด้านนาย อำนาจ สิงหจันทร์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศ “แอลจี” กล่าวว่า สถานการณ์ของการเกิดโรคระบาดในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดเทรนด์ในการใช้ชีวิตแบบใหม่ๆ และผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้น ทั้งการทำงานที่บ้าน เรียนออนไลน์ ทำอาหาร ออกกำลังกาย พักผ่อน และเสพความบันเทิงต่างๆ

แอลจีจึงพัฒนานวัตกรรมเครื่องปรับอากาศภายในบ้านเพื่อตอบรับกับไลฟ์สไตล์ใหม่และความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นการปกป้องสุขภาพของสมาชิกภายในครอบครัวจากการแพร่กระจายของเชื้อโรค เชื้อไวรัส และฝุ่นละอองภายในอากาศ โดยไลน์อัพเครื่องปรับอากาศภายในบ้านที่จะออกสู่ตลาดหลังจากนี้จะมุ่งตอบโจทย์ความต้องการของทุกเซ็กเมนต์อย่างครอบคลุม

ขณะที่นายอาคิฮิสะ​ โยโคยามา​ ​ผู้จัดการใหญ่​ บริษัท สยามไดกิ้นเซลส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศ ไดกิ้น กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ทำให้ผู้บริโภคต้องใช้ชีวิตแบบ New Normal และมองหาผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ด้านสุขภาพมากขึ้น

กลยุทธ์ของไดกิ้นจึงให้ความสำคัญในการคิดค้นและพัฒนาระบบปรับอากาศ โดยมีเป้าหมายปรับทุกอากาศให้สมบูรณ์แบบ (Perfecting the Air) เพื่อมอบอากาศที่ดีและบริสุทธิ์ให้แก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะนวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์ด้านสุขภาพหรือเทคโนโลยีสตรีมเมอร์ (Streamer) ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะของไดกิ้น ที่สามารถช่วยยับยั้งหรือกำจัดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และราที่อยู่ภายในเครื่องปรับอากาศ ได้ 75-99.96% เพื่อตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภคภายใต้การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่

 

เช่นเดียวกับพานาโซนิค เอ.พี.เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศพานาโซนิค ประเมินว่าผลจากสถานการณ์การระบาดส่งผลให้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลงประกอบกับหน้าร้อนเป็นช่วงหน้าขายสำคัญส่งผลให้ภาวะการแข่งขันรุนแรงขึ้นโดยฟังก์ชั่นเกี่ยวกับสุขภาพและคุณภาพอากาศ เป็นส่วนสำคัญที่ผู้บริโภคใช้ในการตัดสินใจซื้อ โดยพานาโซนิคมีแผนนำเสนอเครื่องปรับอากาศที่มีเทคโนโลยีนาโนอีเอ็กซ์ที่สามารถยับยั้งเชื้อโรคโควิด-19 และระบบฟอกอากาศออกสู่ตลาด ในขณะเดียวกันจะเน้นการตลาดออนไลน์ที่เข้มข้นกว่าเดิมผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กอินฟลูเอนเซอร์ นอกจากนี้พานาโซนิคยังมุ่งเจาะตลาดธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะคอนโดเพื่อขยายฐานลูกค้าในภาวะที่เศรษฐกิจและกำลังซื้อผู้บริโภคยังน่าเป็นห่วง

ขณะที่บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค กันยงวัฒนา จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ก็มองว่า การแพร่ระบาดต่อเนื่องของโควิด 19 ทำให้ผู้บริโภค มีความต้องการเครื่องปรับอากาศที่มีฟังก์ชั่นอำนวยความสะดวกกรองอากาศ และประหยัดพลังงาน ซึ่งมิตซูบิชิมีแผนปล่อยตัวไลน์อัพสินค้าปี 2564 ทั้งส่วนเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และพัดลมที่มีฟังก์ชั่นปิด-เปิดอัตโนมัติเมื่อไม่มี-มีคนในห้อง และมีแผ่นกรองฝุ่น PM 2.5 รวมทั้งมุ่งเน้นช่องทางการขายผ่านอีคอมเมิร์ซเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคอีกด้วย

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,675 วันที่ 2 - 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564