“อธิบดีผู้พิพากษา”ฟ้อง“สุภา”กรรมการป.ป.ช.ฐานหมิ่นศาล

19 เม.ย. 2564 | 06:24 น.

“อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ ภาค 1” ฟ้อง “สุภา ปิยะจิตติ”กรรมการป.ป.ช.ฐานหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี โทษจำคุกสูงสุด 7 ปี ชี้เป็นจุดเสื่อมองค์กรอิสระ พบถูกฟ้องมากกว่า 10 คดี

วันนี้ (19 เม.ย.64) ที่ศาลจังหวัดสระบุรี นายปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีอาญา นางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  ในข้อหาดูหมิ่นศาล หรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี 
ในคำฟ้องระบุว่า 

ในขณะเกิดเหตุคดีนี้ โจทก์ดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและ ประพฤติมิชอบภาค 1 มีอำนาจหน้าที่ในการนั่งพิจารณาและพิพากษาคดีหรือทำความเห็นแย้งในคดี รวมทั้งให้ คำแนะนำแก่ผู้พิพากษาในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ในข้อขัดข้องเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา จัดวางระเบียบและการดำเนินการส่วนธุรการของศาล และมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี 

ในขณะเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และจำเลยยังอยู่ในฐานะจำเลยที่ 2 คดีของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 หมายเลขดำที่ อท.84/2563 ระหว่างนายประหยัด พวงจำปา โจทก์ พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ที่ 1 , นางสาวสุภา ปิ ยะจิตติ ที่ 2 , นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ ที่ 3 จำเลย 

นอกจากนี้จำเลยยังอยู่ในฐานะจำเลยในคดีของศาลอาญา คดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 หมายเลขดำที่ อท.64/2563 ระหว่างนายประหยัด พวงจำปา โจทก์ นางสาว สุภา ปิยะจิตติ จำเลย 

วันที่ 23 มีนาคม 2564 เวลากลางวัน จำเลยบังอาจกระทำความผิดต่อกฎหมายอาญา โดยจำเลยจัดทำและยื่นคำร้องขอโอนสำนวนคดีของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ในคดีหมายเลข ดำที่ อท.84/2563 ระหว่าง นายประหยัด พวงจำปา โจทก์ พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ที่ 1 นางสาว สุภา ปิยะจิตติ ที่ 2 นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ ที่ 3 จำเลย ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 

โดยมีข้อความอันเป็นการดูหมิ่น ดูถูก เหยียดหยามโจทก์ซึ่งเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีดังกล่าว ทำให้โจทก์ ได้รับความอับอาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ทั้งยังเป็นการลดคุณค่าและทำลายการใช้ความเด็ดขาด ในการรักษาความยุติธรรมของศาล และทำลายชื่อเสียงของศาล หรือผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่ในการพิจารณา โดยดูหมิ่นโจทก์ว่า โจทก์แทรกแซงการพิจารณาคดี และเป็นเรื่องที่ไม่เป็นการปฏิบัติตามปกติในกระบวนพิจารณา หากให้มีการพิจารณาคดีต่อไปในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 นั้น จำเลยอาจไม่รับความยุติธรรม

โจทก์ซึ่งเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนในการพิจารณาพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อท.85/2563 นั้น มีประสบการณ์ในการพิจารณาพิพากษาคดีอื่น ๆ มาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี เคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษา หัวหน้าศาลจังหวัดนครสวรรค์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีภาษี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์ภาค 3 และปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบภาค 1 และเคยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ให้เป็นอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม 

จึงตระหนักดีว่าการทำหน้าที่ผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมนั้น ต้องมีความเป็นอิสระ ในการพิจารณาพิพากษาคดี ทั้งผู้พิพากษาและผู้บริหารในศาลต่าง ๆ ต้องให้ความเป็นธรรมแก่คู่ความทุกฝ่าย รวมทั้งประชาชน ตลอดจนผู้พิพากษา และข้าราชการศาลยุติธรรมผู้ใต้บังคับบัญชาในศาลด้วยความเมตตาเอื้อเฟื้อ เพื่อให้การบริหารคดี และการบริหารงานต่าง ๆ ในศาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย 

 

การปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 และผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดี หมายเลขดำที่ อท.84/2563 ดังกล่าวเป็นการดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ทุกประการ เพื่อประสาทความยุติธรรมให้กับคู่ความทุกฝ่ายในคดีรวมทั้งจำเลยด้วย ซึ่งโจทก์ต้องมีความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีโดยปราศจากการก้าวก่ายหรือแทรกแซงโดยบุคคล หรือองค์กรใด รวมทั้งผู้บริหารในศาลยุติธรรมด้วยเช่นกัน 

มิฉะนั้นแล้วผู้พิพากษาที่พิจารณาพิพากษาคดีจะเกิดความหวั่นไหวจากการปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีอันจะเกิดผลกระทบต่อความยุติธรรม และประชาชนทั่วไป รวมทั้งกระทบต่อความมั่นคง ของประเทศชาติ เมื่อศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใดแล้ว หากคู่ความฝ่ายใดรวมทั้งจำเลยเห็นว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งหรือคำพิพากษาตามกฎหมายต่อไปได้ โดยคู่ความและประชาชนต้องให้ความเคารพศรัทธาการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรมอันเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนได้อย่างแท้จริง 

การกระทำของจำเลยในการยื่นคำร้องขอโอนคดี โดยระบุข้อความต่าง ๆ ดังกล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนั้น เป็นการดูหมิ่นโจทก์และ/หรือศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดี และเป็นการใส่ความด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ว่ามีการแทรกแซงการพิจารณาคดีโดยโจทก์และเป็นเรื่องที่ไม่เป็นการปฏิบัติตามปกติในกระบวนพิจารณา หากให้มีการพิจารณาคดีต่อไปในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 จำเลยอาจไม่ได้ รับความยุติธรรมนั้นเป็นการทำลายความเชื่อถือ และความเด็ดขาดในการใช้อำนาจรัฐในการรักษาความยุติธรรรมของศาล รวมทั้งเป็นการลดคุณค่าและทำลายชื่อเสียงของโจทก์ ซึ่งเป็นผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดี 

ทั้งที่ความจริงโจทก์ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด และกระทำการไปเพื่อประสาทความยุติธรรมแก่ผู้มีอรรถคดีด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเที่ยงธรรม ถูกต้องตามกฎหมายและนิติประเพณี โดยยึดมั่นในความเป็นอิสระของ ผู้พิพากษาแต่ละท่าน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดฐานดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี และเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานผู้ซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ 

การกระทำความผิดฐานดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 7 ปี
 

ด้านแหล่งข่าวเปิดเผยว่า กรณี้ถือเป็นคดีแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้พิพากษาระดับอธิบดียื่นฟ้องป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระในกระบวนการยุติธรรม และ นับเป็นคดีแรกในประวัติศาสตร์ที่ผู้พิพากษาระดับอธิบดียื่นฟ้องจำเลยในคดี

แหล่งข่าวระบุด้วยว่า นางสาวสุภา จำเลยในคดียื่นคำร้องขอโอนคดีในวันที่ 23 มีนาคม 2564 หลังจากนั้นเพียง 2 วัน สำนักงานศาลยุติธรรมได้มีคำสั่งลับที่ 333/2564 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2564  แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณี อธิบดีถูกร้องเรียนกล่าวหาว่าเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการพิจารณา อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของคู่ความคดีหมายเลขดำ ที่อท.84/2563 (แต่งตั้งด้วยความรวดเร็ว)

คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้รายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยมีความเห็นว่า อธิบดีมีพฤติการณ์เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการพิจารณาพิพากษาคดีของข้าราชการตุลาการ(พิจารณาด้วยความรวดเร็ว)

สิ่งที่แปลกประหลาดและพิสดาร คือ อธิบดียังไม่เคยรับรู้รับทราบข้อกล่าวหาจากคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และยังไม่ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงกับคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเลย ตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 70 ในการสอบสวน คณะกรรมการสอบสวนต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหา ให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ และต้องให้สิทธิแก่ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงและนำสืบแก้ข้อกล่าวหา ให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลา 30 วันนับแต่ได้รับแต่งตั้ง  

แหล่งข่าวระบุอีกว่า กรณีของอธิบดีมีการรีบเร่งพิจารณาเพียง 2-3 วันโดยที่เจ้าตัวยังไม่ได้รับทราบข้อกล่าวหาและชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ทั้งนี้เพื่อต้องการเปลี่ยนตัวอธิบดีและไม่ต้องการให้มีการสืบพยานสำคัญในคดี อท.84/2563 ในวันที่ 5 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง ซึ่งในวันดังกล่าวฝ่ายโจทก์ในคดีมีพยานสำคัญซึ่งเป็นพยานหมายมาเบิกความ คือ นายวิชา มหาคุณ และนายอรรถพล ใหญ่สว่าง ซึ่งในวันดังกล่าวพยานทั้ง 2 ท่านได้เดินทางไปศาลพร้อมเบิกความแล้ว 

ฝ่ายจำเลยพยายามทุกวิถีทางในการประวิงคดี ซึ่งในวันดังกล่าวจำเลยกับพวกได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เพื่อให้ศาลส่งสำนวนให้ประธานศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในเรื่องอำนาจการพิจารณาคดีของศาล ทั้งที่คดีนี้นับแต่วันฟ้องคดีจนถึงวันนัดไต่สวนมูลฟ้องเป็นระยะเวลากว่า 6 เดือนจำเลยไม่เคยโต้แย้งในประเด็นเขตอำนาจศาลเลย แต่มาโต้แย้งในวันไต่สวนมูลฟ้อง ทำให้ศาลต้องเลื่อนการพิจารณาคดี ซึ่งเป็นการจงใจประวิงคดีของจำเลยกับพวก และบ่ายวันนั้นเอง ประธานศาลฎีกามีคำสั่งให้โจทก์ ไปช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1

“กรณีเด้งฟ้าผ่าอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 แบบฟ้าถล่มดินสะเทือนทั้งๆ ที่ยังไม่ได้มีการเริ่มสอบสวนอธิบดี ไม่น่าเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมไทยจะมาถึงยุคนี้ได้ ที่สำคัญสาเหตุมาจากจำเลยในคดีสามารถใช้อิทธิพลแทรกแซงศาล ใช้คอนเนกชั่นเด้งผู้พิพากษาระดับอธิบดีได้   อาจมีการร่วมมือกันทำทุกอย่างเพื่อให้ตนเองและพวกพ้องพ้นผิดโดยไม่สนความถูกต้อง กรณีดังกล่าวถือว่าองค์กรอิสระแทรกแซงฝ่ายตุลาการหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ขนาดศาลสถิตยุติธรรมยังเอาตัวไม่รอดแล้วประชาชนตาดำๆอย่างเราจะอยู่อย่างไร ภายใต้กฎหมายไทย ป.ป.ช.อยู่เหนือทุกกฎหมาย และใช้อำนาจทำลายความน่าเชื่อถือ และความเด็ดขาด ความอิสระ ความยุติธรรม ของศาลสถิตยุติธรรม”  

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นางสาวสุภา ปิยะจิตติ ถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ไม่ต่ำกว่า 10 คดี ทุกคดีมีการประวิงคดี และไม่ให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความราบรื่น

“ต้องไปถามเจ้าตัวว่าไปทำอะไรกับใครเขาไว้ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างไรจึงถูกฟ้องคดีมากถึงเพียงนี้ ควรจะหยุดทำงานแล้วเอาเวลาไปขึ้นศาลเพื่อแก้คดีให้ตนเองพ้นผิด หรือพ้นมลทินเสียก่อนจะดีกว่า ก่อนที่จะไปชี้มูลความผิดใคร” แหล่งข่าวกล่าวทิ้งท้าย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: