ประเมินขุมกำลังชนชาติพันธุ์เมียนมา

12 เม.ย. 2564 | 08:26 น.

ประเมินขุมกำลังชนชาติพันธุ์เมียนมา : คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

มีเพื่อนแฟนคลับได้เขียนมาถามว่า “มีความเป็นไปได้มั้ย ถ้าชนชาติพันธุ์ถืออาวุธออกมาทำการต่อต้านรัฐบาลเมียนมา เพื่อนช่วย CDM ปลดปล่อยประเทศเมียนมา” ที่จริงคำถามนี้เป็นคำถามที่แรงมาก เพราะหากตอบไปไม่ว่าจะเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้  ล้วนมีความสุ่มเสี่ยงที่จะมีทัวร์มาลงผมทั้งสองทาง และหากมีผลแพ้ชนะออกมาทางฝ่ายไหน ล้วนแล้วแต่จะเกิดผลร้ายต่อผมได้ทั้งสองทางเช่นกัน ถ้ามองในแง่ร้าย เผลอๆผมจะเข้าประเทศไม่ได้ด้วยซ้ำ ต้องบอกว่าแฟนคลับท่านนี้ใจร้ายจัง แต่ไหนๆก็ไหนๆ เดี๋ยวผมจะวิเคราะห์ตามความเชื่อของผมนะครับ อย่าได้ถือเอาเป็นสาระเด็ดขาด จะผิดจะถูกก็ถือว่าอ่านเล่นๆ สนุกๆก็แล้วกันนะครับ

เรามาดูกองกำลังชนชาติพันธุ์ที่ได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลประเทศเมียนมาชุดปัจจุบันในวันนี้กันก่อนนะครับ ว่ามีกลุ่มไหนบ้าง ต้องบอกว่าที่เห็นในข่าวว่ามีอยู่ไม่กี่กลุ่ม เช่นกลุ่มกระเหรี่ยง กลุ่มกระฉิ่น กลุ่มรัฐฉาน กลุ่มอาระกันติดอาวุธ ส่วนแต่ละกลุ่มที่กล่าวมาทั้งหมด ยังแยกแตกออกเป็นกลุ่มเล็กๆน้อยๆอีกหลายกลุ่มด้วยกัน เอาเป็นว่า เพื่อความปลอดภัยของตัวผมเอง จะได้สามารถเดินทางเข้าประเทศเมียนมาได้ โดยไม่ต้องเสียวสันหลัง ขอวิเคราะห์เป็นกลุ่มใหญ่ๆก็แล้วกันนะครับ จะได้ไม่เฉพาะเจาะจงจนเกินไปครับ

ถ้าจะมาดูขุมกำลังของกลุ่มที่แสดงตนออกมาปกป้องประชาชน หรือมองอีกนัยยะหนึ่ง คือกลุ่มที่ต่อต้านการคุมอำนาจรัฐบาล(SAC) ที่มีขุมกำลังที่ใหญ่พอจะต่อกรกับทหารรัฐบาลได้นั้น สามารถจำแนกออกมาเป็นกลุ่มๆดังต่อไปนี้คือ 1,กลุ่มกองกำลังรัฐฉานใต้ หรือ RCSS/SSA ที่มีเจ้ายอดศึกเป็นผู้บัญชาการใหญ่ กลุ่มนี้เราคนไทยรู้จักกันดีครับ คงไม่ต้องสาธยายกันมาก 2,กลุ่มกองกำลังเอกราชรัฐกระฉิ่น (KIO/KIA) กลุ่มนี้ที่เพิ่งจะมีข่าวการบุกเข้าไปโจมตีที่ตั้งของทหารรัฐบาล เมื่อหลังจากวันกองทัพเมียนมา

หรือไม่กี่วันมานี้เองนั่นแหละครับ 3, กองกำลังรัฐฉานเหนือ (SSPP/SSA) กลุ่มนี้จะไม่ค่อยลงลอยกับกลุ่ม RCSS/SSA เท่าไหร่นัก เขารบกันเป็นประจำที่มีโอกาสเผชิญหน้ากัน เราจะเห็นข่าวอยู่เป็นประจำนั่นแหละครับ 4, กลุ่มกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกระเหรี่ยง (KNU/KNLA) กลุ่มนี้เราคนไทยจะรู้จักกันดี เพราะมีฐานที่มั่นอยู่แถบชายแดนติดกับจังหวัดตากหลายอำเภอ ล่าสุดที่เป็นข่าวกับทหารเมียนมาเรื่องถูกโจมตีทางอากาศนั่นแหละครับ กองกำลังที่มีชื่อเสียงด้านการรบหลายกองพัน คงไม่ต้องอธิบายสรรพคุณมากเช่นกัน  5,กลุ่มกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติตะอ่าง (PSLF/TNLA) กลุ่มนี้จะอยู่ที่รัฐฉาน เป็นกลุ่มที่ไม่ใหญ่มากนัก แต่ก็มีขุมกำลังพอที่จะแสดงแสนยนุภาพในการเรียกร้องความสนใจได้พอควรทีเดียวครับ ซึ่งในช่วงนี้จะมีข่าวในการร่วมมือกับคณะทำงานกระบวนการเพื่อสันติภาพ Peace Process Steering Team (PPST) 6,กลุ่มกองกำลังกระเหรี่ยงบำเพ็ญประโยชน์แด่ประชาธิปไตย (KKO/DKBA) หรือที่คนไทยรู้จักในนามกองกำลังกระเหรี่ยงพุทธ ที่มีท่านนายพล มูเซ เป็นผู้บัญชาการสูงสุด นายทหารที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งคือพท.เพียว ลิน หรืออีกชื่อหนึ่งที่รู้จักกันดีในนาม ผู้พัน เอ-วัน พื้นที่ประจำของท่านอยู่ที่พระยาตงซู (พระยาแปลว่าวัดหรือเจดีย์ ตงแปลว่าสาม ซู แปลว่าองค์) ที่คนไทยรู้จักกันในนามด่านเจดีย์สามองค์ และชายแดนเขตจังหวัดกาญจนบุรียาวไปถึงตอนใต้ของจังหวัดตากเลยทีเดียวครับ ล่าสุดที่ข่าวออกมาได้รับกันทั่วไป คือข่าวที่ถูกทหารเมียนมาส่งเครื่องบินมาถล่มนั่นแหละครับ 7, กลุ่มกองกำลังอาระกัน (AA) กองกำลังนี้คนไทยน่าจะรู้จักกันดีจากกลุ่มอิสลามโรฮินญ่า ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นกลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่แสดงตนค่อนข้างจะชัดเจน ว่าจะอยู่เคียงข้างประชาชน โดยเรียงลำดับจากใหญ่มาหาเล็ก

ยังมีอีกหลายกลุ่มที่ไม่ได้แสดงตนว่าจะเลือกข้างไหน แต่มีขุมกำลังที่ยิ่งใหญ่และแข็งแกร่งมาก เช่น กลุ่มกองกำลังสหรัฐว้า (UWSP/UWSA) กองกำลังโกกั้ง กองกำลังปฎิวัติโซมิ (ZRO/ZRA) กองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติมอญ(NMSP/MNLA) กองกำลังคะเรนนี่ (KNPP) กองกำลังกระเหรี่ยงสันติภาพ (KPC) และแนวร่วมชิน (CNF) เป็นต้น กลุ่มกองกำลังเหล่านี้เท่าที่ทราบ ยังไม่ได้แสดงตนว่าจะเข้าข้างฝ่ายไหน ดังนั้นผมจึงไม่ต้องอธิบายมากครับ

ส่วนกำลังด้านยุทธโธปกรณ์ที่กองกำลังที่แสดงตนแล้วเหล่านี้มีอยู่ เราเองไม่สามารถจะอธิบายได้ว่าได้มาจากไหน(แฮ่...) แต่ที่แน่ๆ เขามีอาวุธที่อยู่ในมือนั่นก็เพียงพอที่จะสามารถสั่นคลอนหรือสร้างความกังวลให้แก่รัฐบาลใหม่ของเมียนมาได้พอควรที่เดียว ส่วนที่จะสามารถสู้กับทหารของรัฐบาลเมียนมาได้หรือไม่นั้น เราไม่ขอวิเคราะห์นะครับ เพียงแต่พูดได้อย่างเดียวว่า อาวุธที่มีอยู่นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นอาวุธขนาดเบา ไม่ใช่อาวุธหนักเหมือนกองกำลังของรัฐบาล ดังนั้นก็คงจะใช้ยุทธวิธี “จรยุทธ์” เท่านั้น ถ้าชนกันซึ่งๆหน้าแบบจะๆ ก็คงจะลำบากมิใช่น้อยนะครับ

ด้วยความเป็นจริงแล้ว เราทราบกันดีว่า กลุ่มกองกำลังเหล่านี้ก็ได้ออกมาสู้รบปรบมือกับกองทัพแห่งชาติของประเทศเมียนมามาช้านาน ซึ่งก็เพื่อเรียกร้องอิสรภาพ แต่ก็ไม่ค่อยจะเป็นผลเลย จนกระทั้งต้นปี 2000 เป็นต้นมา รัฐบาลของประเทศเมียนมา มีนโยบายที่จะสร้างความสงบสุขและสันติภาพให้เกิดขึ้นในประเทศ จึงได้มีการรวบรวมเอากองกำลังหลายกลุ่ม ให้มาวางอาวุธแล้วมาพูดคุยกัน โดยสร้างเป็นคณะทำงานกระบวนการเพื่อสันติภาพ Peace Process Steering Team (PPST)  ที่เราทราบกันดี และมีการจัดการประชุมขึ้นในนาม “การประชุมสนธิสัญญาปางหลวง” ดังนั้นหากกองกำลังชาติพันธุ์เหล่านี้ จะใช้โอกาสนี้ในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น บทสรุปจะเป็นอย่างไร เราคงไม่ต้องวิเคราะห์ให้ลึกมากเลยครับ  เพราะ “เราจะไม่แทรกแซงกิจ การภายในในกลุ่มสมาชิกประเทศอาเชี่ยนด้วยกัน” นั่นเป็นกฏบัตรอาเชี่ยนครับ